"อาบูดาบี"คัดซื้อหนี้"ดูไบ"นักลงทุนผิดหวังไม่อุ้มหนี้สินทั้งหมด ธ.กลาง"ยูเออี"จับตาใกล้ชิดเกรงพังหมด "อาบูดาบี"คัดช่วยซื้อหนี้"ดูไบ"
"อาบูดาบี"คัดช่วยซื้อหนี้"ดูไบ"นักลงทุนผิดหวังนครรัฐแห่งน้ำมันไม่อุ้มหนี้สินทั้งหมด ธนาคารกลาง"ยูเออี"จับตาใกล้ชิดไม่ให้ลุกลาม "ดูไบ เวิลด์ "มีหนี้กองโตสุด คาดสถาบันการเงินผู้ดีเจอหนัก สหรัฐยันวิกฤต"ดูไบ"ไม่กระทบ วิกฤตดูไบทำราคา"น้ำมัน-ทอง"ร่วง
เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานความคืบหน้าของวิกฤตการณ์ทางการเงินในนครรัฐดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ว่าได้รับการเปิดเผยจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลอาบูดาบี นครรัฐที่ถือเป็นรัฐบาลกลางของยูเออีว่าทางการอาบูดาบีตัดสินใจแล้วว่า จะไม่เข้าไปซื้อหนี้ทั้งหมดของดูไบ แต่จะใช้วิธีการคัดเลือกและตัดสินใจเองว่าจะช่วยเหลือกิจการใด ด้วยวิธีใดแทน โดยจะพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป ซึ่งแตกต่างจากความคาดหวังของบรรดานักลงทุนโดยรวมที่คาดกันว่าอาบูดาบี นครรัฐที่ส่งออกน้ำมันมากเป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นเจ้าของน้ำมันสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ของทั้งหมดที่มีอยู่ในยูเออีจะเข้าอุ้มกิจการที่เต็มไปด้วยหนี้สินทั้งหมดของดูไบ
เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนดังกล่าวบอกกับรอยเตอร์ว่า กิจการที่มีปัญหาอยู่ในดูไบในเวลานี้ บางส่วนเป็นกิจการเชิงพาณิชย์ของเอกชน บางส่วนเป็นกิจการกึ่งๆ ของทางการ ดังนั้น ทางอาบูดาบีจะเป็นผู้พิจารณาและตัดสินใจเองว่าจะช่วยเหลือเมื่อใด และช่วยรายใดบ้าง อย่างไรก็ตาม ถ้าหากสถานการณ์ยังไม่ชัดเจนเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ก็ยังยากที่จะตัดสินใจเข้าไปให้ความช่วยเหลือซึ่งต้องถือว่าเป็นการลงทุนในรูปแบบหนึ่ง ยังคงมีหลายๆ ประเด็นมากที่ดูไบจำเป็นต้องแถลงให้กระจ่างชัดออกมา คาดว่ารัฐบาลดูไบจะแถลงรายละเอียดเกี่ยวกับกรณีนี้ในวันที่ 30 พฤศจิกายน
ธนาคารกลาง"ยูเออี"จับตาใกล้ชิด
ด้านโฆษกของธนาคารกลางแห่งยูเออี แถลงวันเดียวกันนี้ว่า กำลังติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดเพื่อให้แน่ใจว่าวิกฤตหนี้ของดูไบจะไม่ลุกลามจนเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจโดยรวมของยูเออี ทั้งนี้ โดยรัฐธรรมนูญของยูเออีแล้ว แต่ละนครรัฐมีระบบกฎหมายและระบบการเงินเป็นของตนเอง รัฐบาลกลางไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติหรือทรัพยากรทางการเงินของแต่ละนครรัฐมาใช้ และในทางกลับกันก็ไม่มีพันธะผูกพันที่จะต้องชำระหนี้แทนแต่ละนครรัฐด้วย
ทั้งนี้ ดูไบ เวิลด์ กองทุนเพื่อความมั่งคั่งของดูไบ มีหนี้สินทั้งสิ้นรวม 59,300 ล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปีที่ผ่านมา และเป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่สุดของหนี้สินทั้งหมดของดูไบรวม 80,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าถ้าหากเกิดการพักชำระหนี้ขึ้นจริง ดูไบอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่แบกหนี้สินของดูไบ เวิลด์อยู่ทั้งในรูปของการกู้ยืมระหว่างกันและการกู้ยืมแบบซินดิเคต โลน ไม่น้อยกว่า 12,000 ล้านดอลลาร์
คาดสถาบันการเงินผู้ดีเจอหนัก
เอพีระบุว่า ความกังวลที่ว่าวิกฤตหนี้ของดูไบจะลุกลามออกไปสู่ระบบธนาคารและสถาบันการเงินภายนอกประเทศที่เป็นเจ้าหนี้ยังคงส่งผลในทางลบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกต่อไปแต่เบาบางลง ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ซึ่งปิดทำการไปก่อนหน้านี้ เปิดตลาดร่วงลงสู่แดนลบหนักหน่วงทันทีในช่วงเช้าของวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา (ตรงกับคืนวันเดียวกันตามเวลาไทย) ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงหนักกว่า 200 จุด ก่อนที่จะปรับตัวดีขึ้นและปิดตลาดติดลบไป 155 จุด หรือราว 1.5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย ยกเว้นในส่วนธนาคารและสถาบันการเงินที่คาดกันว่าธนาคารและสถาบันการเงินในยุโรปจะได้รับผลกระทบจากการพักหนี้ของดูไบมากที่สุด
เอพีระบุว่า จากการประเมินของนักวิเคราะห์ของ โกลด์แมน แซค ธนาคารเอชเอสบีซี และสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ของอังกฤษ จะมีปัญหาหนักที่สุดเพราะเป็นผู้ปล่อยกู้ให้กับดูไบ เวิลด์ ราว 611 ล้านดอลลาร์ และ 177 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ ขณะที่เกาหลีใต้ประเมินว่าจะมีปัญหาเพียงเล็กน้อยหากมีการพักชำระหนี้ หรือเบี้ยวหนี้จากดูไบ เวิลด์ เพราะมีการลงทุนอยู่เพียง 88 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม บริษัทก่อสร้างทั้งในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย อาจประสบปัญหาเพราะเข้าไปดำเนินงานอยู่ในดูไบ ขณะที่เจพี มอร์แกน ประเมินว่า สถาบันการเงินของสหรัฐอเมริกา มีเพียง ซิตี้กรุ๊ปเท่านั้นที่มีลงทุนอยู่ในยูเออีมากถึง 1,900 ล้านดอลลาร์ แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าในจำนวนดังกล่าวมีการปล่อยกู้หรือลงทุนในดูไบเท่าใด
สหรัฐยันวิกฤต"ดูไบ"ไม่กระทบ
นายแดน ฟาซูโล ผู้อำนวยการจัดการบริษัท เรียล แคปิตอล อนาลิติคส์ ที่เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์การลงทุนในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ดูไบ เวิลด์ เพิ่งจะเข้ามาลงทุนในสหรัฐอเมริกาเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และยังคงมีสัดส่วนการลงทุนน้อยเกินไปที่จะก่อให้เกิดปัญหากับตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาได้
อย่างไรก็ตาม เอพีระบุว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่าวิกฤตหนี้ของดูไบจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจและผู้บริโภคจริงๆ ได้ในที่สุด จากการที่ทำให้ธนาคารและสถาบันการเงินสูญเสียความมั่นใจในการปล่อยกู้ และชะลอการปล่อยกู้หรือเพิ่มเงื่อนไขในการกู้ให้กับตลาดอีกครั้งหนึ่ง ทั้งยังอาจส่งผลกระทบให้มีการชะลอการซื้อทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ทั้งในเอเชียและละตินอเมริกาตามไปด้วยสืบเนื่องจากกรณีนี้
ทางด้าน หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ส รายงานว่า นักวิเคราะห์ของแบงก์ออฟอเมริกา คาดการณ์ไว้ว่าในสถานการณ์สมมุติที่เลวร้ายที่สุด กรณีของดูไบอาจส่งผลกระทบเหมือนกับกรณีที่เกิดขึ้นกับรัสเซียเมื่อปลายทศวรรษ 1990 หรือในทำนองเดียวกับวิกฤตในอาร์เจนตินา เมื่อราวต้นทศวรรษ 2000 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังคงเชื่อว่าผลกระทบสูงจริงๆ น่าจะจำกัดวงอยู่เฉพาะในท้องถิ่น
วิกฤตดูไบทำราคา"น้ำมัน-ทอง"ร่วง
ทั้งนี้ ตามข้อมูลของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บีไอเอส) ธนาคารต่างประเทศมีหนี้อยู่ในยูเออีทั้งหมดรวม 130,000 ล้านดอลลาร์ ธนาคารอังกฤษมีมากที่สุด 51,000 ล้านดอลลาร์ ต่อด้วยสหรัฐอเมริกา 13,000 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม จำนวนหนี้ทั้งหมดดังกล่าวถือเป็นเพียง 0.4 เปอร์เซ็นต์ ของวงเงินรวมของการกู้ยืมระหว่างประเทศทั้งหมดเท่านั้น นอกจากนั้นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของดูไบ เวิลด์ กลับเป็นธนาคารและสถาบันการเงินในท้องถิ่นทั้งในดูไบและอาบูดาบีนั่นเอง
รายงานข่าวระบุว่า วิกฤตหนี้ดูไบส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมันและทองคำอย่างหนัก โดยราคาน้ำมันดิ่งลงมากถึง 7 เปอร์เซ็นต์ ก่อนที่จะกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย ทำให้ราคาน้ำมันดิบชนิดไลท์สวีทกำหนดส่งมอบในเดือนมกราคม ที่นิวยอร์กลดลงในการซื้อขายช่วงเช้ามากถึง 5.57 ดอลลาร์ ก่อนที่จะขยับขึ้นมาปิดตลาดลดลง 1.91 ดอลลาร์ อยู่ที่ 76.05 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 สัปดาห์
ขณะที่ราคาทองคำในตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่นิวยอร์กกำหนดส่งมอบในเดือนกุมภาพันธ์ ลดลง 13.10 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 1,755.50 ต่อออนซ์
อาบูดาบีคัดซื้อหนี้ดูไบนักลงทุนผิดหวังไม่อุ้มหนี้สินทั้งหมด ธ.กลางยูเออีจับตาใกล้ชิดเกรงพังหมด
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง อาบูดาบีคัดซื้อหนี้ดูไบนักลงทุนผิดหวังไม่อุ้มหนี้สินทั้งหมด ธ.กลางยูเออีจับตาใกล้ชิดเกรงพังหมด