มีชัยเคลียร์ สวัสดิ์-จารุวรรณ กินเกาเหลา

"แถลงข่าวปฏิเสธ"


ภายหลังจากที่ คปค.แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจ สอบตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 23 ทันทีที่ประชุมนัดแรกก็มีข่าวความขัดแย้งในการทำงานเกิดขึ้น ระหว่างนายสวัสดิ์ โชติพานิช กับคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อย่างไร ก็ตาม ทั้งนายสวัสดิ์และคุณหญิงจารุวรรณก็รีบออกมาแถลงข่าวปฏิเสธข่าวดังกล่าว

สวัสดิ์ ปัดงัดข้อ จารุวรรณ

เมื่อวานนี้ (28 ก.ย.) เวลา 10.00 น. นายสวัสดิ์ โชติพานิช ประธานคณะกรรมการตรวจสอบตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 23 ให้สัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์ถึงปัญหาการขัดแย้งกับคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่า ไม่มีความขัดแย้งอะไร เป็นเพียงความเห็นต่างกัน การประชุมก็ต้องมีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย แต่ทุกอย่างก็ยุติได้ ไม่มีว่าทำงานกันไม่ได้ ส่วนการประชุมเมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมานั้น เป็นการทำความเข้าใจในประกาศของ คปค. ฉบับที่ 23 และบางจุดมีปัญหา แต่ภาพรวมไม่มีปัญหา

ผมแค่อยากทำความเข้าใจที่ขอเรียกดูเรื่องต่างๆนั้น เพราะขณะนี้ไม่มีข้อมูลอะไรเลยที่จะทำงาน ยิ่งในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการต้องรับผิดชอบมากกว่าคณะกรรมการท่านอื่นๆ จึงต้องขอทราบเรื่องและข้อมูลทั้งหมดซึ่งมีความจำเป็น แต่เมื่อไม่รายงาน ก็ไม่เป็นไร เรื่องมันมีอยู่เท่านี้จริงๆ คณะกรรมการคนอื่นๆ เขาไม่ได้ นั่งทำงานที่นี่ เพราะเขามีตำแหน่งประจำที่อื่น แต่ผมต้องมานั่งทำงานที่นี่ทุกวัน ต้องรับผิดชอบเพราะถูกแต่งตั้ง อีกทั้งหากจำได้เมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา ท่านเป็นคนพูดเองว่าจะนำเรื่องต่างๆเข้าในที่ประชุม เพื่อชี้แจงให้ คณะกรรมการฯพิจารณาเพื่อทราบ

อึดอัด สตง.ไม่ส่งผลตรวจสอบ

นายสวัสดิ์กล่าวว่า ส่วนที่มีข่าวว่าต้องการทราบข้อมูลทั้งหมดที่ สตง.ดำเนินการ แต่คุณหญิงจารุวรรณไม่เห็นด้วยนั้น ก็มีส่วนถูก เพราะต้องทำงานให้เสร็จภายในตามกำหนด 1 ปี เวลาผ่านไปเร็วมาก สังคมคาดหวังจากคุณหญิงจารุวรรณมาก แต่เนื่องจากตอนนี้ตนยังไม่มีแม้ แต่หัวกระดาษของหน่วยงานหรือข้อมูลแม้แต่ตัวเดียวแล้วจะให้พิจารณาอะไร ก็ต้องขอทราบข้อมูลทั้งจากของ ป.ป.ช.และ สตง.มาพิจารณา โดย 2 หน่วยงานนี้ควรแจ้งให้ทราบในที่ประชุม ไม่อย่างนั้นจะให้ตนทำอะไร ส่วนความตั้งใจในวันแรกที่ระบุว่าจะตั้งหน่วยรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตในโครงการต่างๆ แยกออกต่างหากจาก สตง. แต่เมื่อมติที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรยื่นเรื่องต่างๆเข้าตรงที่ สตง.เลย ก็ไม่ขัดข้อง แต่อยากบอกว่างานด้านสารบรรณเป็นงานที่สำคัญ อย่าดูถูก หรือมองข้าม เพราะงานด้านนี้เป็นการรับเรื่องราวต้นเรื่องหรือต้นน้ำ ที่จะลงเลขรับเรื่องต่างๆ ไว้เป็นหลักฐานที่สามารถ ยืนยันได้ เพื่อนำไปเชื่อมโยงกับพยานที่ได้มาในภายหลัง

ลั่นต้องเปิดช่องให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจง

ผมผ่านงานด้านนี้มาเยอะ การจะตั้งข้อกล่าวหาใครไม่ว่าเรื่องใดๆ ก็ตาม ก่อนสรุปความเห็นเราต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจง ฟังเหตุและผลเพื่อพิจารณากลั่นกรอง จะสรุปด้านเดียวไม่ได้ นี่คือหลักความเป็นธรรมที่ยึดถือมาตลอด เป็นหลักเดียวที่ศาลใช้ เมื่อ พยานหลักฐานข้อมูลต่างๆ ผ่านการพิจารณาร่วมของคณะกรรมการชุดใหญ่ก่อนแล้วค่อยชี้มูลความผิด ไม่ใช่เป็นการชี้มูลความผิดจาก สตง. เพราะนั่นเป็นสายงานการปฏิบัติของ สตง. ผมถามกลับว่าหากคุณถูกตั้งข้อกล่าวหา โดยไม่มีโอกาสชี้แจง คุณยอมหรือไม่ เมื่อเรื่องไปถึงชั้นศาลจะเป็นอย่างไร อย่าให้ผมพูด ผมผ่านงานด้านนี้มาตลอดชีวิต เรื่องนี้ก็ค่อยๆดูไป ผมมาอยู่ในตำแหน่งนี้มาแต่ตัว ก็จะพยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบฯกล่าว

วอน คปค.เพิ่มอำนาจฟันคนขี้ฉ้อ


นายสวัสดิ์กล่าวว่า ส่วนกรณีในที่ประชุมมีมติเปลี่ยนชื่อจาก คตส.มาเป็นคณะกรรมการตรวจสอบตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 23 นั้น ที่ประชุมหลังจากได้ทำความเข้าใจเรื่องกรอบและขอบเขตอำนาจแล้วนั้น ได้มีกรรมการท่านหนึ่งระบุว่าคณะกรรมการชุดอื่นที่ตั้งโดย คปค.ใช้ชื่อว่าคณะกรรมการตรวจสอบตามประกาศ คปค.เช่นกัน ดังนั้น จึงมีมติเห็นควรใช้ชื่อคณะกรรมการตรวจสอบตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 23 เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ส่วนขอบเขตอำนาจในการตรวจสอบในเมื่อคำสั่ง คปค.กำหนดมาให้ตรวจสอบแค่โครงการต่างๆ โดยมิได้เอ่ยให้อำนาจในการตรวจสอบพฤติกรรมส่วนตัว เราก็ทำอะไรไม่ได้ต้องให้ คปค.ให้อำนาจมาก่อน เพราะคำสั่ง คปค.เปรียบเหมือนเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ได้เลย อำนาจอยู่ที่ คปค.

ไม่สนถูกวิจารณ์รู้จัก สมชาย

เมื่อถามว่ามีหลายฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า จะเข้ามาเอื้อประโยชน์ให้กับบางกลุ่มนั้น นายสวัสดิ์ตอบว่ายังไม่ได้ทำอะไรเลยเรื่องต่างๆก็ยังไม่ทราบ ไม่มีใครรายงานความคืบหน้า แล้วจะมากล่าวหาอย่างนี้ได้อย่างไร เมื่อถามต่อว่ามีหลายฝ่ายระบุว่ามีความสัมพันธ์กับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม นายสวัสดิ์ตอบว่า แล้วจะให้ทำอย่างไร เพราะอยู่ในแวดวงศาลด้วยกันเช่นเดียวกับผู้พิพากษาทุกคน และนายสมชายเป็นถึงอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรมแล้วจะไม่ให้รู้จักกันได้อย่างไร ส่วนใครจะวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร ก็ปล่อยให้พูดกันไป ไม่ขอตอบโต้

สวัสดิ์-จารุวรรณ แถลงปัดขัดแย้ง

วันเดียวกัน ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความเคลื่อนไหวของคณะกรรมการตรวจสอบตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 23 ว่า ปรากฏว่าหลังจากที่เป็นข่าวคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการ สตง. เดินทางมาถึงสำนักงานตั้งแต่ช่วงเช้า โดยหลบขึ้นห้องทำงานทางบันไดหลัง และปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ใดๆ ขณะที่นายสวัสดิ์ โชติพานิช ประธานคณะกรรมการตรวจสอบตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 23 มาถึงที่ทำงานในเวลา 13.30 น.

ต่อมาเวลา 15.00 น. นายสวัสดิ์พร้อมด้วยคุณหญิงจารุวรรณได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในระหว่างการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 23 โดยนายสวัสดิ์กล่าวว่า การประชุมเมื่อวันที่ 27 ก.ย. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นที่มีประโยชน์ ความขัดแย้งกันก็มีเกิดขึ้นบ้างเป็นธรรมดา แต่ตามที่สื่อเสนอข่าวว่ามีการลุกขึ้นตบโต๊ะพร้อมกับบอกว่าไม่สามารถทำงานร่วมกันได้แล้ว ยืนยันว่าไม่มีการทะเลาะเหมือนที่สื่อนำเสนอข่าว ไม่มีอะไรทั้งสิ้น และในท้ายที่สุดก็ได้ข้อสรุปกัน มีการวางกรอบการทำงานร่วมกัน โดยทุกฝ่ายเข้าใจ ในการประชุมได้นำประกาศ คปค.ฉบับที่ 23 มาพิจารณาร่วมกับคณะทำงานว่าจะสามารถดำเนินงานในการตรวจสอบทรัพย์สินได้มากแค่ไหน

เผย มีชัย โทร.ไกล่เกลี่ย

ด้านคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการ สตง. กล่าวว่า คปค.มีเจตจำนงให้เกิดความถูกต้องในบ้านเมือง เพราะฉะนั้น เราต้องเดินตามนั้น นายสวัสดิ์จึงขอให้ที่ประชุมได้เข้าใจกรอบการทำงานให้เหมือนกัน ดูแล้วคำสั่งอาจจะแคบไป แต่ล่าสุดก่อนที่จะแถลงข่าวครั้งนี้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภา ได้โทรศัพท์มาถึงตนแจ้งว่า หากคณะกรรมการชุดนี้คิดว่าส่วนไหนที่กรรมการทำงานไม่ได้ก็ให้แจ้งให้ทราบ และยินดีที่จะปรับปรุงแก้ไข เพราะฉะนั้นเจตนารมณ์คือต้องการทำงานให้เต็มที่ ตนผูกพันกับนักกฎหมายมานาน คิดว่าเรื่องนี้ไม่ได้สาหัสสากรรจ์จนทำงานไม่ได้ นายมีชัยก็บอกว่าถ้าทำงานไม่ได้ก็ให้แจ้งไป ตนจึงได้เชิญนายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีต ส.ว.กทม. ที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย มา ช่วยพิจารณา และให้ช่วยศึกษาและกรองบางเรื่องที่ สตง. ได้ตรวจสอบเสร็จแล้วและยังไม่แน่ใจ ในฐานะที่นายเสรี เป็นผู้รู้ทางกฎหมาย โดยส่วนตัวไม่อยากให้การประชุมเป็นแค่อาทิตย์ละครั้ง แต่อยากให้ประชุมถี่กว่านี้

แจงละเอียดเรื่องที่ประชุม

ส่วนเรื่องที่นายสวัสดิ์ อยากรู้ทั้งหมดว่า สตง. ทำอะไรไปและเหลืออะไร เราเห็นว่าการให้รวมทุกเรื่องอาจกลายเป็นประเด็นในวันหน้าได้ว่าไม่เป็นทุกเรื่อง บางเรื่องก็มีการส่งไปที่ ป.ป.ช.แล้ว เพราะ สตง.ไม่จำเป็นต้องเป็นพระเอกอย่างเดียว ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธปท.ยังบอกเลยว่า ถ้าเอาทุกเรื่องของ สตง.มาพิจารณาก็คงทำไม่จบภายใน 1 ปี เพราะฉะนั้นเรื่องความขัดแย้งทะเลาะกันไม่ใช่ แต่วันนี้จบแล้ว โดยนายมีชัยโทร.มาหาดิฉัน ทั้งนี้ ประธานคณะกรรมการฯ เป็นนักกฎหมาย ก็บอกว่าทำไม่ได้ แต่ดิฉันเป็นนักบัญชีอาจคิดกว้างหน่อย ปัญหาตรงนี้นายมีชัยจะแก้ให้ ผู้ว่าการ สตง. กล่าว

จารุวรรณ ย้ำสอบหุ้นชินคอร์ปได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายสวัสดิ์ได้ออกมาระบุว่าคณะกรรมการฯไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป คิดว่าคณะกรรมการฯสามารถเข้าไปตรวจสอบและอายัดทรัพย์ได้หรือไม่ คุณหญิงจารุวรรณตอบว่า สามารถทำได้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อผู้สื่อข่าวถามนายสวัสดิ์ในคำถามเดียวกัน นายสวัสดิ์ตอบว่า เราต้องดูตามตัวบทกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งเวลานี้ไม่มีแล้ว จบแล้ว

จี้กรรมการประชุมถี่ขึ้น


คุณหญิงจารุวรรณกล่าวถึงการเปลี่ยนชื่อคณะกรรมการฯ ว่า เรื่องชื่อไม่มีอะไร เพียงแต่ชื่อมันยืดยาว จึงบอกให้สั้นหน่อย และมีการตัดคำว่าทรัพย์สินออก แต่พอจะพิมพ์ ท่านประธานก็บอกว่าไม่อยากใช้กระดาษที่มีหัวของ สตง. ตนก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะอยากสงวนสิทธิของ สตง.เหมือนกัน ทั้งนี้ คปค.ตั้งใจแก้ปัญหาบ้านเมือง ดังนั้นอย่าไปเพิ่มความกังวลอีกเลย หากมีการตีความแล้วคณะกรรมการฯชุดนี้ไม่สามารถทำได้ ก็ยังมีหน่วยงานอื่นที่ทำอยู่แล้ว เช่น สตง. ป.ป.ช. ก.ล.ต. เป็นต้น ส่วนเรื่องการยึดทรัพย์นั้นความจริงเป็นเรื่องที่ต้องระวัง รอบคอบและต้องรีบร้อน จึงอยากเสนอให้มีการประชุมถี่ขึ้น ไม่ใช่แค่สัปดาห์ละครั้ง

ออกตัวเน้นอิสระและเป็นกลาง

ที่เราต้องตรวจสอบและระวังมากคือความเป็นอิสระและเป็นกลางที่ต้องมีสูงกว่านี้ อย่างเช่นเจ้าหน้าที่ของ สตง.ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบุคคลที่ใกล้ชิดกับผู้ที่ถูกสอบสวนดำเนินคดี จะต้องถอนตัวไปไม่ให้มาเกี่ยวข้อง ดิฉันอยากให้ตั้งคนนอกเข้ามาช่วยงาน แต่ต้องมั่นใจว่าอิสระและเป็นกลาง ผู้ว่าการ สตง. กล่าว เมื่อถามว่ามีข่าวทาบทาม พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ อดีต ส.ว.กทม. เข้าร่วมเป็นอนุกรรมการ คุณหญิงจารุวรรณตอบว่า ไม่ทราบและไม่ใช่หน้าที่ที่จะต้องไปทาบทาม

จารุวรรณ ดึงอดีต ส.ว.เป็นที่ปรึกษาฯ

ขณะที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีต ส.ว.กทม. กล่าวว่า วันนี้ได้เข้าหารือกับคุณหญิงจารุวรรณถึงประเด็นศึกษาข้อกฎหมายที่จะพิจารณาเกี่ยวกับโครงการของ สตง.รวมทั้งจะนำปัญหาของประกาศ คปค.ฉบับที่ 23 เข้าร่วมหารือด้วย ทั้งนี้ คุณหญิงจารุวรรณได้บอกว่าจะตั้งที่ปรึกษาขึ้นมาจำนวนหนึ่ง ประกอบด้วยนายสัก กอแสงเรือง อดีต ส.ว.กทม. นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีต ส.ว.อุบลราชธานีเข้ามาทำงานร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวเห็นว่าประกาศ คปค.ฉบับที่ 23 มีความไม่ชัดเจนหลายจุดคือ ทำให้เกิดการทำงานที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น และอาจจะ ทำให้หน่วยงานอื่นทำงานลำบากมากขึ้นเกิดการซ้ำซ้อนต่องานในหน้าที่ของ ปปง. ป.ป.ช.และ สตง.อันจะทำให้เกิดความยุ่งยากต่อการทำงานของหน่วยงานนั้นๆ ที่เป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเดิม

เสรี เสนอยุบกรรมการตรวจสอบฯ

นายเสรีกล่าวว่า หลังจากที่คณะกรรมการตรวจสอบฯ เริ่มทำงาน ก็เกิดปัญหาแล้วว่า อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้มีมากน้อยเพียงใด เช่น คณะกรรมการชุดนี้แทนที่จะเร่งทำงาน กลับพยายามสร้างกรอบการทำงานด้วยการเริ่มแก้ไขชื่อคณะกรรมการฯของตัวเอง ซึ่งคณะกรรมการฯชุดนื้ ไม่มีอำนาจไปแก้ไขชื่อของคณะกรรมการของตัวเอง เนื่องจากการตั้งชื่อหรือเงื่อนไขต่างๆเป็นอำนาจของ คปค. รวมทั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินฯ ที่ถูกตั้งขึ้นควรจะสนับสนุนการทำหน้าที่ของ ปปง. ป.ป.ช. และ สตง. เพื่อให้แต่ละหน่วยงานเหล่านี้ได้ร่วมมือกันทำงานเพื่อให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพและมีทิศทางเดียวกัน โดยมิใช่ให้คณะกรรมการฯเป็นองค์กรใหม่ หรือเป็นอำนาจใหม่เกิดขึ้น

ประกาศของ คปค.มีสิทธิ์เทียบเท่ากฎหมายจึงสามารถแก้ไขได้ ผมจึงเห็นว่าถ้ามีปัญหามากขนาดนี้ ก็ควรยุบกรรมการตรวจสอบฯ แล้วให้หน่วยงานที่มีอยู่ ทำงานอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ผมจะนำความเห็นมาประมวลเป็นหนังสือและจัดทำเสนอให้ คปค.แก้ไขต่อไป ผมเห็นว่าการทำงานที่ยุ่งยากขนาดนี้ ถ้ามีการเพิ่มคณะกรรมการฯเข้าช่วย ก็จะสามารถทำงานได้สะดวกและคล่องมากยิ่งขึ้น อยากฝากให้ คปค.คิดในประเด็นเหล่านี้ด้วย

ป.ป.ช.พร้อมส่งคดีทุจริตให้


วันเดียวกัน เมื่อเวลา 14.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายศราวุธ เมนะเศวต เลขาธิการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมร่วมกับคณะกรรมการตรวจสอบตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชา ธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 23 ว่า เรื่องการแบ่งงานระหว่าง ป.ป.ช.กับคณะกรรมการตรวจสอบตามคำสั่งของ คปค.ฯ นั้น หากเรื่องใดที่คณะกรรมการตรวจสอบตามคำสั่งของ คปค.ฯ เป็น ผู้รับผิดชอบ ป.ป.ช.ก็จะไม่เข้าไปยุ่ง แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า ป.ป.ช.จะส่งคดีทุจริตเรื่องใดไปให้คณะกรรมการตรวจสอบตามคำสั่ง คปค.ฯ ต้องรอการหารือร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 4 ต.ค. จึงจะได้ข้อสรุปชัดเจน เท่าที่หารือกันเบื้องต้น กรรมการ ป.ป.ช.พร้อมให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการตรวจสอบตามคำสั่งของ คปค.ฯ ในทุกเรื่องที่ต้องการ แต่เรื่องที่ ป.ป.ช.จะส่งให้คณะกรรมการตรวจสอบตามคำสั่ง คปค.ฯดำเนินการ ต้องเป็นโครงการที่ได้รับการอนุมัติจาก ครม.เท่านั้น โดยต้องขออนุญาตจากที่ประชุม ป.ป.ช.ก่อน มั่นใจว่าจะไม่เกิดความซ้ำซ้อนในการทำงานระหว่างกัน

โต้ไม่มีศึกเกาเหลาใน กก.ตรวจสอบ

นายศราวุธกล่าวว่า สำหรับอำนาจของคณะกรรมการตรวจสอบตามคำสั่งของ คปค.ฯนั้น จะมีอำนาจเรื่องการตรวจสอบการทุจริตและทรัพย์สินในโครงการที่ได้รับการอนุมัติจาก ครม. ส่วนกระแสข่าวความขัดแย้งระหว่างนายสวัสดิ์ โชติพานิช กับคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ในการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบตามคำสั่งของ คปค.ฯนั้น ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะการประชุมดังกล่าวไม่มีความขัดแย้งอะไรเลย ยังรู้สึกงงๆว่า เพราะอะไรจึงมีข่าวทะเลาะหรือความเห็นไม่ตรงกันได้ ส่วนการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในวันที่ 2 ต.ค.นี้ จะมีการรายงานคดีทุจริต 11,000 กว่าคดีที่ค้างอยู่ใน ป.ป.ช. ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.รับทราบว่า มีคดีหมดอายุความ คดีเร่งด่วน คดีนักการเมือง เป็นจำนวนเท่าใด

ตั้งทีมเฉพาะกิจสอยทุจริตคลองด่าน

ขณะเดียวกัน เมื่อเวลา 14.45 น. ที่สำนักงาน ป.ป.ช. นางมณทิพย์ ศรีรัตนา คาบูกานอน อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เดินทางเข้าพบนายศราวุธ เมนะเศวต เลขาธิการ ป.ป.ช. ภายหลังการเข้าพบเป็นเวลา 40 นาที นางมณทิพย์กล่าวว่า มารายงานให้เลขาธิการ ป.ป.ช. ทราบว่า กรมควบคุมมลพิษพร้อมให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ช.อย่างเต็มที่ในการให้ข้อมูลการทุจริตโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ เบื้องต้นทราบ จากนายศราวุธว่าจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. ขึ้นมาดูแลกรณีดังกล่าวเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้การไต่สวนเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพราะคดีใกล้หมดอายุความแล้ว

นายศราวุธกล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษมาให้คำยืนยันว่า พร้อมจะร่วมมือกับ ป.ป.ช.ในการไต่สวนการทุจริตคดีคลองด่าน โดยในวันที่ 2 ต.ค.นี้ ตนจะเสนอต่อที่ประชุม ป.ป.ช.เพื่อเสนอตั้งคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. เฉพาะกิจ เพื่อมาดูแลคดีดังกล่าวโดยเฉพาะ โดยจะเชิญบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆเข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ แต่จะประกอบด้วยใครบ้างนั้น ขึ้นอยู่กับกรรมการ ป.ป.ช. ที่เป็นหัวหน้าคณะอนุกรรมการจะเป็นผู้พิจารณา

พร้อมประสานหากทำงานซ้ำซ้อน

ด้านนายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงกรอบการทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. ฉบับที่ 23 ซึ่งมีนายสวัสดิ์ โชติพานิช เป็นประธานว่า หากการทำงานเกิดความซ้ำซ้อนกัน ป.ป.ช.ก็จะมีการประสานข้อมูล โดยเชื่อมั่นว่าจะไม่เกิดปัญหาอย่างที่หลายฝ่ายกังวล ส่วนที่นายสวัสดิ์อ้างว่าไม่สามารถที่จะตรวจสอบทุจริตเชิงนโยบายของภาครัฐได้นั้น เห็นว่าหากการกำหนดกรอบนโยบายส่อไปในทางทุจริตจริง ก็สามารถที่จะพิสูจน์ได้


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์