´สวัสดิ์´ เผยฟันโกงอดีตรมต.รับหนักใจ!


หลังจากที่ คปค.ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินและโครงการต่างๆที่ได้รับการอนุมัติในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยมีนายสวัสดิ์ โชติพานิชเป็นประธานคณะกรรมการฯ ในขณะที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ต่างออกมาขานรับพร้อมประสานงานทำกับคณะกรรมการตรวจสอบฯนั้น

สวัสดิ์ นัดประชุม กก. 27 ก.ย.นี้

เมื่อเวลา 14.20 น. วานนี้ (26 ก.ย.) ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นายสวัสดิ์ โชติพานิช ประธานคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน การดำเนินงานและโครงการต่างๆที่ได้รับอนุมัติหรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้เดินทางมาติดตามความคืบหน้าในการส่งหนังสือเชิญกรรมการ หรือผู้แทนของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินฯ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการนัดแรกในวันนี้ (27 ก.ย.) เวลา 09.30 น.

โดยนายสวัสดิ์กล่าวว่า การประชุมนัดแรกในวันที่ 27 ก.ย.นี้ เป็นการวางกรอบการทำงานให้ชัดเจนว่า ขอบข่ายการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้มีมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากเกี่ยวพันกับองค์กรที่มีการตรวจสอบเดิมอยู่แล้ว เช่น ป.ป.ช. ปปง. สตง. ก.ล.ต. และกรม สรรพากร และจะพูดคุยถึงงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการ ทั้งค่าตอบแทนในการยืมบุคลากรจากหน่วยงานมาช่วย งบฯ การลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบตามข้อมูลหลักฐาน การตั้งเลขาธิการของคณะกรรมการชุดนี้ ตลอดจนหาสถานที่ทำงาน ทั้งนี้ ในส่วนของการทำงาน ยอมรับว่าหนักใจ เพราะมีระยะเวลาเพียง 1 ปี เวลาผ่านไปเร็วมาก หากเวลา 1 เดือนแล้ว ไม่มีอะไรคืบหน้า ทำอะไรไม่ได้ ถือว่าแย่แล้ว

ทำงานตามกฎหมายไม่ตามกระแส

เมื่อถามถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าคณะกรรมการชุดนี้ทำงานตามกระแส ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ ทรัพย์สินฯตอบว่า ไม่มี เราทำตามหลักกฎหมาย ว่ากันไปตามพยานหลักฐาน ใช้หลักการเดียวกับศาล เมื่อถามว่าหนักใจหรือไม่ที่คณะกรรมการชุดนี้ทำงานซ้ำซ้อนกับ ป.ป.ช. และ สตง. นายสวัสดิ์ตอบว่า ต้องหารือกับทั้ง 2 องค์กรถึงความชัดเจนในการทำงาน เพราะมีตัวแทนจาก

2 หน่วยงานนี้มาประชุม ต่อข้อถามจะมีขั้นตอนติดตามทรัพย์สินที่ถูกซุกซ่อนอย่างไร นายสวัสดิ์ตอบว่า ต้องให้รู้ก่อนว่าใครทำอะไรผิด ถ้าเขาไม่ได้ทำผิด เราคงไปทำอะไรเขาไม่ได้ ต้องตรวจสอบก่อน ต่อข้อถามว่าสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เคยตั้งคณะกรรมการยึดทรัพย์มาแล้ว แต่ท้ายสุดนักการเมืองมักหลุดจากคดี นายสวัสดิ์ตอบว่า หากเป็นเช่นนั้นคงทำอะไรไม่ได้ เพราะเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณา เราไม่สามารถก้าวล่วง

จะยึดทรัพย์ต้องมีหลักฐานชัดเจน

เมื่อถามว่า จะตรวจสอบการจัดซื้อซีทีเอ็กซ์เป็นเรื่องแรกหรือไม่ นายสวัสดิ์ตอบว่า ยังไม่ทราบ ต้องรอการประชุมวันนี้ (27 ก.ย.) ก่อนว่าเขาจะเสนอเรื่องใดให้พิจารณา ทั้งนี้ จะเรียกเอกสารสำนวนทั้งหมดที่ สตง. ทำไว้ เข้ามาตรวจสอบพิจารณาในที่ประชุมด้วย เมื่อถามถึงกรณีที่ สตง.ระบุว่า สรุปสำนวนซีทีเอ็กซ์เสร็จแล้วจะถือเป็นคดีแรกที่คืบหน้าที่สุดหรือไม่ นายสวัสดิ์ตอบว่า ขอดูก่อน สตง.อาจมีความเห็นของเขาตามการปฏิบัติงานส่วนพวกตนก็มีอีกรูปแบบหนึ่ง คงไม่เหมือนกัน พวกตนต้องมีหลักฐานแบบศาล คือหลักฐานชัดเจนพอสมควร ถ้าไม่ชัดเจนคงไม่ได้

กล้านรงค์ เข้าพบเป็นการส่วนตัว


ต่อมาเวลา 14.30 น. นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. ได้เดินทางมาพบกับนายสวัสดิ์ ที่ สตง. โดยนายกล้านรงค์กล่าวว่า มาพบในนามส่วนตัวเพราะนับถือนายสวัสดิ์ ส่วนงานที่ซ้ำซ้อนกันระหว่าง ป.ป.ช.กับคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินฯนั้น คงให้เลขาธิการป.ป.ช.เป็นผู้ประสาน

หลังจากการพูดคุยประมาณครึ่งชั่วโมง นายกล้านรงค์กล่าววว่า มาพูดคุยเรื่องสัพเพเหระกับนายสวัสดิ์ เพราะตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งจาก คปค.ให้ดูแล ก็ไม่ได้พบปะกันเลย เมื่อถามว่าเป็นการมารายงานข้อมูลทุจริตที่มีอยู่ในมือ ป.ป.ช.ใช่หรือไม่ นายกล้านรงค์ตอบว่า ไม่ใช่ เรื่องต่างๆยังไม่ได้รายงานถึงมือ ป.ป.ช.เลย สำหรับคดีคลองด่านจะมีการพูดคุยกันในวันที่ 2 ต.ค.นี้

ป.ป.ช.เร่งสางคดีก่อนหมดอายุความ

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า การทำงานของ ป.ป.ช.และคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินฯ ยังมีความเหลื่อมกันอยู่ บางเรื่องข้อมูลก็ยังอยู่ใน ป.ป.ช. ดังนั้น เพื่อให้การทำงานของทั้งสองหน่วยงานมีความชัดเจนมากขึ้น จึงให้เลขาธิการ ป.ป.ช. เป็นผู้ประสานงานเพื่อร่วมประชุมระหว่างสองหน่วยงาน ทั้งนี้ ในส่วนของป.ป.ช.จะมีการประชุมกันอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 2 ต.ค. เพื่อแยกแยะเรื่องที่คั่งค้างอยู่ในสำนักงานกว่า 11,000 เรื่อง ซึ่งจะพิจารณาเรียงลำดับความสำคัญและประเมินความเสียหายจากน้อยไปหามาก หากเรื่องใดสามารถส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาได้ก็จะทำ ทั้งนี้ เพื่อตัดปัญหาความล่าช้าและลดทอนคดีที่กำลังจะขาดอายุความ

เราจะประเมินความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับคดีทั้งหมด โดยอาจจะเร่งพิจารณาคดีความที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการระดับสูง ข้าราชการการเมือง เพื่อไม่ให้คดีที่กำลังขาดอายุความต้องสิ้นสุดลง โดยไม่สามารถจับใครได้ ดังนั้น จะต้องพิจารณาและเร่งสางคดี ต้องพิจารณาว่าจะสามารถรื้อฟื้นคดีความที่ขาดอายุความได้อย่างไร แต่ขณะนี้มีเรื่องเยอะไปหมดจะให้ตรวจทุกเรื่องก็ไม่ได้ นายปานเทพกล่าว

บี้คดีคลองด่านอีก 3 เดือนหมดอายุ

ประธาน ป.ป.ช.กล่าวว่า ส่วนคดีคลองด่านก็ต้องเร่งรัดเป็นพิเศษเพราะเหลือเวลาเพียง 3 เดือน ก็จะขาดอายุความ ซึ่งต้องเร่งศึกษาว่าภายในสำนักงานดำเนินการไปถึงขั้นใดแล้ว หากประเมินแล้วว่าภายใน 3 เดือนไม่สามารถดำเนินการได้ทัน ก็จำเป็นต้องเพิ่มบุคลากรให้มากขึ้นเพื่อเร่งให้คดีเสร็จทันเวลา ต้องยอมรับว่าขณะนี้สังคมคาดหวังกับการทำงานของ ป.ป.ช.ชุดใหม่มาก ดังนั้น จึงต้องนำภาวะดังกล่าวมาแปลงเป็นกำลังใจในการทำงานของตัวเอง เพราะถือเป็นโอกาสดีที่ได้ช่วยเหลือบ้านเมือง

นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวว่า ยอมรับว่าการทำงานของ ป.ป.ช.อาจจะมีบางส่วนที่ทับซ้อนกับกรรมการฯ ของนายสวัสดิ์ โชติพานิช เพราะลักษณะงานใกล้เคียงกัน โดยกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินฯมีอำนาจมาก เนื่องจากได้ใช้อำนาจของหลายหน่วยงาน เช่น ป.ป.ช. ปปง. คณะกรรมการธุรกรรมและอำนาจของอธิบดีกรมสรรพากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษี ทั้งเรื่องการยึดและอายัดทรัพย์ ซึ่งที่ประชุม ป.ป.ช.ได้สรุปว่า หากการทำงานมีความทับซ้อนกันให้ฝ่ายเลขาธิการประสานงานกัน คาดว่าในวันที่ 2 ตุลาคม จะมีการประชุม ป.ป.ช. โดยอาจจะประชุมร่วมกับกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินฯ

วันนี้ไม่มาโยนงานหรือแย่งงานกัน


นายกล้านรงค์กล่าวด้วยว่า เวลานี้เป็นเวลาวิกฤติไม่ใช่มาโยนงานหรือแย่งงานกัน เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาวิกฤติชาติบ้านเมืองในการปราบปรามทุจริตคอรัปชันให้ได้เด็ดขาด ดังนั้น ทุกหน่วยงานทั้ง ป.ป.ช. สตง. กรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ต้องจับมือกัน ส่วนขั้นตอนตรวจสอบทรัพย์สินของนักการเมือง กรรมการตรวจสอบทรัพย์สินจะยึดสำนวนของ สตง.เป็นหลัก รวมทั้งอาจจะมีเรื่องใหม่ที่รับเข้ามาก็ต้องดูว่าเป็นเรื่องที่เคยมีอยู่แล้วหรือไม่

โดยสำนวนของ สตง.หากเรียบร้อยแล้ว จะถูกส่งไปยังกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน และจะส่งไปที่อัยการสูงสุดทันที ถือว่าสำนวนดังกล่าวเป็นสำนวนของ ป.ป.ช. ที่กรรมการตรวจสอบทรัพย์สินฯ ใช้อำนาจแทน กรรมการตรวจสอบทรัพย์สินใช้อำนาจคร่อม ป.ป.ช., สตง., ปปง. คณะทำงานธุรกรรมและอธิบดีกรมสรรพากร ถือว่ามีอำนาจเด็ดขาดและสมบูรณ์ ป.ป.ช.และกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินฯ ไม่ต้องส่งเรื่องกัน เพราะต่างคนต่างทำ แต่มีประสานกันว่า เรื่องไหนใครจะทำ บางเรื่องถ้ามีข้อมูลทั้งสองหน่วยงาน ก็จะคุยกันว่าใครจะเป็นคนทำ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ

กก.ตรวจสอบฯมีอำนาจกว้างขวาง

นายกล้านรงค์กล่าวอีกว่า หากถามว่าจะเอาผิดฝ่ายการเมืองได้หรือไม่ ตอบไม่ได้ ต้องดูจากพยานหลักฐาน หากดูอำนาจของกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน เป็นลักษณะเดียวกับคณะกรรมการปราบปรามทุจริตในประเทศสิงคโปร์ เขาระบุว่าเจ้าหน้าที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานใด ให้ถือเป็นเจ้าหน้าที่พนักงานในหน่วยงานนั้นเลย เช่น ไปปราบทุจริตในกรมป่าไม้ก็ให้เป็นเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ หรือหากไปปฏิบัติงานในกรมศุลกากร

ก็เป็นพนักงานของกรมศุลกากรได้เลย เพราะที่มีอำนาจใช้กฎหมาย 3 ฉบับ นอกจากจะยึดและอายัดได้เองก็มีอำนาจกว้างขวางสมบูรณ์มาก น่าจะทำงานได้ผล ส่วนกระบวนการตรวจสอบเส้นทางการโอนเงินข้ามประเทศนั้น นายกล้านรงค์ตอบว่า ต้องดูว่ามีการโอนเงินไปที่ไหนอย่างไร เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นในสมัยที่เป็น ป.ป.ช. ต้องมีประสานงานระหว่างกระทรวงการต่างประเทศให้เขาติดต่อให้ ก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละประเทศจะให้ความร่วมมืออย่างไร

ป.ป.ช.งานไม่ซ้ำซ้อน กก.ตรวจสอบฯ

นายศราวุธ เมนะเศวต เลขาธิการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการแบ่งงานเรื่องการตรวจสอบการทุจริต ระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช.กับคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ที่มีนายสวัสดิ์ โชติพานิช เป็นประธาน ว่า ยังไม่ทราบว่าจะแบ่งกันอย่างไร คงต้องรอการ หารือกับคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินในวันที่ 27 ก.ย.นี้ แต่เชื่อว่าการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.กับคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน คงไม่เกิดซ้ำซ้อนกันในการทำงาน หากคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินดำเนินการเรื่องใดอยู่ และเรื่องนั้นอยู่ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ด้วย ก็คงต้องประสานงานกัน ส่วนตัวคิดว่า หากคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินดำเนินการเรื่องใด ป.ป.ช.ก็จะทำหน้าที่ส่งข้อมูลไปให้ โดยไม่เข้าไปยุ่ง เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน

นายศราวุธกล่าวว่า ส่วนกรณีที่ได้รับการมอบ หมายให้ไปหารือด้านข้อกฎหมายกับคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นั้น คงไปหารือเรื่องความซ้ำซ้อนกันในการทำหน้าที่ระหว่าง ป.ป.ช.กับคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน แต่ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดว่าจะไปพบกับ คปค.เมื่อใด

เปิดบัญชีทรัพย์สินนักการเมือง ต.ค.


ผู้สื่อข่าวถามว่า ป.ป.ช.จะต้องส่งบัญชีทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีต ครม.คนอื่นๆไปให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินหรือไม่ นายศราวุธตอบว่า ไม่ต้อง เพราะการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินฯของนักการเมืองเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. อยู่แล้ว โดยจะต้องตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินดังกล่าว ส่วนการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินจำนวน 207 บัญชี ของอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.อนุมัติเมื่อใดก็จะติดประกาศให้ทราบที่ฝ่ายตรวจสอบทรัพย์สินของ ป.ป.ช. อาคารธนะภูมิ ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ พร้อมประกาศให้ทราบทางเว็บไซต์ด้วย

นายศราวุธกล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการตรวจสอบคดีค้างคาใน ป.ป.ช.เพื่อรายงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบนั้น ขณะนี้ได้ทำเสร็จไปพอสมควรแล้ว เหลือแต่เพียงการทำให้สมบูรณ์เท่านั้นเอง ล่าสุดมีคดีค้างคาใน ป.ป.ช.จนถึงวันที่ 22 ก.ย. จำนวนทั้งสิ้น 11,400 เรื่อง ซึ่งในวันที่ 2 ต.ค. จะรายงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบว่า คดีทั้งหมดนี้แยกเป็นคดีขาดอายุความ คดีเร่งด่วน คดีที่เกี่ยวพันกับนักการเมืองจำนวนเท่าใด เพื่อจะได้วางกรอบแนวทางการทำงานต่อไป

คณบดีนิด้ายัน คตส.มีกฎหมายรองรับ

นายสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงกรณีที่ คปค.ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินฯ โดยมีนายสวัสดิ์ โชติพานิช อดีต กกต. และอดีตประธานศาลฎีกา เป็นประธานในการตรวจสอบทรัพย์สินบุคคล ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณว่า การตรวจสอบทรัพย์สินของนักการเมืองในครั้งนี้ มีความแตกต่างจากสมัย รสช. ที่แต่งตั้ง พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ เป็นประธาน คตส.

เพราะศาลฎีกาพิพากษาให้เพิกถอนการยึดทรัพย์ เนื่องมาจาก คตส.เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ทำให้ไม่สามารถที่จะยึดทรัพย์นักการเมืองในสมัยนั้นได้ แต่สำหรับ คปค.นั้น สามารถที่จะดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินได้ เนื่องมาจากการแต่งตั้งนั้น เป็นไปตามอำนาจของกฎหมาย อีกทั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินฯ สามารถที่จะนำเอากฎหมายขององค์กรต่างๆ มาใช้ เพื่อตรวจสอบได้ทั้ง ป.ป.ช. สตง. ปปง. หรือแม้แต่การใช้อำนาจของอธิบดีกรมสรรพากร ที่เกี่ยวกับการอายัด การยึดทรัพย์ การขายทอดตลาดทรัพย์สินและการเก็บภาษี

คำสั่งเชือดอยู่ในธรรมนูญชั่วคราว

นายสมบัติกล่าวด้วยว่า ดังนั้น จึงมีอำนาจในการดำเนินการตรวจสอบ เนื่องจากมีกฎหมายมารองรับ ก็สามารถดำเนินการตรวจสอบได้ ซึ่งหากพบว่ามีบุคคลที่มีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีการทุจริตก็สามารถใช้อำนาจของ ปปง.เข้าไปดำเนินการตรวจสอบพร้อมกับอายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ได้ และดำเนินการตรวจสอบในขั้นต่อไป ซึ่งหากพบว่ามีมูลก็ใช้อำนาจของ สตง. เพื่อส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดฟ้องในคดีอาญา รวมทั้งให้กฎหมาย ป.ป.ช.เพื่อส่งให้ศาลฎีกา

แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดำเนินการพิจารณาเอาผิดได้ ทั้งนี้ สิ่งที่จะบ่งบอกถึงการใช้อำนาจในการตรวจสอบทรัพย์สินคือ คปค.จะมีการกำหนดคำสั่งอันมีความชอบธรรมไว้ในร่างธรรมนูญที่จะนำมาใช้ ก่อนที่จะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ จึงทำให้กระบวนการตรวจสอบและอำนาจในการตรวจสอบทรัพย์สินของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินฯ ชุดนายสวัสดิ์ มีความชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหากสามารถดำเนินการตรวจสอบอย่างจริงจัง ก็เชื่อว่าสามารถเอาผิดทางอาญา และสามารถยึดทรัพย์ของนักการเมืองได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ศิริโชค ยื่นเรื่องสอบซีเอส-ชินแซทฯ


เวลา 14.00 น. นายศิริโชค โสภา กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางมายื่นหนังสือคำร้องถึงคุณหญิง จารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อขอให้ สอบสวนกรณีที่กรมศุลกากรเอื้อประโยชน์ให้บริษัท ซีเอส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และบริษัท ชินแซทเทิลไลท์ จำกัด (มหาชน) หลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าอุปกรณ์ เพื่อนำมาประกอบเป็นสถานีรับส่งสัญญาณโทรศัพท์ผ่านดาวเทียม โดยมี นายพิศิษฐ์ ลีลาวัชโรภาส ผอ.สำนักงานตรวจสอบกิจการพิเศษ สตง. เป็นผู้รับเรื่อง

นายศิริโชคกล่าวว่า ได้เคยนำเรื่องนี้มาอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาฯมาแล้ว ซึ่งเกี่ยวพันกับนายกรเทพ วิริยะ หรือชิปปิ้งหมู จนในที่สุดชิปปิ้งหมูถูกสังหาร แต่คดีก็ ไม่มีความคืบหน้า และถือเป็นความผิดที่ชัดเจน เนื่องจากกรมศุลกากรได้สั่งลงโทษเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ที่มีการนำเข้าสินค้าเกินกว่าที่แจ้งโดยไม่เสียภาษี แต่กลับไม่มีความคืบหน้า หรือสืบเสาะหาพยานหลักฐานเพิ่มเพื่อ สาวให้ถึงต้นตอ จึงต้องมายื่นเรื่องพร้อมหลักฐานต่อ สตง. ให้ตรวจสอบอีกครั้ง

ชงข้อมูลทุจริตหนองงูเห่ายื่น ป.ป.ช.

นายถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายศรีสุข จันทรางศุ ประธานบอร์ด บทม. ระบุว่า การลดสเปกและวงเงินก่อสร้างเหลือ 36,000 ล้านบาท อาคารผู้โดยสารในสนามบินสุวรรณภูมิ ประหยัดเงินได้สูงถึง 1.8 หมื่นล้านบาท ว่า นายศรีสุขอย่าบิดเบือนโดยอ้างลดราคาค่าก่อสร้างประหยัดเงินได้สูงมาก เพราะข้อเท็จจริงคำสั่ง รมว.คมนาคมที่ 9/2544 ในวันที่ 12 เม.ย. นั้น ที่ให้บอร์ด บทม.แก้ไขแบบและลดสเปกวัสดุ

และยัง กำหนดให้ใช้วัสดุภายในประเทศไม่น้อยกว่า 80% ความจริง คำสั่งดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นการทุจริต เพราะใช้วัสดุด้อย คุณภาพ เช่น ผ้าใบหลังคาเดิมต้องประกัน 20 ปี แต่เมื่อลดสเปกแล้วประกันแค่ 5 ปีเท่านั้น ดังนั้นนายศรีสุขอย่า มาบิดเบือนแบบหน้าด้านๆ เพราะจะติดคุกและถูกยึดทรัพย์ อยู่แล้ว ขอให้เตรียมตัวเตรียมใจไปชี้แจงข้อกล่าวหาต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะดีกว่า เพราะในเร็วๆนี้จะไปยื่นเอกสารทุจริตโครงการต่างๆในสนามบินสุวรรณภูมิให้ ป.ป.ช. และคณะ กรรมการตรวจสอบทรัพย์สินของรัฐมนตรี ชุดที่มีนายสวัสดิ์ โชติพานิช เป็นประธาน

เสธ.หนั่น ส่งข้อมูลฟันอดีต รมต.

วันเดียวกัน พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ หัวหน้าพรรคมหาชน กล่าวว่า เชื่อว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะดีขึ้น หลังจากที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เข้ามาดูแล และพรรคมหาชนมีความเชื่อมั่นในคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่คณะปฏิรูปฯ แต่งตั้งว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายได้ โดยทางพรรคได้เตรียมนำหลักฐานการทุจริตยื่นให้คณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินงาน และโครงการต่างๆที่ได้ รับอนุมัติ หรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรี หรือคณะ รัฐมนตรี

ว่าเป็นไปโดยสุจริตหรือไม่ ที่มีนายสวัสดิ์ โชติพานิช เป็นประธาน เราได้รวบรวมความไม่ชอบมาพากลต่างๆและหลักฐานการทุจริตของผู้มีอำนาจที่ผ่านมาเวลานี้ มีข้อมูลของหลายคน เช่น เรื่องการทุจริตข้าว จะนำไปมอบ ให้กับคณะกรรมการฯเพื่อเป็นข้อมูล และจะขอให้มีการตรวจสอบอดีตรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เพื่อดำเนินการต่อไป

วัฒนา ไม่หนักใจสอบคลองด่าน

ที่วัดชนะสงคราม นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช. มหาดไทย ได้เดินทางมาทำบุญเลี้ยงพระ เนื่องในวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 74 ปี จากนั้นนำพระเครื่อง กระเช้า ดอกไม้และผลไม้จำนวนหนึ่งคันรถกระบะไปมอบให้แก่ คปค. โดยนายวัฒนากล่าวถึงกรณีที่ถูกพาดพิงว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านว่า ไม่รู้สึกหนักใจและดีใจด้วยซ้ำ ที่ คปค.จะให้คนเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ เพราะจะได้มีความกระจ่างถูกต้อง พร้อม ให้ความร่วมมือ และยินดีจะไปชี้แจงทันทีที่ได้รับการติดต่อมา เพราะทราบดีอยู่แล้วว่า

เรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองที่พยายามโยงผมเข้าไปเกี่ยวข้อง ดังนั้น ตรงไหนที่เคยมีอำนาจอะไรครอบอยู่ ก็ขอให้ดำเนินการและพิสูจน์ โดย มั่นใจใน คปค.ว่าจะมาคลี่คลายอำนาจต่างๆที่เคยครอบงำ นอกจากนี้ เห็นด้วยกับ คปค.ในการตรวจสอบในทุกเรื่อง มีข้อเสนอว่า คปค.ควรจะพิจารณาเรื่องอายุความของคดีต่างๆ เพราะที่ผ่านมาว่างเว้นจากการมี ป.ป.ช. ทำให้มีคดีคั่งค้างอยู่มาก หากจะมีการขยายอายุความออกไป ก็ไม่น่าจะมีปัญหา


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์