"อานันท์"นำทีมกก.4ฝ่ายลงพื้นที่มาบตาพุด ฝ่ายหนุนฟ้อง"กลิ่นแรง" ฝ่ายค้านโวยธุรกิจแย่นักท่องเที่ยวหาย เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วยนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายชายน้อย เผื่อนโกสุม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น (PTTAR) และนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) พร้อมคณะกรรมการที่เหลือได้ลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและรับฟังข้อคิดเห็นจากภาคประชาชนทั้งที่ต่อต้านและสนับสนุนการดำเนินโครงการของ 76 โครงการ ที่ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่มีปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ได้เดินทางถึงศาลผู้สูงอายุ หมู่ 1 ต.บ้านแลง อ.เมือง จ.ระยอง โดยช่วงแรกมีชาวบ้านจาก 5 พื้นที่ ประกอบด้วย 1.ชาวบ้านเขตเทศบาลนครระยอง 2.ชาวบ้านตำบลตะพง 3.ชาวบ้าน ต.เชิงเนิน 4.ชาวบ้าน ต.บ้านแลง และ 5.ชาวบ้าน ต.นาขวัญ รวมประมาณ 100 คน ร่วมทำข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ก่อนเริ่มรับฟังข้อคิดเห็น
"อานันท์"ควง"กอร์ปศักดิ์"พร้อมกก.4ฝ่ายลงพื้นที่มาบตาพุดฟังเสียงความเห็น76โครงการ ยันทำงานเป็นอิสระ ฝ่ายบริหารชี้นำไม่ได้ ยันทุกฝ่ายต้องเดินหน้าด้วยกัน ไม่ใช่ถอยคนละก้าว ฝ่ายค้านอ้างปัญหากลิ่นเป็นพิษทำลายสุขภาพ ฝ่ายหนุนโวยเสียหายหนักนักท่องเที่ยวหาย
ทั้งนี้ นายอานันท์ได้กล่าวกับชาวบ้านว่า ขณะนี้กรอบระยะเวลา 4 สัปดาห์ในการทำงานของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เพื่อพิจารณาหามาตรการชั่วคราวเพื่อนำมาคัดแยกโครงการที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และชุมชน เหลืออีกเพียง 2 สัปดาห์ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะออกเป็นประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ จะระบุระเบียบการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีไอเอและเอชไอเอ) และองค์การอิสระ หลังจากได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านร่วมแสดงความเห็น
โดยนายดวง ศิริภักดี ตัวแทนชาวบ้าน ต.บ้านแลง กล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับปัญหามลพิษเรื่องกลิ่นที่ทำลายสุขภาวะของประชาชน โดยทำให้ประชาชนในพื้นที่เจ็บป่วยและเข้าโรงพยาบาลเกือบทุกวัน แต่ไม่ชัดเจนว่ามาจากปัญหาอุตสาหกรรมหรือไม่ พร้อมเรียกร้องให้ดูแลปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้ค้านกลุ่มโรงงานที่ยังดำเนินกิจการอยู่ในพื้นที่มาบตาพุด แต่ขอให้แก้ปัญหาเรื่องกลิ่น เพราะหากอยู่ได้ก็ขอให้ชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ได้ด้วย ปัญหาดังกล่าวประชาชนไม่ได้เสแสร้ง เพราะมีปัญหากลิ่นเหม็นตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน อยากให้ประธานคณะกรรมการ 4 ฝ่ายดำเนินการเรื่องอุปกรณ์ทางการแพทย์ สถานพยาบาล และแพทย์เข้ามาตรวจสอบอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และได้เสนอให้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดอากาศในแต่ละจุดด้วย
ด้านนายอานันท์กล่าวว่า ปัญหาที่ได้รับฟังครั้งนี้ไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ เพราะไม่ได้เกิดเฉพาะพื้นที่มาบตาพุดเท่านั้น แต่เกิดปัญหาเช่นนี้มาแล้วทั่วโลก แต่สำหรับประเทศไทยมีจุดอ่อนคือ เรื่องกรณีศึกษาเมื่อมีข้อมูลเรื่องกลิ่นหรือมลภาวะ แต่เมื่อไม่มีหลักฐานก็ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ประเทศไทยจึงต้องอาศัยภาคการศึกษาเป็นตัวช่วย เพราะเมื่อเทียบกับต่างประเทศจะมีมาตรฐานที่ต่างกัน เพราะมีองค์กรวิจัยในการเข้ามาตรวจวัดและดำเนินการ
นายอานันท์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยเริ่มมีปัญหาก็ต้องแก้ไข ในขณะที่รัฐก็มีความยุ่งยากในการทำงาน เพราะมีกรอบการทำงานหลายขั้นตอน โดยเฉพาะปัญหาหลายอย่างที่เกิดที่มาบตาพุด ถือว่าไม่ใช่เรื่องที่แปลก ดังนั้น จึงไม่อยากให้มองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เลวร้ายเหลือเกิน แต่ควรมีการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยพิจารณาจากต่างประเทศที่เคยเกิดปัญหาเป็นตัวอย่าง ทั้งประเทศญี่ปุ่น ฮอลแลนด์ แคนนาดา จึงไม่ได้บอกให้ประชาชนจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับอุตสาหกรรม แต่จะทำอย่างไรให้ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถเดินหน้าไปด้วยกันได้ และไม่ใช่แบบถอยคนละก้าว
นายอานันท์กล่าวว่า คณะกรรมการ 4 ฝ่ายทำงานด้วยความอิสระ นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีก็ไม่สามารถสั่งหรือชี้นำได้ โดยสิ่งที่ทำไม่มีอคติใดๆ คณะกรรมการยึดรัฐธรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 ดังนั้น กฎหมายมาตรานี้จะต้องบังคับใช้แน่นอน โดยหลักการจะต้องไม่เปลี่ยนแปลง แต่วิธีการอาจจะยืดหยุ่นได้ โดยมีแนวทางร่วมกัน รับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่เพื่อหาเสียงหรือหาผลประโยชน์ใดๆ อย่างไรก็ตาม ก่อนลงพื้นที่ได้คุยกับผู้ประกอบการที่ดำเนินการก่อสร้าง 70-80% แล้ว โดยผู้ประกอบการหลายราย ได้รับปากว่า หากตรวจสอบแล้วมีมลพิษก็จะดำเนินการแก้ไข ดังนั้น เกมครั้งนี้ไม่มีใครชนะหรือแพ้ แต่จะหาข้อสรุปร่วมกันเพื่อให้อยู่ร่วมกันและชนะกันทั้ง 2 ฝ่าย
จากนั้นเวลา 18.00 น. นายอานันท์และคณะกรรมการได้เดินทางถึงโรงแรมภูริมาศ บีช แอนด์สปา จ.ระยอง โดยที่โรงแรมมีประชาชนที่ให้การสนับสนุนการดำเนินกิจการในพื้นที่มาบตาพุดร่วมเสนอความเห็น โดยนายสุทธา เหมสถล นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม อำเภอบ้านฉาง-มาบตาพุด กล่าวว่า ผลกระทบจากคำสั่งศาลปกครองทำให้การประกอบธุรกิจในพื้นที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะกลุ่ม ผู้ประกอบอาชีพประมงและร้านอาหาร เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการ หลังมีกระแสข่าวว่าอาหารทะเลมีสารพิษปนเปื้อนทำให้ธุรกิจในพื้นที่ได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ตาม ประชาชนในพื้นที่ยังให้ความเชื่อมั่นต่อคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ว่าจะไม่ทำให้เศรษฐกิจชุมชนล้มตายภายในชั่วพริบตาเดียว นอกจากนี้ประเด็นการตั้งคณะกรรมการอิสระที่ผ่านมาไม่มีประชาชนในพื้นที่ได้เข้าไปเป็นตัวแทน จึงเรียกร้องให้คณะกรรมการ 4 ฝ่ายเปิดทางให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย
"พวกเรากำหนดชะตาชีวิตตัวเองไม่ได้หรือ เพราะการทำอีไอเอและเอชไอเอ การทำประชาพิจารณ์และความเห็นต่อองค์การอิสระ คนในพื้นที่จริงมีความเห็นอย่างไร ไม่มีส่วนในกรรมการเหล่านี้เลย" นายสุทธากล่าว
ด้านนายอานันท์กล่าวชี้แจงว่า ขอทำความเข้าใจกับทุกคนว่า คณะกรรมการ 4 ฝ่าย ถูกแต่งตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาตามมาตร 67 วรรค 2 ดังนั้น จึงไม่มีกลุ่มประชาชนที่ให้การสนับสนุนการดำเนินกิจการในพื้นที่มาบตาพุด เพราะไม่มีปํญหากับโครงการทั้ง 76 โครงการ
"กรรมการอิสระมีขอบเขตการทำงานที่ชัดเจน และไม่มีส่วนในการตัดสินใจซึ่งเป็นอำนาจของรัฐบาล เพียงแต่เป็นฝ่ายประสานเพื่อนำเสนอกรรมการ และเข้ามาทำกระบวนการอีไอเอ เอชไอเอ เท่านั้น" นายอานันท์กล่าว
อานันท์นำทีมกก.4ฝ่ายลงพื้นที่มาบตาพุด ฝ่ายหนุนฟ้องกลิ่นแรง ฝ่ายค้านโวยธุรกิจแย่นักท่องเที่ยวหาย
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง อานันท์นำทีมกก.4ฝ่ายลงพื้นที่มาบตาพุด ฝ่ายหนุนฟ้องกลิ่นแรง ฝ่ายค้านโวยธุรกิจแย่นักท่องเที่ยวหาย