"โสภณ"มั่นใจมีคนรู้เห็นการรื้อสัญญาขึ้นค่าทางด่วนโทลล์เวย์ เมื่อปี 50 ลั่นกำลังคุ้ยหาหลักฐานต่อสู้ยกเลิกการแก้สัญญา ปลัดคมนาคม เตรียมสืบร่องรอยการซื้อหุ้นจากวอ ปธ.คกก.ทางยกระดับดอนเมืองปัดสมยอม นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม กรณีบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน)
ขึ้นค่าผ่านทางโครงการดอนเมืองโทลล์เวย์อีกประเภทละ 30 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการปรับแก้ไขสัญญาเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2550 รวมทั้งมีการแก้ไขสัญญาเมื่อปี 2539 ทั้ง 2 ครั้งมีการขยายอายุสัมปทานเพิ่มขึ้นและมีการอนุมัติให้ขยายฐานในการปรับราคาสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้กำลังให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีนายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ไปดูว่าเหตุผลที่มีการขยายอายุและปรับราคาค่าผ่านทางนั้นมีเหตุผลเหมาะสมหรือไม่ และจะมีการชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 29 ธันวาคมนี้
นายโสภณกล่าวถึงเรื่องที่บริษัท วอเตอร์บาวด์ ที่เคยถือหุ้นในบริษัท ดอนเมืองโทลล์เวย์ ฟ้องร้องกรมทางหลวงนั้น จะมีผลต่อข้อ 6 ในบันทึกการแก้ไขสัญญาเมื่อปี 2550
ที่ระบุต้องยุติคดีความต่างๆ ที่มีการฟ้องร้องระหว่างกันทั้งหมดเมื่อมีการต่ออายุสัมปทานและอนุมัติการปรับขึ้นราคาหรือไม่นั้น จะต้องรอคนกลางหรือศาลเป็นผู้วินิจฉัย รวมทั้งต้องตรวจสอบว่าการขายหุ้นดอนเมืองโทลล์เวย์ของบริษัทวอเตอร์บาวด์นั้น มีใครรู้เห็นเป็นใจร่วมกันหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวมั่นใจว่าการแก้ไขสัญญาในปี 2550 อาจมีการรู้เห็นเป็นใจที่ทำให้บริษัทวอเตอร์บาวด์มีการขายหุ้นไปก่อน ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลหลักฐานว่ามีใครสมยอมหรือเกี่ยวข้องในเรื่องนี้บ้าง หากพิสูจน์และพบว่ามีการสมยอม ก็จะนำไปสู่การต่อสู้เพื่อยกเลิกการแก้ไขสัญญาฉบับนี้ได้
"โครงการนี้มีการแก้ไขสัญญาโดยขยายสัมปทานและปรับเพิ่มราคาสูงขึ้นมาก ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนที่ผมจะเข้ามารับผิดชอบ รู้สึกเสียใจที่หลายฝ่ายมองว่ากระทรวงคมนาคมได้ประโยชน์ รวมทั้งพาดพิงว่ามีการเพิกเฉยละเลย ไม่ทำหน้าที่ จึงจำเป็นต้องออกมาชี้แจง ทั้งที่หลายประเด็นเป็นข้อพิพาททางกฎหมายทำให้ไม่อยากจะพูดอะไรมาก หากจะให้ไปขอร้องเอกชนว่าไม่ให้ปรับค่าผ่านทางตามสัญญาแล้วโยนภาระให้ประชาชนและรัฐบาลในอนาคตเหมือนที่เกิดขึ้นในวันนี้ ผมคงไม่ทำ แต่ต้องการแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้เป็นภาระในอนาคตได้อีก" นายโสภณกล่าว
โสภณทำเข้มคุ้ยหลักฐานปัญหาขึ้นค่าโทลล์เวย์
รมว.คมนาคมกล่าวว่า ในการทำงานช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ถูกตั้งคำถามว่าไม่ได้แก้ไขปัญหาอะไรในเรื่องนี้
ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมมีสัญญากับเอกชนจำนวนมาก คงไปดูในรายละเอียดทั้งหมดไม่ได้ เมื่อเกิดเหตุขึ้นก็ต้องลงไปตรวจสอบเพื่อหาข้อเท็จจริง ส่วนใครได้ประโยชน์จากครั้งนี้ หรือมีใครไปสมยอม กับบริษัทรายใด เป็นเรื่องในรายละเอียดที่จะต้องลงไปตรวจสอบ
ขณะที่นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จะเร่งเรื่องนี้เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนภายในวันที่ 30 ธันวาคมนี้
โดยขณะนี้มีข้อมูลว่าบริษัท วอเตอร์บาวด์ ที่ฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐในปี 2548 นั้น พบว่าปี 2549 วอเตอร์บาวด์ได้ขายหุ้นคืนบริษัท ดอนเมืองโทลล์เวย์ ซึ่งรับซื้อคืนในราคาที่สูงเกินกว่าราคาที่ควรจะเป็น ขณะที่วอเตอร์บาวด์ยังไม่ถอนฟ้องรัฐบาลไทย "จะใช้ข้อมูลส่วนนี้เป็นหลักฐานในการยืนยันและตรวจสอบว่ามีการรู้เห็นเพื่อหลีกเลี่ยงที่มีผลต่อการแก้ไขสัญญาเมื่อปี 2550 รวมทั้งมีการตัดสาระสำคัญ (ต้องยกเลิกข้อเรียกร้อง และพิพาททั้งหมด) ที่สำนักงานอัยการสูงสุดตั้งข้อสังเกตออกร่างสัญญาฉบับแก้ไข 2550 ด้วย" นายสุพจน์กล่าว
ทางด้านนายสมบัติ พานิชชีวะ ประธานคณะกรรมการบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง กล่าวยืนยันว่า ไม่ได้มีส่วนร่วมหรือสมยอมกับบริษัทวอเตอร์บาวด์
แต่ยอมรับว่าช่วงปลายปี 2549 ได้เจรจาซื้อหุ้นคืนจากวอเตอร์บาวด์ในสัดส่วน 9% ในนามส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับผู้ถือหุ้นบริษัท เพื่อต้องการยุติปัญหาการฟ้องร้อง โดยมีข้อตกลงว่าวอเตอร์บาวด์ต้องถอนฟ้องด้วย อย่างไรก็ตาม เพิ่งทราบเมื่อช่วงกลางปีนี้ว่าวอเตอร์บาวด์ไม่ได้ดำเนินการถอนฟ้องตามข้อตกลง จึงได้ดำเนินการฟ้องร้องวอเตอร์บาวด์แล้ว
"ผมยืนยันได้ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับบริษัทวอเตอร์บาวด์ แต่ต้องการยุติปัญหา จึงยอมซื้อหุ้นในราคาสูงกว่าราคาทางบัญชี แต่แล้วบริษัทวอเตอร์บาวด์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ผมเสียหายเพราะซื้อหุ้นแพงก็ต้องฟ้อง ตอนนี้อยู่ขั้นตอนอยู่ในชั้นศาลที่ประทับรับฟ้องและไต่สวนเอกสารไปแล้ว" นายสมบัติกล่าว
นายสมบัติกล่าวว่า ที่ผ่านมาในฐานะผู้รับสัมปทานไม่เคยคิดจะฟ้องร้องรัฐบาลอยู่แล้ว ได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ข้อยุติข้อขัดแย้ง ส่วนที่มีการตั้งข้อสงสัยว่ามีการขยายอายุสัมปทานและมีการปรับโครงสร้างค่าผ่านทางนั้น เรื่องนี้มีคำอธิบายได้ทั้งหมด
สำหรับโครงการดอนเมืองโทลเวย์มีการทำสัญญาเมื่อปี 2532 อายุสัมปทาน 25 ปี สิ้นสุดในปี 2557 โดยเอกชนเริ่มจัดเก็บรายได้ในปี 2537 ค่าโดยสารอยู่ระหว่าง 20-30 บาท ต่อมาปี 2539 มีการแก้ไขสัญญาโดยขยายสัมปทานเพิ่มอีก 7 ปี จากปี 2539-2664 และมีการขยายฐานค่าผ่านทาง ช่วงดินแดง-ดอนเมือง 20-80 บาท ช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน 15-35 บาท ถัดมาปี 2550 (12 กันยายน 2550) มีการแก้ไขสัญญาโดยขยายสัมปทานเพิ่มอีก 13 ปี และขยายฐานค่าผ่านทาง ช่วงดินแดง-ดอนเมือง จาก 20-100 บาท ช่วงดอนเมือง- อนุสรณ์สถาน 15-45 บาท