เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยการตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีประจำปี 2552 ดังนี้
รัฐบาล : ใครเข้มแข็ง?
สืบเนื่องจาก รัฐบาลประกาศแผนพลิกฟื้นประเทศไทยให้พ้นจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจและการเมือง ผ่านแผนปฏิบัติการ “ไทยเข้มแข็ง” เพื่อลงทุนยกเครื่องประเทศครั้งใหญ่ ภายใต้พ.ร.บ. และพ.ร.ก. เงินกู้รวม 8 แสนล้านบาท เมื่อโครงการนี้ไปสู่การปฏิบัติมีเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งเรื่องผลประโยชน์ของพรรคร่วมรัฐบาล ความไม่โปร่งใส จนเกิดคำถามว่าการสร้างหนี้เพื่อฟื้นประเทศไทยทำให้ใครเข้มแข็งระหว่างประชาชน หรือนักการเมือง ?
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี : หล่อหลักลอย
เนื่องจากเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีภาพลักษณ์ดี หน้าตาดี การศึกษาดี จึงมีแม่ยกเป็นจำนวนมาก มักประกาศจุดยืนและหลักการด้านประชาธิปไตย โดยเฉพาะเมื่อรับตำแหน่งได้ประกาศกฎเหล็ก 9 ข้อให้ ครม. มีความรับผิดชอบทางการเมืองมากกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย แต่เมื่อรัฐมนตรีบางคนมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย หรือมีปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใส กลับไม่ได้แสดงความรับผิดชอบทางการเมือง นั่นเท่ากับไม่สามารถกำกับให้กฎเหล็กมีผลใช้บังคับได้ หลักที่เคยประกาศไว้จึงเหมือนคำพูดที่เลื่อนลอย ไม่เป็นไปตามหลักการที่วางไว้
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี : แม่นม อมทุกข์
ซึ่งแม้ไม่ใช่เป็นผู้ให้กำเนิดทางการเมืองแก่นายอภิสิทธิ์โดยตรง แต่ก็คอยดูแล อุ้มชู และสนับสนุนในทางการเมืองทุกอย่าง ถึงขั้นประกาศว่าความใฝ่ฝันทางการเมืองสูงสุดคือการผลักดันให้นายอภิสิทธิ์ได้เป็นนายกฯ แต่เมื่อสานฝันได้สำเร็จ นายอภิสิทธิ์กลับสร้างปัญหาหนักอกให้นายสุเทพตามล้างตามเช็ด อาทิ การแก้รัฐธรรมนูญ การแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ทำให้ผู้จัดการรัฐบาลถูกพรรคประชาธิปัตย์วิจารณ์อย่างหนักว่าตีตัวออกห่าง มัวแต่เอาใจพรรคร่วมรัฐบาล จนเจ้าต้องอยู่ในอาการอมทุกข์
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี : ช่างจัดฉาก
ในฐานะเป็นคนสนิทของนายกฯ กำกับดูแลสื่อของรัฐ มักเปรียบเปรยว่าตัวเองเป็น “อิมเมจ เมเกอร์” พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อสร้างภาพลักษณ์ด้านบวกให้รัฐบาล เป็นจอมจัดการ เช่น การจัดคิวให้นายกฯ และครม. ลงพื้นที่ จัดฉากให้ครม. ออกทีวีวิทยุ จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาล ทว่าเสียงสะท้อนกลับติดลบเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะโครงการ “ไทยสามัคคี ไทยเข้มแข็ง” ที่ให้ทุกจังหวัดเกณฑ์คนมาร้องเพลงชาติ แต่ถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องงบประมาณ เสมือนช่างที่พยายามจัดฉากให้ดูดี แต่ไม่มีเนื้องานเป็นรูปธรรม