อดีตนายกฯทักษิณ รับข้อเสนอ องคมนตรีสุรยุทธ์ พร้อมเจรจายุติปัญหาความขัดแย้งภายในชาติ "นพดล" เผย ต้องมี3หัวข้อในการเจรจา คืน รธน.40 หรือ เนื้อหาใกล้เคียงมาประกาศใช้ -ยุบสภา และ เลือกตั้งใหม่
ที่พรรคเพื่อไทย เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 20 ธ.ค. นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวน้าพรรคเพื่อไทย
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ อดีตปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมแถลงกรณี เอกสารลับของกระทรวงต่างประเทศ เสนอข้อหารือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับมาตรการจัดการ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยคุกคามหลักของชาติ
นายยงยุทธ กล่าวว่า พวกตนมีประสบการณ์การดำรงตำแหน่งข้าราชการประจำ
ตนเคยเป็นอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย นายปลอดประสพ เคยดำรงตำแหน่งอดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายจารุพงษ์ เคยดำรงอดีตปลัดกระทรวงแรงงาน วิเคราะห์เอกสารลับกระทรวงการต่างประเทศ เป็นการทำข้อหารือถึง นายกรัฐมนตรี ทำขึ้นโดยถูกต้อง มีอำนาจตามกฎหมายหรือไม่ เพราะเนื้อหาหนังสือระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นภัยหลักคุกคามชาติ และประชาชนนั้น ข้อเท็จจริงไม่ใช่ แต่ภัยหลักที่กำลังคุกคามประชาชน คือ ความยากจน รวมทั้งปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีรายงานผู้เสียชีวิต และทรัพย์สิน ต่อเนื่อง ถือเป็นภัยหลักและเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลควรลงพื้นที่แก้ปัญหา
"การออกเอกสารลับดังกล่าวขณะนี้ยังไม่พบว่า นายกรัฐมนตรี ได้ลงนาม จึงยังไม่มีการยื่นฟ้องดำเนินคดีใดๆ ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หากภายหลังพบว่ามีการปฏิบัติตามหนังสือที่ออกโดยไม่ถูกต้อง พรรคเพื่อไทยจะดำเนินต่อไป"นายยงยุทธ กล่าว
นายปลอดประสพ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อไทย วิเคราะห์รายละเอียดในหนังสือ ว่า ขอตั้งข้อสังเกต 5 ข้อ
1. เอกสารดังกล่าว เป็นการออกคำสั่งที่ผิดกฎหมาย และขัดรัฐธรรมนูญ ผิดระเบียบบริหาราชการแผ่นดิน รวมทั้งระเบียบข้าราชการพลเรือน ( ก.พ.) เพราะเป็นคำสั่งที่ให้ข้าราชการประจำ ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีความเป็นกลาง 2.การอกคำสั่งในหนังสือสะท้อนให้เห็นว่า ขาดด้อยเรื่องคุณธรรม และจริยธรรม 3.สิ่งที่เสนอให้ปฏิบัติตามหนังสือ เป็นการสร้างความแตกแยกในสังคม ปฏิเสธความปรองดองสมานฉันท์ ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ไม่ได้พูดถึงฟื้นฟูสัมพันธ์ที่ดีกับกัมพูชา ไม่พูดว่าจะส่งทูต เลขานุการทูต กลับไปสร้างความสัมพันธ์ มีแต่พูดถึงการตอบโต้ 4.นายกรัฐมนตรีไม่รู้ว่าจะสั่งการอย่างไร แต่ขอเตือนข้าราชการประจำว่าหากมีการสั่งการให้ปฏิบัติตามหนังสือ ขออย่าปฏิบัติตามเพราะหนังสือดังกล่าวออกมาโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญและผิดกฎหมาย หากข้าราชการปฏิบัติก็จะมีความผิด ส่วนข้าราชการฝ่ายการเมือง ขอให้หยุดการดำเนินการที่ผิดกฎหมาย
รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวต่อว่า พรรคเพื่อไทย มีข้อเสนอแนะ 8 ข้อต่อรัฐบาล
1.การออกหนังสือดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ และผิดกฎหมาย เป็นการให้ข้าราชการ ช่วยเหลือรัฐบาลอยู่รอดทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ของข้าราชการ กระบวนการดังกล่าวเป็นการบั่นทอน ทำลายล้างการเมืองฝ่ายตรงข้าม คือ พรรคเพื่อไทย ทั้งที่พรรคเพื่อไทย ตั้งขึ้นมาโดยถูกต้องตามกฎหมาย รัฐธรรมนูญ ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย 2.การกระทำดังกล่าวจะเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และขัดรัฐธรรมนูญ รวมทั้งระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ที่ทำให้ข้าราชการไม่มีความเป็นกลาง 3.ชัดเจนว่าต้องการจัดการ พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรับมนตรี โดยใช้อำนาจบริหาร เข้าไปเร่งรัดการดำเนินคดี พ.ต.ท.ทักษิณ 4.สิ่งที่ในหนังสือระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นภัยหลักคุกคามชาติ พรรคเพื่อไทยขอประณามวิธีคิดดังกล่าว การกล่าวเช่นนี้ มุ่งที่จะใส่ร้าย ทำลายล้าง พ.ต.ท.ทักษิณ 5.ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลยอมรับ แนวคิดการสร้างให้ผู้ที่สนับสนุนรัฐบาลเกิดความสะใจ หลังจากนี้จะมีกระบวนการสร้างความเข้าใจ โดยใช้งบประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
6.หนังสือดังกล่าวเป็นการสร้างภาพทำให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการกลับมาเป็นผู้นำทางการเมือง ทั้งที่การที่บุคคลใดจะเป็นผู้นำ ประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งเข้ามา แต่การกระทำของกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐบาล เป็นการชี้นำ 7.เป็นเรื่องน่าตกใจอย่างยิ่งที่รัฐบาลกล่าวถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศกัมพูชา แสดงให้เห็นว่าเป็นการก้าวล่วงกัมพูชา และ 8.การที่ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เสนอมาตรการใช้กำลังทหารเกี่ยวกับข้อพิพาทกัมพูชา เป็นข้อเสนอที่ย้อนยุค และอันตรายอย่างยิ่ง หากรู้ถึงประเทศกัมพูชาก็ยิ่งทำให้ความเสื่อมทรามที่มีอยู่ระหว่าง ประเทศแย่ลงไปอีก จึงขอให้กระทรวงกลาโหม และฝ่ายความมั่นคง ตรวจสอบเรื่องนี้อีกครั้ง เพราะก่อนหน้านี้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ปฏิเสธว่าไม่เคยเห็นหนังสือดังกล่าว นายกษิต กำลังทำให้กระทรวงการต่างประเทศ เป็นเหมือนกระทรวงสงครามในยุคสงครามโลก ดังนั้นพรรคเพื่อไทย เห็นว่า รัฐบาลควรพิจารณาเรื่องนี้ให้ดีและทำให้ถูกต้อง
"เนื่องในวันปีใหม่ที่จะถึงนี้ ผมขอให้เรียกร้องรัฐบาล ทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟ และให้หยุดการทำลายล้างกันในสังคม หากจะสู้กันก็ให้สู่กันในทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ส่วนที่มาของเอกสารที่เราได้นั้น มาจาก 2 ฝ่าย คือจากนักการเมืองและจากข้าราชการประจำ ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ และไม่อยากทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย จึงต้องนำมาเปิดเผย ขอเรียกร้องให้รัฐบาลอย่าใช้มุกเดิมในการไปไล่บี้คนให้ข้อมูล แต่ขอให้ออกมาชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าวจริงหรือไม่ มันไม่ใช่ว่าจะถามว่าใครเอามาเปิดเผย แต่ต้องถามว่าพวกมึงคิดอย่างนี้ได้ยังไงมากกว่า"นายปลอดประสพกล่าว
แม้วยื่น3เงื่อนไข คุยสุรยุทธ์ ยุติศึกในชาติ
ด้าน นายจารุพงษ์ อดีตปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การเอกสารดังกล่าว ต้องย้อนถามว่ากระทรวงการต่างประเทศ มีอำนาจจะออกหรือไม่
เพราะอำนาจกระทรวงการต่างประเทศ คือ การสร้างสัมพันธไมตรีกับนานาชาติ ขณะที่เนื้อหาในเอกสารดังกล่าวไม่น่าจะสอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เคยแถลงไว้ ขณะที่กรณีดังกล่าวหากเป็นตน ถ้ามีผู้ใต้บังคับบัญชาทำเรื่องเสนอชงขึ้นมา ก็จะไม่ยอมลงนามและไม่สั่งให้ปฏิบัติ เพราะเป็นเรื่องที่ฝ่าฝืนกฎหมาย รัฐธรรมนูญ เรื่องนี้หากมีการออกหนังสือ โดยไม่มีอำนาจ ไม่ถูกต้องและมีการปฏิบัติที่ขัดกฎหมาย ผู้ที่ออกหนังสือต้องรับผิดชอบ
ต่อมาเวลา 11.00 น. วันเดียวกัน นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และที่ปรึกษาด้านกฎหมายของพ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ได้ติดตามการทำงานของนายกษิต
หลังจากได้ทำเอกสารลับส่งไปถึงนายกรัฐมนตรี ทั้งที่มันไม่ใช่งานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่จะใช้กระทรวงการต่างประเทศไปขจัด คู่แข่งทางการเมืองในประเทศ เพราะกระทรวงการต่างประเทศมีหน้าที่ไปสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศและ รักษาผลประโยชน์ของชาติ แต่นายกษิตทำตัวคล้ายเป็นรัฐมนตรีไล่ล่าศัตรูทางการเมืองในต่างประเทศ ไม่ใช่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ไม่ว่าจะเป็นลูกชาวบ้าน คนผู้ดีชั้นสูงเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ว่าบ้านเมืองจะเป็นประชาธิปไตยหรือเป็นเผด็จการ ไม่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทำลายเกียรติยศของกระทรวงการต่างประเทศ และศักดิ์ศรีของข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศเท่ากับนายกษิต อีกทั้งยังได้รับสายโทรศัพท์หนาหูจากเพื่อนข้าราชการในกระทรวงที่เป็นนักการทูตมืออาชีพทราบว่า ไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่ง มีการโยกย้ายพรรพวกตัวเองมาอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญ การโยกย้ายข้ามหัวคนอื่น ข้าราชการระส่ำระสายกันมาก หลายคนไม่อยากทำงานในกระทรวง เพราะทนพฤติกรรมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไม่ได้
"ขอให้นายกษิตยุติพฤติกรรมที่เป็นการทำลายเกียรติยศของกระทรวง และเลิกหมกมุ่นไล่ล่าพ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เช่นนั้นจะสร้างความเสียหายให้แก่กระทรวง ผมรู้ว่ามีข้าราชการที่เป็นลิ่วล้อของนายกษิตไม่กี่คน ที่ร่วมมืออยู่และมีรายชื่ออยู่ ขอให้ราชการส่วนนี้ยุติพฤติกรรมที่สมคบกับนักการเมืองทำลายคนไทยด้วยกัน เอาเวลาไปฟื้นฟูความสัมพันธ์กับต่างประเทศดีกว่า เลิกยุ่งกับพ.ต.ท.ทักษิณ เพราะไม่ใช่บทบาทของกระทรวงที่จะไปไล่ล่าคนไทย"นายนพดลกล่าว
นายนพดลกล่าวต่อว่า สิ่งที่ไม่สบายใจที่สุดในเอกสารดังกล่าวคือที่จะให้เร่งรัดคดีความต่างๆของพ.ต.ท.ทักษิณ ส่งสัญญาญเป็นการเสื่อมเสียต่อกระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นอย่างยิ่ง
ทำให้สังคมโลกเข้าใจว่าฝ่ายบริหารของประเทศไทยสามารถเร่งรัดคดีความต่างๆ หรืออาจเข้าไปแทรกแซงคดีต่างๆที่มีต่อพ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้เขาคิดเลยว่าในอดีตที่พ.ต.ท.ทักษิณถูกพิพากษาว่ามีความผิด มีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ ทำให้หลายคนเคลือบแคลง กระทรวงนี้มีหน้าที่สร้างภาพลักษณ์ของชาติจะต้องไม่ทำลายภาพลักษณ์ ตนรักเพื่อนข้าราชการ รักกระทรวงนี้ จะไม่ยอมให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่คงอยู่มีเหตุผลเดียวคือ การไล่ล่าพ.ต.ท.ทักษิณ ไม่แปลกใจเลย ที่นายอภิสิทธิ์ แต่งตั้งนายกษิตเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งที่มีข้อครหาและสังคมเคลือบแคลงเป็นอย่างมาก แต่ฝ่าฝืนกระแสมหาชน
เมื่อถามว่าหลังนายกรัฐมนตรีรับหนังสือที่นายกษิตส่งไป มีอำนาจที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยใช้หรือไม่ นายนพดลกล่าวว่า ตามหลักกฎหมายนายกรัฐมนตรีมีสิทธิลงนามไม่เห็นด้วยทุกข้อ
เพราะไม่ใช่บทบาทของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ไปไล่ล่าคนไทยด้วยกันเอง เมื่อถามว่านายกษิตมีอำนาจที่จะเอาผิดกับข้าราชการที่นำเอกสารลับมาเปิดเผยได้ นายนพดลกล่าวว่า เพื่อนข้าราชการในกระทรวงมีหลายสี ประเด็นต้องดูว่าการกระทำของนายกษิตมันเป็นการทำความเลวหรือทำความดี ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ชอบมาพากล คิดว่าข้าราชการที่มีความซื่อสัตย์ สุจริตมีหน้าที่หยุดยั้งสิ่งที่ไม่ชอบมาพากลของฝ่ายการเมืองได้
นายนพดลกล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ได้โทรศัพท์คุยกับพ.ต.ท.ทักษิณ กรณี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีและองคมนตรี
ระบุทำนองว่าพร้อมเป็นตัวกลางในการเจรจากับอดีตนายกรัฐมนตรี แต่พ.ต.ท.ทักษิณต้องโทรศัพท์มาก่อน ว่า ขอเรียนว่าเมื่อครั้งที่ พล.อ.สุรยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการยึดอำนาจรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณไป พ.ต.ท.ทักษิณได้โทรศัพท์หาพล.อ.สุรยุทธ์ 2 ครั้ง ว่า พร้อมร่วมมือพูดคุยกับฝ่ายต่างๆในสังคมที่ร่วมมือกันยึดอำนาจ แต่ต้องไม่มีการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง พ.ต.ท.ทักษิณย้ำกับพล.อ.สุรยุทธ์ในขณะนั้นว่า การปรบมือต้องปรบมือ 2 ข้างถึงจะดัง การพูดคุยต้องคุยทั้ง 2 ฝ่ายด้วยความจริงใจ อยากย้ำเตือนความทรงจำของพล.อ.สุรยุทธ์ ดังนั้นที่เสนอพร้อมเป็นตัวกลางในการเจรจานั้น พ.ต.ท.ทักษิณยินดีที่จะพูดคุย แม้ครอบครัวจะถูกกระทำ ประสบความทุกข์อย่างแสนสาหัส ทรัพย์สินจะถูกอายัดไปหมดทั้งที่ได้ก่อนการเป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะโดนคดีความต่างๆ ก็พร้อม และยินดี หากการพูดคุยจะทำให้การเดินหน้าของบ้านเมืองเดินต่อไปได้ แต่มีข้อแม้ว่าการพูดคุยต้องจริงจัง และจริงใจ เพราะคนที่รักประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อแดง หรือประชาชนสีอะไรก็แล้วแต่ที่รักประชาธิปไตย ที่ไม่ชอบการยึดอำนาจ ไม่ชอบ สองมาตรฐาน ไม่ชอบการเล่นพรรคเล่นพวก โดย พ.ต.ท.ทักษิณฝากขอบคุณพล.อ.สุรยุทธ์ ที่ได้ระบุว่าพร้อมจะเจรจา ดีใจที่รู้ว่าบ้านเมืองมีปัญหา พ.ต.ท.ทักษิณพร้อมจะพูดคุยเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้
เมื่อถามว่า หากการเจรจามีผลยืนยันได้หรือไม่ว่าพ.ต.ท.ทักษิณจะสั่งให้เสื้อแดงหยุดเคลื่อนไหวได้ นายนพดลตอบว่า ถ้าเจรจาพูดคุยกันได้ มีทางออกทุกฝ่ายยอมรับ
มันมี 3 ข้อ จำเป็นต้องอยู่ในการจรจา คือ 1. มีรัฐธรรมนูญ 2540 หรือมีเนื้อหาใกล้เคียงมาประกาศใช้ 2.ยุบสภา และ 3.มีการเลือกตั้งใหม่ อีกทั้งทุกฝ่ายทุกสีต้องให้สัตยาบรรณร่วมกันว่า ต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง และไม่ไปดำเนินการใดๆนอกสภาที่จะทำให้การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการบริหารประเทศเดินไปไม่ได้ ไม่เช่นนั้นมันก็วนกลับมาเหมือนเดิมใช้หรือไม่ ตนไม่สามารถพูดแทนคนเสื้อแดงได้ แต่คิดว่าถ้ามีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย มีความเป็นธรรมให้ฝ่ายเสื้อแดง และพ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อมีการยุบสภา เลือกตั้งใหม่วิธีเดียวที่จะให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ คือทุกคนต้องยอมรับผลการเลือกตั้งนั้น เพราะถ้าไม่มีความมั่นคงทางประชาธิปไตย จะไม่มีความมั่นทางการเมือง เมื่อไม่มีความมั่นคงทางการเมืองจะไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ตอนนี้ไม่ใช่สุญญากาศทางการเมือง แต่เป็นคุกรุ่นทางการเมือง มันเหมือนภูเขาไฟที่รอวันระเบิด เหมือนระเบิดเวลาที่รอระเบิด ขอเตือนรัฐบาลอีกนิดว่า อย่าประเมินศักยภาพของฝ่ายที่รักประชาธิปไตยต่ำเกินไป เพราะการกดขี่ขมเหงที่รัฐบาลทำทุกวี่ทุกวัน มันเป็นการเพิ่มกระแสพลังของฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตย ให้มีมากขึ้น
เมื่อถามว่า3 ข้อที่เป็นเงื่อนไขการเจรจามันมากเกินไปหรือไม่ นายนพดลกล่าวว่า การเจรจาต้องกลับคืนสู่สถานะเดิม
เพราะฝ่ายยึดอำนาจเป็นคนกระทำ บ้านเมืองจึงไม่สงบมาถึงทุกวันนี้ การไล่ล่า การล้างแค้นกันไม่ควรมี เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ถ้าบรรลุความปรองดอง สมานฉันท์ ทุกฝ่ายยอมรับได้ก็ควรยุติเพียงแค่นั้น แล้วทุกอย่างให้ว่ากันตามกฎหมาย โดยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย มีองค์กรที่ตัดสินชี้ขาดตัดสินคดีตามข้อเท็จจริงและกฎหมาย เมื่อถามอีกว่า หากผลการเจรจาสำเร็จ พ.ต.ท.ทักษิณก็ยุติบทบาททางการเมือง นายนพดลกล่าวว่า อย่าลืมว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ประสงค์จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณไม่ใช่เด็กดื้อ เป็นผู้ใหญ่ที่รับฟัง พร้อมที่จะคุยกับทุกฝ่ายหาทางออกให้บ้านเมือง เมื่อถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะยุติบทบาททางการเมืองโดยสิ้นเชิงหลังเจรจา นายนพดลกล่าวว่า ไปพูดคุยในช่วงเจรจาก็แล้วกัน เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ใช่คนดื้อที่จะดันทุรัง คิดว่าถ้าได้ข้อยุติความปรองดองในชาติทุกเรื่องแล้ว จะคุยกันได้ พ.ต.ท.ทักษิณ พร้อมรับฟัง