อภิสิทธิ์-กษิตให้ครอบครัวศิวรักษ์ตัดสินใจ พร้อมช่วยหากร้องขอ

เมื่อเช้าวันที่ 9 ธันวาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

เดินทางลงจังหวัดนราธิวาส เพื่อร่วมพิธีเปิดสะพานมิตรภาพไทย-มาเลย์ ที่ จ.นราธิวาส โดยมั่นใจการลงพื้นที่ครั้งนี้มีมากกว่าความหมายเชิงสัญลักษณ์
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงเรื่องคดีของ "ศิวรักษ์ ชุติพงษ์ " วิศวกรไทยว่า รัฐบาลพร้อมให้การช่วยเหลือ อยู่ที่ครอบครัวต้องตัดสินใจจะยื่นอุทธรณ์ หรือขออภัยโทษ  และไม่กังวลหากครอบครัวของศิวรักษ์ จะขอความช่วยเหลือจากพรรคเพื่อไทย รัฐบาลต้องการให้เจ้าตัวได้รับอิสรภาพ รัฐบาลชี้แจงเรื่องนี้ได้


ด้านนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันกระทรวงต่างประเทศพร้อมให้การช่วยเหลือ “ศิวรักษ์”วิศวกรไทย หากร้องขอ ส่วนเรื่องคดีให้ครอบครัวเป็นผู้ตัดสินใจจะดำเนินการอย่างไร

ก่อนหน้านี้ ผู้สื่อข่าวรายจากที่ทำการพรรคเพื่อไทยว่า เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 8 ธันวาคม

หลังจากศาลกัมพูชามีคำตัดสินลงโทษจำคุกนายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ พร้อมปรับเงิน 1 แสนบาท ปรากฏว่านางสิมารักษ์ ณ นครพนม มารดานายศิวรักษ์ ได้โทรศัพท์จากกัมพูชา มายังนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เพื่อแถลงข่าวผ่านการโฟนอิน โดยนางสิมารักษ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณสื่อและคนไทยทุกคนที่เป็นกำลังใจให้ครอบครัวตน หลังจากนี้คงไม่มีที่พึ่งใดอีกแล้วนอกจาก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย ให้ช่วยลูกของตนให้ได้รับอิสรภาพด้วยการขอพระราชทานอภัยโทษ โดยตนจะรีบส่งสำเนาคำพิพากษาทางแฟกซ์มายังพรรคเพื่อไทยในวันพรุ่งนี้ (9 ธ.ค.) เพื่อขอฝากให้นำส่งถึงพล.อ.ชวลิต ขณะที่คืนนี้ (8 ธ.ค.) ตนก็จะหารือกับทนายความถึงขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษ

               
"ขณะนี้สภาพจิตใจของคนในครอบครัวย่ำแย่ที่สุด คุณแม่กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เมื่อเห็นลูกถูกพันธนาการ สื่อมวลชนที่เฝ้าติดตามทำข่าวก็ได้ฟังอย่างหมดเปลือก สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดิฉันอดทนอดกลั้นมานานไม่เคยปริปากพูด จนกระทั่งลูกชายได้ให้การในชั้นศาล ดิฉันขอถามไปยังคุณคำรบ (นายคำรบ ปาลวัฒน์วิไชย เลขานุการเอกประจำสถานทูตไทย ในกัมพูชา) ด้วยว่าคุณไม่โทรศัพท์หาลูกชาย เขาก็คงไม่ตกอยู่ในสภาพนี้ ตอนนี้คุณคำรบหายไปอยู่ที่ไหนคะ มาช่วยกันรับผิดชอบด้วย แม่รับไม่ได้ที่เห็นลูกถูกใส่กุญแจมือ" นางสิมารักษ์ กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

               


ผู้สื่อข่าวถามถึงกระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษ นางสิมารักษ์ กล่าวว่า ตนเพิ่งออกจากห้องพิจารณาคดี ยังไม่ได้หารือกับทนายความ ทั้งนี้ ตนคงจะไม่อุทธรณ์เพราะจะทำให้ระยะเวลาการควบคุมตัวยืดออกไป


เมื่อถามว่ากระทรวงการต่างประเทศเตรียมขอพระราชทนอภัยยโทษให้ด้วย นางสิมารักษ์ กล่าวว่า ขอหารือกับทนายความก่อน ตนฝากความหวังทั้งกับกระทรวงการต่างประเทศและพล.อ.ชวลิต ขออย่าให้เข้าใจตนผิด ที่ผ่านมามีความขัดแย้งกันอย่างมาก อย่าทำให้นายศิวรักษ์เป็นต้นเหตุความขัดแย้งทางการเมือง ลูกชายเป็นคนไทย ดังนั้น คนไทยด้วยกันควรจะมาร่วมมือกันช่วยเหลือไม่ดีกว่าหรือ

               
เมื่อถามว่ามั่นใจในความช่วยเหลือของกระทรวงการต่างประเทศมากน้อยแค่ไหน นางสิมารักษ์ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศมีความขัดแย้งกับรัฐบาลกัมพูชา
ตนเกรงว่าจะเป็นอุปสรรคที่จะทำให้คดีเกิดความล่าช้าได้ วันนี้ตนและครอบครัวคำนึงอิสรภาพและสวัสดิภาพของลูกชายก่อนสิ่งอื่น แต่คนที่มีปัญหามาเจรจากัน โอกาสจะลำบากสักหน่อยหรือไม่แต่เราก็ไม่ทิ้งความช่วยเหลือในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ
เมื่อถามว่าต้องการให้นายคำรบออกมาแสดงความรับผิดชอบอย่างไร นางสิมารักษ์ กล่าวว่า "เรื่องนี้นายศิวรักษ์เป็นผู้บริสุทธิ์ ท่านจะปล่อยให้น้องเขารับกรรมแทนท่านหรือ ขอให้คุณคำรบออกมาแสดงความรับผิดชอบเสียหน่อย เพราะถ้าท่านไม่โทรศัพท์ไปหาเรื่องก็จะไม่เกิดขึ้น ตอนนี้นายศิวรักษ์ถูกคุมขังมาเกือบ 30 วัน มีสภาพร่างกายที่ทรุดโทรม ช่วงเวลาที่เห็นกันเขามองแม่ด้วยสายตาที่ตนบรรยายไม่ถูก"

               
จากนั้นนายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า วันนี้พล.อ.ชวลิต ได้โทรศัพท์มาแสดงความห่วงใย และที่ประชุมกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทยก็หารือในเรื่องการช่วยเหลือนายศิวรักษ์อย่างเต็มที่

แต่อยากให้คุณแม่เข้าใจว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของกัมพูชา แต่จะขอความอนุเคราะห์จากสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในการขอพระราชทานอภัยโทษให้นายศิวรักษ์ โดยจะยื่นในฐานะความสัมพันธ์ส่วนตัว ซึ่งอยู่ระหว่างหารือว่าจะดำเนินการยื่นผ่านสถานทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย หรือจะส่งตรงไปยังกัมพูชาเลย แต่ตนอยากขอร้องอย่านำเรื่องดังกล่าวมาเป็นประเด็นการเมือง

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า รัฐบาลมี 2 แนวทาง

ข้อแรกคือยื่นอุทธรณ์ ตามกระบวนการยุติธรรม และข้อสองยอมรับคำตัดสิน โดยรัฐบาลไทยจะยื่นขอพระราชทานอภัยโทษให้กับนายศิวรักษ์ในทันที  ซึ่งสองเรื่องนี้รัฐบาลจะดำเนินการทันทีหลังจากที่นายศิวรักษ์และครอบครัวตัดสินใจ 
เมื่อถามว่าความผิดของนายศิวรักษ์ครั้งนี้จะมีเจ้าหน้าที่ของไทยคนอื่นเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่  นายชวนนท์ กล่าวว่า ศาลตัดสินว่านายศิวรักษ์มีความผิดคนเดียว  ยังไม่ได้พูดถึงคนอื่นแต่อย่างใด เป็นการพิจารณาคดีตามปกติ เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหามีนายศิวรักษ์คนเดียว คนอื่นไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
 

เมื่อถามว่าการยื่นขอพระราชทานโทษ โดยปกติใครจะเป็นผู้ยื่นขอ นายชวนนท์กล่าวว่า กล่าวว่า ตามปกติ ก็จะมีเจ้าตัว ญาติพี่น้อง และรัฐบาลที่สามารถดำเนินการได้ ส่วนประธานพรรค พท.จะยื่นขอได้หรือไม่นั้นต้องตรวจสอบกฎหมายของกัมพูชาต่อไป แต่คิดว่ายื่นโดยใครไม่ใช่สาระหลักเพราะจะมีการดำเนินการแน่นอน 
 

นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่พรรค พท.เตรียมขออภัยโทษให้นายศิวรักษ์นั้น

อยากถามว่าพรรค พท.เป็นญาติกับนายศิวรักษ์หรือ เพราะการขออภัยโทษของกัมพูชาก็เหมือนของไทยคือต้องให้ญาติสนิทเป็นผู้ขอเท่านั้น หากมารดานายศิวรักษ์เลือกใช้บริการพรรค พท. รัฐบาลก็ไม่ถือว่าเสียหน้าอะไร เพราะหน้าที่ของรัฐบาลคืออำนวยสะดวกในต่อสู้คดี


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์