เบื้องลึกคืนดาบ คุณหญิงจารุวรรณ ฟันทุจริต ทักษิณ แสนล้าน

จากมติชน



ภายหลังคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ภายใต้การนำของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต่อมาคณะปฏิรูปฯได้ออกประกาศฉบับที่ 12 ปลดคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และให้ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอยู่ในตำแหน่งต่อไป และมีอำนาจหน้าที่แทน คตง.


เบื้องหลังแต่ละช่วงแต่ละตอนของปรากฏการณ์ดังกล่าวมีความเป็นมาดังนี้



ในช่วงที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากระบวนการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไม่ถูกต้อง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

(คตง.) ที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลแสดงความเป็นปฏิปักษ์มิให้คุณหญิงจารุวรรณกลับเข้ามาทำหน้าที่ใน สตง. โดยเฉพาะบทบาทของ นางรวีพร คูหิรัญ ภรรยา นายวิบูลย์ คูหิรัญ อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นไม้เบื่อไม้เมากับคุณหญิงจารุวรรณมาโดยตลอด


เมื่อต่อต้านไม่สำเร็จ คุณหญิงจารุวรรณกลับเข้าประจำการ คตง.ในชุด นายนรชัย ศรีพิมล เป็นประธานซึ่งมีอยู่ 10 คน (ไม่รวมผู้ว่าการ สตง.) แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย


ฝ่ายแรกถูกมองว่าเป็น คตง.สายรัฐบาล 7 เสียง และฝ่ายที่สนับสนุนการทำงานของ สตง.มีด้วยกัน 3 เสียง ฝ่ายแรกแสดงความคิดเห็นเชิงคัดค้านการทำหน้าที่ของคุณหญิงจารุวรรณอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง ทำให้ที่ผ่านมาการทำงานของ สตง.มีความยากลำบากในการเข้าตรวจสอบโครงการต่างๆ และความลับในที่ประชุมมักถูกนำไปแจ้งแก่บุคคลภายนอก โดยเฉพาะหน่วยงานที่กำลังถูกตรวจสอบ


ฟางเส้นสุดท้ายก็คือในการประชุม คตง. ปลายเดือนสิงหาคมมีความพยายามแต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อมาคานอำนาจของผู้ว่าการ สตง.

ประกอบด้วย พลโท จุล อดิเรก อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, นายไกรสร บารมีอวยชัย รองปลัดกระทรวงยุติธรรม, นายคัมภีร์ แก้วเจริญ อดีตอัยการสูงสุด, ศาสตราจารย์พิเศษ ประสบสุข บุญยเดช อดีต ผู้พิพากษา, นายอภิชัย จันทรเสน ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายธนาคารกสิกรไทย, นายสงขลา วิชัยขัทคะ กรรมการร่างกฎหมายประจำสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ดร.ศุภรักษ์ พินิจภูวดล อดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


แต่ได้ถูกทักท้วงจากคุณหญิงจารุวรรณ เนื่องจากเห็นว่าวัตถุประสงค์ของการตั้งกรรมการชุดนี้มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

คุณหญิงจารุวรรณ


อีกทั้งตัวบุคคลที่เสนอชื่อมานั้นหลายคนเป็นผู้บริหารในหน่วยราชการที่จะต้องถูก สตง.เข้าตรวจสอบการบริหารงบประมาณในฐานะหน่วยรับตรวจ แต่กลับให้มาเป็นที่ปรึกษากฎหมาย คตง. เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน และอาจทำให้ความลับทางราชการถูกเปิดเผย


โดยเฉพาะกรณีของ นายไกรสร บารมีอวยชัย รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะบอร์ดของบริษัท กสท โทรคมนาคม ซึ่งกำลังถูกตรวจสอบ

กรณีการให้บริการเซลลูล่าร์ CDMA ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคของ กสทฯ ให้กับกลุ่มฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย หรือฮัทช์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกในเครือของนักธุรกิจสิงคโปร์ ลี กา ซิง

ว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 หรือไม่ และผู้บริหาร กสทฯก็พยายามบ่ายเบี่ยงที่จะชี้แจงกับ สตง.มาโดยตลอด


ปรากฏว่ากรรมการ คตง.บางคน เช่น นาง รวีพร คูหิรัญ ยืนยันว่าจะต้องมีการแต่งตั้งให้ได้

แต่คุณหญิงจารุวรรณก็ยังคัดค้านว่าเหตุใดจึงไม่มีคนของ สตง.อยู่ด้วย จึงเสนอชื่อ นายพิศิษฐ์

ลีลาวชิโรภาศ ผู้อำนวยการสำนักสอบพิเศษ สตง. ที่เป็นหัวหน้าทีมสอบผู้บริหารกรมสรรพากรเรื่องการไม่เรียกเก็บภาษีการขายหุ้นแอมเพิลริชของครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ คตง.หลายคนคัดค้านไม่ยอมให้นายพิศิษฐ์ร่วมเป็นที่ปรึกษาชุดนี้ จนสุดท้าย คตง.ได้ลงมติด้วยเสียงข้างมากแต่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว โดยไม่มีคนของ สตง.ร่วมเป็นที่ปรึกษาแต่อย่างใด


มีข้อมูลระบุว่า ก่อนเหตุการณ์ยึดอำนาจของคณะปฏิรูป 2 วัน คุณหญิงจารุวรรณสั่งคนใกล้ชิดว่า ให้เร่งจัดเตรียมข้อมูลทุจริตโครงการของรัฐบาลไว้ให้พร้อม

คุณหญิงจารุวรรณ


เพราะเร็วๆ นี้อาจจะต้องเข้ามาช่วยกันตรวจสอบโดยเร็ว ขณะเดียวกันในวันที่มีการทำรัฐประหารมีกระแสข่าวว่าคุณหญิงจารุวรรณหลบไปอยู่ในเซฟเฮาส์แห่งหนึ่งภายใต้ความคุ้มครองของทหาร


เมื่อคณะปฏิรูปฯยึดอำนาจสำเร็จ คุณหญิง จารุวรรณเดินทางไปรายงานตัวที่กองบัญชาการกองทัพบกและพบ พล.อ.สนธิอย่างน้อยสองครั้ง



แม้ พล.อ.สนธิจะยืนยันว่า คณะปฏิรูปฯไม่มีแนวคิดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน พ.ต.ท.ทักษิณและพวก แต่คำพูดที่ พล.อ.สนธิกล่าวในวันแถลงข่าวเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2549 ว่า

"ให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย" นั้น มีการคาดหมายกันว่า พล.อ.สนธิอาจจะใช้อำนาจผ่านคุณหญิงจารุวรรณและ สตง.ในการตรวจสอบ ทุจริตการบริหารงานของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มน้ำหนักของเหตุผลในการทำรัฐประหาร


แต่การที่จะเช็กบิล พ.ต.ท.ทักษิณได้ ต้อง เช็กบิลเครือข่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณที่อยู่ในองค์กรตรวจสอบก่อน และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงต้องปลด คตง.


ขณะที่คุณหญิงจารุวรรณได้ให้ สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 21 กันยายนภายหลังจากมีคำสั่งปลด คตง.ว่า

ได้เตรียมสรุปผลการตรวจสอบการสั่งซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด หรือซีทีเอ็กซ์ 9000 มูลค่า 1,400 ล้านบาท ที่ติดตั้งที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อเสนอต่อคณะปฏิรูปฯภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ โดยเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องมีการดำเนินการและอยู่ระหว่างการตรวจสอบของ สตง.อยู่แล้ว

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า การก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิยังมีโครงการที่ส่อเค้าทุจริตหลายเรื่อง ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบของ สตง. เช่น ครัวการบินไทย คลังสินค้า แอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งจะมีการสรุปผลออกมาในเร็วๆ นี้ รวมไปถึงโครงการอีกหลายโครงการของรัฐบาล อาทิ บ้านเอื้ออาทร ที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ การบริจาคเงินสึนามิ ทั้งที่มีการบริจาคเข้ามามากแต่กลับมีการร้องเรียนว่าเงินบริจาคได้รับไม่ทั่วถึง เป็นต้น

แหล่งข่าวจาก สตง.เปิดเผยว่า มีหลักฐานว่าโครงการประชานิยมโครงการหนึ่งใช้เงินนับแสนล้านบาท จ้างบริษัทของอดีตรัฐมนตรีและเครือญาติของ พ.ต.ท.ทักษิณเข้ามารับงานส่อทุจริต โครงการแปรรูปบริษัทไทยเดินเรือทะเล (บทด.) เกี่ยวกับคนใกล้ชิดรัฐมนตรี และตรวจสอบการใช้เงินเลือกตั้งของอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พบบริษัทเครือข่ายคนใกล้ชิด กกต.คนหนึ่งเข้ามารับงานนับร้อยล้านบาท

ทั้งสามเรื่องจะเสร็จในเร็วๆ นี้

เพราะฉะนั้นการมอบดาบอาญาสิทธิ์ให้ผู้ว่าการ สตง. ในครั้งนี้ จึงมีชะตาชีวิตของ พ.ต.ท.ทักษิณและพวกเป็นเดิมพัน ?

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์