เทพเทือกปัด ไม่ได้ยินคำบ่นพรรคร่วม

"สุเทพ"อ้างไม่มีแกนนำพรรคร่วมมาบ่นไม่พอใจ ยัน ปชป.จริงใจ ไม่พับเรื่องแก้ รธน.แต่ยังหาทางทำต่อ บอกอย่าคาดการณ์ทางร้ายเกี่ยวกับเสถียรภาพ รบ. ทุกคนอยากเห็นบ้านเมืองเดินหน้าราบรื่น คณะที่ปรึกษา กม.ปธ.วุฒิฯเห็นพ้อง"จารุวรรณ"อ้างร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วย สตง.ยังไม่ตก หากสภาล่างหยิบขึ้นมายืนยัน คตง.จะส่งเรื่องให้ศาล รธน.วินิจฉัย

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันมีความจริงใจต่อพรรคร่วมรัฐบาล


และพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุเทพกล่าวกรณีแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล 5 พรรค นัดหารือกันที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี เมื่อค่ำวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยทั้งหมดยืนยันการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันแสดงความไม่พอใจพรรคประชาธิปัตย์ที่มักขัดแข้งขัดขาพรรคร่วมรัฐบาลว่า "ยังไม่ได้รับคำบ่นนะ จึงไม่แน่ใจว่าใครบ่น ขณะนี้ยังไม่มีใครพูดกับผมว่าไม่พอใจเรื่องอะไร โดยปกติหากพรรคร่วมรัฐบาลมีปัญหาก็จะพูดกับผม แต่ขณะนี้ยังไม่มีการพูดอะไร ไม่ว่าพรรคร่วมจะมีความเห็นอย่างไร ผมก็พร้อมรับฟัง"

นายสุเทพกล่าวว่า ไม่ได้ดึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของพรรค สภาผู้แทนฯ วุฒิสภา "ยังไม่ได้พับ ต้องหาทางทำต่อ" นายสุเทพกล่าว ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมาพรรคร่วมก็ออกมาทวงความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายครั้ง นายสุเทพกล่าวว่า "เราก็มีความจริงใจ ก็เห็นๆ กัน ไม่มีปัญหาหรอก"

นายสุเทพบอกด้วยว่า อย่าคาดการณ์อะไรในทางร้ายเกี่ยวกับเสถียรภาพของรัฐบาล ควรคาดการณ์ในทางดี ทุกคนก็รักชาติบ้านเมือง อยากเห็นประเทศเดินหน้าไปได้ด้วยความราบรื่น

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล กล่าวว่า เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญทุกอย่างเป็นไปตามที่กำหนด โดยฝ่ายยกร่างแก้ไขนำประเด็นต่างๆ ไปปรับปรุง และจะนำกลับมาเสนอที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย ในวันที่ 26 พฤศจิกายน ถือว่าเป็นกระบวนการสุดท้ายของกรรมการยกร่าง เหลือเพียงถ้าวิปรัฐบาลของทั้ง 3 ฝ่าย ลงชื่อร่วมกันก็สามารถเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 มาตรา 6 ฉบับ ตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯเสนอได้อย่างแน่นอน

"ผมไม่ยอมให้ใครมากล่าวหาว่ารัฐบาลกำลังยื้อหรือทำให้เกิดความล่าช้า แต่เป็นเพราะต้องการจะแสวงหาความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้มากที่สุด ล่าสุดได้พยายามเปิดการเจรจากับฝ่ายค้าน เพื่อขอให้มาร่วมหารือกับวิป 3 ฝ่าย ก่อนจะเริ่มรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอญัตติ ไม่เช่นนั้นหากดำเนินการอะไรไปแล้ว ต่อไปก็จะมีคนออกมาไม่ยอมรับหรือคัดค้านอีก" นายชินวรณ์กล่าว

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งนั้น นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน วุฒิสภา ในฐานะประธานคณะที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา กล่าวว่า

คณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายฯได้ประชุมกรณีคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการ สตง. ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธาน คตง. มีหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 25 พฤศจิกายน ถึงประธานวุฒิสภา ขอให้พิจารณาทบทวนมติร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ที่วุฒิสภา มีมติเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่ง โดยมีคะแนนเห็นชอบ 70 ต่อ 53 เสียง ส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต้องตกไป โดย สตง.เห็นว่าการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 ในส่วนบทเฉพาะกาลมาตรา 302 วรรคห้า ที่บัญญัติว่า "การลงมติแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกของแต่ละสภา" กรณีที่เกิดขึ้น วุฒิสภาลงมติไม่เห็นชอบเพียง 53 เสียง ซึ่งไม่ถึงกึ่งหนึ่งที่ 76 คน จึงเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้รับการเห็นชอบแล้วตามมาตรา 302 วรรคห้า ซึ่งคณะกรรมาธิการที่ปรึกษากฎหมายฯเคยมีการพิจารณากรณีที่คล้ายกันคือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่เห็นชอบด้วยเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ซึ่งตามมาตรา 302 วรรคห้า ต้องถือว่าสภาให้ความเห็นชอบแล้ว และจะต้องส่งมายังวุฒิสภา แต่ขณะนี้ยังไม่ส่งมา

นายไพบูลย์กล่าวว่า คณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายฯพิจารณาว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ดำเนินการปรับปรุงภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี ตามที่มาตรา 302 บัญญัติ

ซึ่งปรากฏอยู่ในหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.ที่วุฒิสภาพิจารณาอย่างชัดเจน ดังนั้นการลงมติก็ต้องเป็นไปตามมาตราดังกล่าวซึ่งบัญญัติไว้เป็นกรณีพิเศษ จึงต้องถือว่าวุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ทำให้สภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณาเพื่อทราบ จากนั้นต้องดำเนินการตามมาตรา 141 นั่นคือส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มิใช่ให้สภาผู้แทนราษฎรหยิบขึ้นมายืนยันตามมาตรา 147 (2) ซึ่งขณะนี้ทราบว่าประธานวุฒิสภาส่งเรื่องกลับมายังสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ซึ่งถ้าสภาผู้แทนราษฎรจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณายืนยันตามมาตรา 147 (2) ทราบว่า คตง.คงจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะผิดขั้นตอนในการพิจารณา

ส่วนกรณีที่พรรคภูมิใจไทยมีมติให้คว่ำร่างดังกล่าว นายไพบูลย์กล่าวว่า หากพิจารณาตามมาตรา 302 วรรคห้า ขั้นต่อไปสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาเป็นวาระเพื่อทราบเท่านั้น การที่พรรคภูมิใจไทยคัดค้านคงไม่สำเร็จ

ขณะที่การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร วันเดียวกันนี้นั้น มีการพิจารณากรณี พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี สมาชิกพรรคเพื่อไทย นำสองพยานปากเอกคดียุบพรรคไทยรักไทย (ทรท.) ออกมาสารภาพ โดยกล่าวอ้างได้รับการว่าจ้างเพื่อให้การเท็จ ซึ่งมีนายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) ทำหน้าที่เป็นประธาน โดยที่ประชุมเชิญ พล.อ.พัลลภ และ พล.ต.ต.มณเฑียร ประทีปะวณิช สมาชิก พท.เข้าชี้แจง

ทั้งนี้ หลังมีการเปิดวีซีดีบันทึกคำสารภาพของนายสุขสันต์ นายสุขสันต์ ชัยเทศ อดีต ผอ.พรรคพัฒนาชาติไทย

และนายชวการ โตสวัสดิ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคพัฒนาชาติไทย สองพยานปากคคดียุบพรรค ทรท. นายโกวิทย์ ธารณา กรรมาธิการจากพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตว่า ดูเหมือนว่ามีการแต่งเรื่องขึ้นมาทั้งนี้ นายประชาเสนอให้คณะกรรมาธิการทำหนังสือถึงรักษาการ ผบ.ตร. เพื่อให้ตำรวจได้คุ้มครองความปลอดภัยพยานทั้งสองคน

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์