3 พรรคฝ่ายค้าน อัด แม้ว หยุดยั่วยุ ปชช.- เชื่อวงขับไล่ขยายกว้าง
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์โดย ผู้จัดการออนไลน์ 7 มีนาคม 2549 18:08 น.
3 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ซัด แม้ว อย่าเรียกหาสามัคคีคนในชาติ ขณะที่ตัวเองพยายามยั่วยุ-สร้างความแตกแยก จวกรัฐเอาแต่ได้ข่มขู่สื่อถ่ายทอดม็อบขับไล่นายกฯ พร้อมประเมินสถานการณ์ขยายวงกว้างมากขึ้น จี้ กกต.-พีเน็ต จับตาพรรคการเมืองพยายามโกงเลือกตั้ง แฉ จ้างคนมาลงแข่งหวังหนีร้อยละ 20
วันนี้ (7 มี.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น.ที่พรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการประชุมคณะกรรมการร่วม 3 พรรคการเมือง โดยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน ซึ่งมีตัวแทนจาก 3 พรรค เข้าร่วมหารือด้วย อาทิ นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล นายนิกร จำนง รองหัวหน้าพรรคชาติไทย พล.ต.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เลขาธิการพรรคมหาชน นางสาวอินทิรา นาทองบ่อ โฆษกพรรคมหาชน โดยใช้เวลาในหารือประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที
นายจุรินทร์ แถลงภายหลังการประชุม ว่า ได้มีการหารือถึงการดำเนินงานของทั้ง 3 พรรค โดยมี 2 ส่วน คือ 1.เรื่องการติดตามสถานการณ์ของบ้านเมือง และการให้ความเห็นต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 2.ทำกิจกรรมร่วมกันของหัวหน้าพรรคทั้ง 3 พรรค โดยจะจัดให้มีการพบปะประชาชนเพื่อชี้แจงข้อสงสัยและเหตุการณ์ต่างๆ และไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง โดยมีรูปแบบว่าหัวหน้าพรรคจะชี้แจงร่วมกันอาจจะเป็นการปราศรัย หรือรูปแบบอื่นๆ พรรคเรียกร้องให้คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) และพีเน็ต ติดตามการเลือกตั้งอย่างใกล้ชิด แม้จะมีการส่งผู้สมัครเพียงพรรคเดียวก็อาจจะมีการโกงการเลือกตั้ง เพื่อให้คะแนนเสียงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เรื่องนี้ กกต.ไม่ควรปล่อยปละละเลย
นายจุรินทร์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้แสดงความเห็นทางการเมืองที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันทั้งหมด 4 ประการ คือ 1.ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนในเรื่องของการขายหุ้น 7.3 หมื่นล้านบาท โดยไม่เสียภาษี รวมถึงจริยธรรมของนายกฯ ซึ่งคำตอบที่ได้รับจะมีการเฉไฉสามวาสองศอกตลอด 2.การต่อต้านนายกฯ ขยายวงมากขึ้นไปทุกกลุ่ม และมีเสียงเรียกร้องให้นายกฯออกจากตำแหน่งมากขึ้นทุกวัน 3.พฤติกรรมของนายกฯ ที่ออกมาตรงกันข้ามกับผู้นำที่มีจริยธรรมที่ต้องเรียกร้องให้ได้มาซึ่งความสมัครสมาน สามัคคีของคนในชาติ แต่พฤติกรรมของนายกฯกลับตรงกันข้าม โดยเฉพาะใช้ยุทธศาสตร์ในการแบ่งแยกการปกครองสร้างความร้าวฉานให้เกิดขึ้นกับคนในทุกวงการ เพื่อนำความแตกแยกของบ้านเมืองมาค้ำบัลลังก์ให้กับตนเอง ไม่เว้นแม้แต่พรรคร่วม 3 พรรค
นายจุรินทร์ กล่าวว่า 4.ขอเตือนนายกฯ ว่าต้องไม่พยายามทำจะส่งสัญญาณยั่วยุใด ๆ เพื่อความรุนแรง ไม่เช่นนั้น นายกฯ แม้จะรักษาการก็ตามต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา คำพูดที่บอกว่าอึมครึมนานไม่ได้ หลังเลือกตั้งทุกอย่างต้องยุติ หรือแม้แต่รัฐมนตรีบางคนที่ออกมาข่มขู่โทรทัศน์บางช่องที่ถ่ายทอดการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร ว่า เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดผลดีมีลักษณะของการข่มขู่ ถ้าบอกว่าการถ่ายทอดชุมนุมที่ประชาชนชุมนุมอย่างสงบเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องแล้วทำไมโทรทัศน์จึงถ่ายทอดนายกฯปราศรัยวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา จึงไม่มีรัฐมนตรีคนไหนออกมาตำหนิ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นรัฐบาลที่เอาแต่ได้
เมื่อถามว่า ประเมินหรือไม่ว่าการชุมนุมในวันที่ 14 มี.ค.จะทำให้สถานการณ์วุ่นวายจบลง นายจุรินทร์ กล่าวว่า ไม่สามารถจะตอบอะไรล่วงหน้าได้ แต่เราเคารพการชุมนุมของประชาชน และคิดว่า ถ้านายกฯยังมีความพยามยามใช้วิธีเดิมเหมือนที่ทำมาก็ไม่ช่วยอะไรดีขึ้น เมื่อถามว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านจะออกแถลงการณ์ถึงนายกฯเพื่อให้ทราบถึงพฤติกรรมของนายกฯหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า คงทำยาก เพราะเราจะเห็นว่าเหมือนพฤติกรรมถาวรของนายกฯ ซึ่งทำอย่างนี้มาในทุกกลุ่ม
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทั้ง 3 พรรคประเมินหรือไม่ว่าเมื่อนายกฯยังเดินหน้าต่อไปอะไรจะเกิดขึ้นกับการเมืองไทย นายจุรินทร์ กล่าวว่า ถ้านายกฯยังคงเดินหน้าต่อไปโดยไม่ฟังเสียงของทุกฝ่าย ก็เป็นห่วงว่าสถานการณ์จะเดินไปสู่ไม่ความสงบแล้วนำไปสู่ความแตกแยกของสังคม ซึ่งต้องยอมรับว่านายกฯมีส่วนสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น
ส่วน นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอฝากไปยัง กกต.ว่า ในหลายพื้นที่ขณะนี้ที่มีผู้สมัครเพียงแค่คนเดียว มีความพยายามที่จะประสานหาผู้สมัครจากพรรคใหม่ทั้งหลายมาลงในพื้นที่ตัวเอง เพราะถือว่าชนะกัน 1 คะแนน ก็ไม่มีปัญหาเรื่องร้อยละ 20 เพราะคุณสมบัติของผู้สมัครใหม่จะติดปัญหาเรื่องภูมิลำเนา คุณวุฒิ และสังกัดพรรคครบ 90 วัน ซึ่งมีการไปรับรองจากผู้สมัครในพรรคการเมืองใหญ่ โดยมีการไปชักชวนว่าขอให้สมัครใจมาลงสมัคร เอกสารหลักฐานทุกอย่างดำเนินการเตรียมไว้ให้ครบถ้วนหมดแล้ว ซึ่งเรื่องสังกัดพรรค 90 วัน เป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ถ้ามีการบิดเบือน หรือปล่อยให้มีการทำทุจริตตรงนี้จะเสื่อมเสียต่อความเชื่อถือใน กกต.เป็นอย่างยิ่ง และในกรณีที่ผู้ใดได้รับความเสียหายในพื้นที่ไหน เขาก็ต้องติดใจในการทำงานของ กกต.
ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นในหลายจังหวัด โดยเฉพาะภาคใต้ เพราะพรรคการเมืองใหม่ที่จดทะเบียนใหม่ไม่มีสมาชิกในภาคใต้ เพราะมุ่งไปยังบางภาค วันนี้ในความพยายามที่จะป้องกันว่าสมาชิกของตนได้ไม่ครบ 20 เปอร์เซ็นต์ ในพื้นที่ภาคใต้ก็ได้พยายามชักชวนพรรคเหล่านี้ให้ส่งผู้สมัคร โดยจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายและเอกสารทั้งหมดให้ ถ้าเอกสารถูกต้องก็ไม่มีปัญหา แต่มีกี่คนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่นั้นถึง 2 ปี หรือมีกี่คนที่มีสมาชิกครบ 90 วัน ดังนั้น อาจมีการอาศัยข้อมูลของ กกต.มาบิดเบือนได้ ซึ่ง กกต.จะต้องบริสุทธิ์ ไม่เช่นนั้นตนจะติดตามการทำงานของ กกต.ด้วย นายพิเชษฐ กล่าว
ด้าน นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวถึงการลงไปสุพรรณบุรีของพ.ต.ท.ทักษิณ ว่า นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ไม่ได้อึดอัดอะไร เพราะเข้าใจตามที่นายกฯพูดถึง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ประธานกองทัพธรรมมูลนิธิ โดยเอาคำของพุทธทาสภิกขุ มาพูดว่ามันเป็นเช่นนั้นแหล่ะ ตนก็อยากจะพูดด้วยว่าการที่นายกฯไปที่สุพรรณบุรีและไปอาหารเย็นกับนายประภัตร โพธสุธน เลขาธิการพรรคชาติไทย นั้นไม่เกี่ยวกับพรรค เพราะวันนี้เราได้ทำความเข้าใจกับ 3 พรรค อย่างชัดเจนว่านั่นเป็นพฤติกรรมที่นายกฯกับนายประภัตร ในฐานะคนที่เป็นเพื่อนและคุ้นเคยกันไปมาหาสู่กัน
เราอยากจะขอวิงวอนท่านนายกฯ ว่า อยากให้ท่านละพฤติกรรมนี้เสีย ถ้าอยากจะใช้ความเป็นเพื่อนไปมาหาสู่กัน ก็รอให้กระบวนการเลือกตั้งจบไปเสียก่อน เพราะถ้าทำอย่างนี้ไม่ได้เกิดผลดีต่อประชาธิปไตย และที่สำคัญ เป็นการทำร้าย 3 พรรคที่ไม่ได้ส่งผู้สมัครด้วย เป็นการสร้างค่าและทำร้ายคนอื่น มันไม่วิสัยของสุภาพบุรุษที่ควรจะทำ รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าว
ขณะที่ นายนิกร จำนง รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า ตนสัมผัสกับพรรคการเมืองมามาก กรณีที่จะให้ครบ 20 เปอร์เซ็นต์ไม่ใช่เรื่องง่ายในหลายๆ พื้นที่ แต่มีกรอบอยู่ คือ การที่ลงสมัคร 2 พรรคแม้พรรคหนึ่งจะได้เสียงมา 1,000 เสียง แต่อีกพรรคได้ 200 เสียงตามกฎหมายก็ถือว่าชนะกันได้ ดังนั้น วิธีที่ง่ายกว่า คือ การหาพรรคที่สองลงในพื้นที่ที่จะหา 20 เปอร์เซ็นต์ให้ได้ ตรงนี้ความเป็นไปได้อย่างบางพรรคใน 8 พรรคที่ลงสมัครรับเลือกตั้งมีสมาชิก 5,913 คน ดังนั้น โอกาสที่จะมีสมาชิก เช่น ในพื้นที่ภาคใต้จะต้องมีภูมิลำเนาหรือเกิดอยู่ที่นั่น ทำงานหรือเรียนอยู่ที่นั่น 2 ปี และเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งอยู่ขณะนี้ครบ 90 วัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้ แต่วิธีที่จะทำได้ คือ ถ้ามีใครไปแก้ไขระบบซอฟต์แวร์ของ กกต.ที่ต้องมีการแจ้งยอดสมาชิกทุกเดือนอยู่แล้ว ถ้าสมมติว่าพรรคเหล่านั้นไม่แจ้ง ข้อมูลจะมีช่องเว้นว่าง ดังนั้น ขอร้องว่า อย่าให้ใครไปทำตรงนี้ขอให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะถ้าปรับจำนวนสมาชิกพรรคเข้าไปถือเป็นความผิดที่ยิ่งใหญ่ สามารถดักการเลือกตั้งได้ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็สามารถตรวจสอบได้อยู่ดี
เมื่อถามว่า คิดว่า จะมีใครเข้าไปแก้ไขข้อมูลตรงนี้หรือไม่ นายนิกร กล่าวว่า ถ้ามีใครเห็นช่องว่างตรงนี้ก็สามารถทำได้ แต่ด้วยความเชื่อถือฝ่ายทะเบียนของ กกต.เพราะขณะนี้ทราบว่าภาคใต้มีการแจ้งเข้ามาที่ส่วนกลางให้ช่วยตรวจสอบว่าเป็นสมาชิกซ้อนกันหรือไม่ ซึ่งมีจำนวนมาก และวันที่ 8 มี.ค.เป็นวันสุดท้ายของการรับสมัครก็จะทราบได้ อย่างไรก็ตาม ก็เชื่อว่า กกต.จะไม่ทำ