ตามดูธุรกิจตระกูลชิน วันทักษิณพลัดถิ่น ในลอนดอน

แหล่งที่มา ทีมข่าวเฉพาะกิจ หนังสือพิมพ์มติชน

ตึกชินวัตร 3 ถนนวิภาวดีรังสิต (ภาพเล็ก) ตึกชินวัตร 1 และ 2







พลันที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ทำการยึดอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขณะที่เดินทางไปประชุมต่างประเทศนั้น

นอกจากรถถังและกำลังทหารจะเข้าคุมเข้มตามสถานที่สำคัญๆ ต่างๆ เช่น สถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ กรมประชาสัมพันธ์ และสถานที่ราชการแล้ว


วันรุ่งขึ้นที่ตั้งของบรรดาธุรกิจของตระกูลชินวัตร ก็ถูกควบคุมด้วยเช่นกัน

ท่ามกลางความสับสนที่ยังไม่แน่ชัดว่าอะไรเป็นอะไรนั้น ผู้สื่อข่าวมติชนตระเวนดูบรรยากาศที่เกิดขึ้นกับธุรกิจที่รู้จักกันว่าเป็นของตระกูลชินวัตร หรือตระกูลชินวัตรมีหุ้นส่วนร่วมด้วย

โดยเริ่มจาก ร้าน she@mood สยามสแควร์ ซอย 11 เป็นตึกแถวสองชั้น
ซึ่ง นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ร่วมหุ้นลงทุนเปิดร้าน เป็นร้านขายกาแฟและเป็นสตูดิโอถ่ายภาพ มีห้องสตูดิโอถ่ายภาพทั้งหมด 8 ห้อง มีอินเตอร์เน็ตเปิดให้บริการด้วย ช่วงแรกๆ นั้นได้รับการต้อนรับและอุดหนุนจากบรรดาวัยรุ่นขาโจ๋เมืองไทยอย่างหนาตา แต่ต่อมาก็เงียบเหงาลงตามลำดับ

สำหรับช่วงเวลาที่คนเป็นพ่อถูกยึดอำนาจ บรรยากาศของร้านแห่งนี้ดูเงียบเหงา ซบเซา ไม่มีลูกค้าเหมือนเคย ส่วนใหญ่จะไปใช้บริการในร้านถ่ายรูปสตูดิโอซอยถัดไปมากกว่า


ออกจากสยามสแควร์ซอย 11 ไปที่สยามพารากอน ซึ่งเปิดตัวไปได้ไม่นานเท่าไหร่ นายพานทองแท้หอบเงินก้อนใหญ่ไปลงทุนทำธุรกิจซื้อพื้นที่ของห้างเปิดร้านขายโทรศัพท์มือถือ ยี่ห้อ "เวอร์ทู"



แรกๆ ข่าวคราวของร้านก็ดังกระหึ่ม เพราะเป็น "ของเล่นชิ้นใหม่" ของบรรดาลูกเศรษฐี คนที่เข้าไปซื้อหาและใช้บริการก็จะระดับคนมีสตางค์ทั้งนั้น แต่พอเกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจของเหล่าทหาร ร้านรวงร้านอื่นๆ เขาเปิดตามปกติ แต่ปรากฏว่าร้านของนายโอ๊คคนนี้ "ปิดร้าน"

สอบถามจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับร้านดังกล่าว ทราบว่าร้านโทรศัพท์มือถือเวอร์ทู ปิดร้านไม่เปิดขายหลังเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติ และไม่รู้ว่าจะเปิดให้บริการอีกเมื่อไหร่ สภาพที่เจ้าหน้าที่ รปภ.เห็น คือ ไม่ค่อยมีลูกค้าเท่าไหร่ เงียบๆ

จากย่านห้างหรู มติชน ไปสังเกตการณ์ต่อที่ตึกชินวัตร 1

ตึกชินวัตร 3 ถนนวิภาวดีรังสิต (ภาพเล็ก) ตึกชินวัตร 1 และ 2


ซึ่งอยู่ที่ปากซอยสายลม ตรงข้ามกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ถนนพหลโยธิน เป็นอาคารสำนักงานให้เช่า ซึ่งมีบริษัทร้านค้าต่างๆ เข้าไปเช่าอยู่เต็ม

สภาพที่เห็นร้านค้า อาคาร สำนักงาน บริษัทยังคงคึกคัก เข้าออกตามปกติ ไม่มีทหารไปควบคุม อย่างไรก็ตาม ยังมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยอยู่ตามปกติ


ต่อจากนั้น ไปที่ตึกชินวัตร 2 ตั้งอยู่เยื้องๆ สน.บางซื่อ หรือย่านสะพานควาย เป็นตึกขนาดใหญ่สูงหลายสิบชั้น และเป็นที่ตั้งของสำนักงานเอไอเอส หรือบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น

และมีบริษัทลูกในเครือของชินคอร์ปตั้งอยู่หลายสิบบริษัท แต่ก็ยังมีพื้นที่ให้บริษัทอื่นๆ เช่าด้วย รวมทั้งมีธนาคารตั้งให้บริการด้วย

สำหรับตึกแห่งนี้ ปรากฏว่า มีทหารถือปืนเข้าควบคุมรักษาการณ์อยู่ เป็นนายทหารทั้งหมด 13 นาย กระจายกันดูโดยรอบ และรถยีเอ็มซี 1 คัน

เมื่อเข้าไปในอาคาร พบว่า สำนักงานต่างๆ ยังเปิดให้บริการตามปกติ การรักษาความปลอดภัยไม่ได้เข้มงวดมากนัก ผู้คนยังเฉยๆ ไม่ได้แตกตื่น ตระหนกกับเหตุการณ์ที่มีทหารเข้ามาดูแล ทุกอย่างเป็นไปตามปกติที่เคยเป็น






ต่อมาเดินทางไปที่ตึกชินวัตร 3 ที่ถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี และเคยเป็นที่ตั้งของพรรคไทยรักไทยเก่า


เดิมทีอาคารนี้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของชินคอร์ป ดูแลอย่างเข้มงวด แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจ ทางคณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้ส่งทหารไปควบคุมและดูแลความสงบเรียบร้อนจำนวน 30 นาย โดยเฉพาะตึกที่ทำการของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี มีทหารขึ้นไปคุมที่กอง

บรรณาธิการข่าว ภายในอาคาร ส่วนภายนอกอาคารมีการรักษาความปลอดภัยอย่างหนาแน่น ประชาชนที่จะเข้าไปภายในอาคารต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบทุกครั้ง คนที่เข้า-ออกต้องได้รับการตรวจสอบ ว่าจะไปพบใคร และทำธุระอะไร แล้วต้องแลกบัตรเพื่อเข้าไปในอาคาร

บรรยากาศของอาคารชินวัตร 3 ดูเคร่งเครียดกว่าทุกที่ เพราะมีสื่อเครื่องมือของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ตั้งอยู่ จึงได้รับการตรวจเข้มกว่าที่อื่นๆ


จุดต่อไปเป็นบริษัทไทยคม

บริษัท ดาวเทียม ไทยคม และหน้าร้านกาแฟ ที่สยามสแควร์


ตั้งอยู่ที่ถนนรัตนาธิเบศร์ ตรงข้ามศาลากลางใหม่ของจังหวัดนนทบุรี ซึ่งที่แห่งนี้มีกำลังทหารเข้าดูแลจำนวนมากเกือบ 100 นาย ใช้เป็นที่พักของทหารที่เข้ายึดอำนาจอีกจุดหนึ่ง มีการตั้งเต๊นท์เฝ้า และกำลังเวรยามผลัดเปลี่ยนกัน ตั้งด่านกั้นตรวจสอบรถที่จะวิ่งเข้าสู่เขตชั้นในของกรุงเทพมหานคร

อย่างไรก็ตาม ยังเปิดให้พนักงานของบริษัทเดินทางเข้า-ออกไปทำงานตามปกติ เพียงแต่ต้องตรวจสอบอย่างเข้มงวดเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้สั่งปิดหรือห้ามเข้า-ออก

เมื่อเข้าไปสอบถามเจ้าหน้าที่บริษัทไทยคมภายใน ทุกคนปิดปากเงียบเพราะไม่แน่ใจว่าจะเกิดผลอย่างไร


นอกเหนือจากที่ได้เดินทางไปสำรวจแล้ว ยังมีบริษัทอื่นๆ อีกมากมายที่ตระกูลชินวัตรเข้าไปถือหุ้น หรือมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการ


อาทิ บริษัท นิวโอ๊ค จำกัด ที่ตั้ง 426/4 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400 จดทะเบียนวันที่ 16 มิถุนายน 2546, บริษัท โอคานิท จำกัด ตั้งอยู่ที่ 414 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. วันที่จดทะเบียน 9 มกราคม 2547 เป็นธุรกิจประเภทให้บริการร้านกาแฟเครื่องดื่ม,

บริษัท ฮาวคัม มีเดีย จำกัด ตั้งอยู่ที่ 414 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. วันที่จดทะเบียน 30 เมษายน 2547 เป็นธุรกิจประเภทให้บริการสื่อโฆษณา,

บริษัท ฮาวคัม เอวี จำกัด จดทะเบียนวันที่ 4 ตุลาคม 2547 เป็นธุรกิจประเภทธุรกิจบันเทิงและสันทนาการ ตั้งอยู่ที่ 17/1 ซอยลาดพร้าว 93 ถนนลาดพร้าว แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร 10310

ส่วนมากธุรกิจเหล่านี้อยู่ในความดุแลของลูกชายหัวแก้วหัวแหวน นายพานทองแท้ ชินวัตร คนที่ พ.ต.ท.ทักษิณโอนหุ้นให้เป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้วยังมีธุรกิจประเภทอื่นๆ อีกมาก ซึ่งอยู่ในการดูแลของคนใกล้ชิด

กิจการเหล่านี้จะกำไร ขาดทุน เจริญรุ่งเรืองแค่ไหน ยังไม่ทราบ แต่ที่ทราบคือกำลังทหารเข้าควบคุมดูแลในบริษัทที่สำคัญๆ เพื่อตรวจสอบต่อไป

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์