อดีตคตส.ขึ้นเบิกความคดียึดทรัพย์ เผยอดีตนายกฯ มีพฤติการณ์เอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจส่วนตัวถึง 5 โครงการ เป็นการทรยศประชาชน "สัก" แฉซ้ำใช้อำนาจสั่งการให้เอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้พม่าให้ประโยชน์พวกพ้อง เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 1 ธันวาคม ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายสมศักดิ์ เนตรมัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา
เจ้าของสำนวนยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมองค์คณะ รวม 9 คน ไต่สวนพยานคดีที่อัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอศาลสั่งให้ทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัวรวมทั้งผู้มีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์ รวม 22 ราย จำนวน 76,000 ล้านบาทเศษ พร้อมดอกผลให้ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ โดยใช้อำนาจหน้าที่ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เอื้อประโยชน์ธุรกิจส่วนตัว
อัยการนำนายบรรเจิด สิงคะเนติ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ขึ้นเบิกความในฐานะผู้รับผิดชอบตรวจสอบประเด็นการใช้อำนาจหน้าที่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ
มีพฤติการณ์เอื้อประโยชน์ให้บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว รวมทั้งธุรกิจของพวกพ้อง 5 กรณี ได้แก่ การแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต, โทรศัพท์ระบบพรีเพด โรมมิ่ง, เอ็กซิมแบงก์ และชินแซทเทลไลท์ โดยนายบรรเจิดเบิกความให้ศาลเห็นพฤติการณ์เอื้อประโยชน์ในกรณีต่างๆ อย่างไร อีกทั้งมองได้ว่าเป็นการใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ด้านต่างๆ ถือเป็นการทรยศประชาชน
นายบรรเจิดเบิกความกรณีโทรศัพท์มือถือระบบพรีเพด เริ่มตั้งแต่มีการแก้ไขสัญญาครั้งที่ 6 ที่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค
ขอแก้ไขค่าบริการระบบพรีเพด เป็นเหตุให้เอไอเอสถือเป็นเหตุขอลดบ้าง แต่ไม่เหมือนกัน เพราะดีแทคต้องเสียค่าเอ็กเซ็ปให้รัฐ ต่างกับเอไอเอสที่ไม่เสีย คตส.จึงมองว่าไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องแก้ไขสัญญากับเอไอเอส และไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ ส่วนกรณีโรมมิ่งนั้น เอไอเอสเริ่มขอแก้สัญญาสัมปทานครั้งที่ 7 อ้างเหตุว่าได้คลื่นความถี่จำกัด การขยายบริการต้องขอเชื่อมต่อโรมมิ่งกับเครือข่ายอื่น แล้วนำค่าบริการโรมมิ่งไปหักจากรายได้อ้างว่าเป็นค่าใช้จ่าย ก่อนนำรายได้ส่งเข้ารัฐ โดยเจ้าหน้าที่ของทีโอทีมองว่าไม่สามารถทำได้ แต่เมื่อเรื่องถึงบอร์ดอนุมัติให้หักได้ คตส.มองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ เนื่องจากเอไอเอสถือหุ้นบริษัทที่ให้บริการโครงข่ายที่เอไอเอสใช้อยู่ถึง 90% จึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง ทำให้รัฐเสียหาย
อดีตคตส.เบิกความคดียึดทรัพย์ ซัดแม้วทรยศปชช.
นายบรรเจิดเบิกความถึงกรณีชินแซทฯว่า การยิงดาวเทียมไอพี สตาร์ไม่ถูกต้องตามหลักสัญญา เพราะเมื่อยิงดาวเทียมไทยคม 3 ขึ้นไปแล้ว ต้องยิงดาวเทียมไทยคม 4 ขึ้นไปเป็นดาวเทียมสำรอง
แต่มีการปรับเปลี่ยนนำดาวเทียมไอพี สตาร์ ขึ้นไปแทน ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดสัญญา เพราะดาวเทียมไอพี สตาร์ เป็นดาวเทียมเพื่อการค้าไม่มีคลื่น ซียูแบน เหมือนไทยคม 3 คตส.จึงมองว่าการยิงดาวเทียมไอพี สตาร์ ขึ้นไปเพื่อไม่ต้องการทำสัญญากับรัฐใหม่ นอกจากนี้ยังมีการแก้ไข พ.ร.บ.โทรคมนาคมเปิดทางให้คนต่างด้าวเข้ามาถือหุ้นเป็นเจ้าของในบริษัทไทยได้ ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่า มีการประกาศในราชกิจจานุเษกษาในวันที่ 20 มกราคม 2549 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 มกราคม 2549 และมีการขายหุ้นชินคอร์ปให้ต่างชาติ (กองทุนเทมาเส็ก) ในวันที่ 23 มกราคม 2549 ซึ่งเหตุที่ต้องแก้ไขเนื่องจากเงินซื้อขายหุ้นมีมูลค่ามหาศาล จึงต้องการให้ต่างชาติมั่นใจ เป็นการเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจ อาศัยช่วงเวลาที่รัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภาแก้ไขกฎหมาย
ช่วงบ่าย นายสัก กอแสงเรือง อดีต คตส. เบิกความสรุปว่า
ในการไต่สวนอนุ คตส.พิจารณารายละเอียดว่าระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกฯใช้อำนาจสั่งการให้เอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้ให้ประเทศพม่า และใช้ช่องทางการเจรจาระหว่างประเทศเอื้อประโยชน์ให้ตนเอง โดยในการประชุมอาเซียน-พุกามครั้งนั้น พ.ต.ท.ทักษิณนำนายพานทอง ชินวัตร บุตรชาย ที่ถือหุ้นชินคอร์ป และเจ้าหน้าที่บริษัท เอไอเอส และชินแซทฯ รวม 10 คน ไปสาธิตการให้บริการโทรศัพท์มือถือระบบจีเอสเอ็มที่หน้าห้องประชุม จากนั้นมีการติดต่อผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ขอกู้เงินใช้ในกิจการโทรคมนาคม ข้อตกลงเดิมจะให้กู้ 3,000 ล้าน แต่ภายหลังเพิ่มเป็น 4,000 ล้านบาท ครม.ก็อนุมัติให้ คิดดอกเบี้ยเพียง 3% แต่เอ็กซิมแบงก์ต้องไปกู้มาเสียดอกเบี้ย 5% จึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง ทำให้รัฐเสียหายมูลค่า 600 ล้านบาท
ระหว่างการพิจารณา ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนได้ชี้แจงคู่ความกรณีหนังสือพิมพ์ลงข่าวทำนองว่าวันที่ 15 ธันวาคม กำหนดนัดไต่สวนครั้งสุดท้าย
และศาลอาจไม่อนุญาตให้เพิ่มวันไต่สวน และอาจต้องตัดพยานบางปากออกไปนั้นไม่เป็นความจริง ศาลยังไม่ได้กำหนดนัดวันนัดไต่สวนพยานครั้งสุดท้าย อัยการผู้ร้องแถลงไม่ประสงค์ตัดพยาน โดยนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีต รมว.ต่างประเทศ พร้อมจะเข้าเบิกความในวันที่ 22 ธันวาคม เวลา 09.30 น. ศาลนัดไต่สวนพยานครั้งต่อไปในวันที่ 3 ธันวาคม เวลา 09.30 น.