เช้าตรู่ของวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 "สมัคร สุนทรเวช" อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของประเทศไทย ได้ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคมะเร็งตับ ด้วยวัย 74 ปี
ปิดตำนาน "นักการเมืองรุ่นเก๋า" ที่อดีตเคยเป็น "ดาวสภา" มีลีลาการพูดจัดจ้าน ดุเด็ดเผ็ดมัน
คนทั่วไปรับรู้ข่าวคราวการเจ็บป่วยของ "สมัคร" หลังลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเดินทางไปรักษาโรคมะเร็งขั้วตับ ที่ลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2551
รักษาตัวในต่างประเทศนาน 2 เดือน ก่อนจะเดินทางกลับมาเมืองไทยเพื่อรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2552
ข่าวคราวของ "สมัคร" เงียบหายไปจากแวดวงข่าวสารนับแต่นั้น...จนปัจจุบัน
"สมัคร สุนทรเวช" เกิดเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2478 ที่กรุงเทพมหานคร บ้านหน้าวังบางขุนพรหม ถนนสามเสน กรุงเทพมหานคร
บิดา คือ เสวกเอก พระยาบำรุงราชบริพาร (เสมียน สุนทรเวช) มารดาคือ คุณหญิงบำรุงราชบริพาร (อำพัน จิตรกร) เป็นหลานลุงของ มหาเสวกตรี พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) นายแพทย์ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นหลานตาของมหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) จิตรกรประจำสำนัก
"สมัคร" เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้องทั้ง 6 คน
ด้านการศึกษา เรียนประถมโรงเรียนเทเวศน์ศึกษา มัธยมโรงเรียนเซนต์คาเบรียล อาชีวะโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์ และอุดมศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งศึกษาเพิ่มเติมที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ BRYANMT & STRATION INSTITUTE ที่ชิคาโก สหรัฐอเมริกา
หลังจากเรียนจบนิติศาสตร์ ได้เข้าทำงานประจำควบคู่ไปกับการเขียนบทความและความคิดเห็นทางการเมือง ลงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ, สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ และชาวกรุง ตั้งแต่ปี 2500 ก่อนที่จะเข้าสู่ถนนการเมืองในปี 2511 โดยสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์
เริ่มจากลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลกรุงเทพมหานคร ในปี 2514
ปี 2516 ลาออกจากงานประจำทุกอย่าง เพื่อมาทำงานด้านการเมืองอย่างเดียว
ปี 2518 ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งแรก และได้รับตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลผสมของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช แต่ยังคงเขียนบทความการเมืองให้หนังสือพิมพ์ประชาไทย (2517-2520) และมีคอลัมน์ประจำ "มุมน้ำเงิน" หนังสือพิมพ์เดลิมิเรอร์ ตั้งแต่ปี 2521 จนถึงปี 2537
ชื่อของเขาโดดเด่นเมื่อครั้งจัดรายการสถานีวิทยุยานเกราะ ในปี 2519 เนื่องจากครั้งนั้น จัดรายการโจมตีบทบาทของขบวนการนักศึกษาสมัย 6 ตุลาคม พร้อมทั้งปลุกระดมมวลชนให้เกลียดชังขบวนการนักศึกษา และเป็นศูนย์กลางประสานงาน ถ่ายทอดกำหนดการ และคำสั่งเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านนักศึกษา
จนถูกมองว่าเป็นพวก "ขวาจัด"
จากนั้นในปี 2519 ได้รับเลือกเป็น ส.ส.อีกสมัย และได้ตำแหน่ง รมว.มหาดไทย สมัยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกับลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อมาก่อตั้งพรรคประชากรไทย ในปี 2522 โดยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค โดยมีกรุงเทพฯเป็นฐานเสียงหลัก
เขานำพรรคประชากรไทยได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.มาหลายสมัย และตัวเขาเองได้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ เช่น รมว.คมนาคม สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร, นายบรรหาร ศิลปอาชา และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
ด้วยลีลาการพูด และน้ำเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ได้รับฉายาจากสื่อมวลชน เช่น ดาวสภา, ออหมัก, ชมพู่ (มาจากลักษณะจมูก) และชาวนา (จากกรณีกลุ่มงูเห่า) ฯลฯ
ต่อมาความนิยมของพรรคประชากรไทยลดน้อยลง แต่ "สมัคร" ยังคงได้รับเลือกเป็น ส.ส.เขตดุสิต อย่างที่ไม่มีใครล้มได้
กระทั่งปี 2546 เขาได้ลาออกจากพรรคประชากรไทย และเบนเข็มมาลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นถึง 1,016,096 คะแนน สูงที่สุดนับตั้งแต่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.
ก่อนพ้นตำแหน่ง ปี 2547 พร้อมกับมีคดีการทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงติดตัว
ปิดตำนานสมัคร สุนทรเวช
จากนั้น "สมัคร" หันมาจัดรายการโทรทัศน์ ดำเนินรายการอาหาร "ชิมไป บ่นไป" แต่ที่ฮือฮาคือ รายการ "สมัคร-ดุสิต คิดตามวัน" ที่จัดรายการร่วมกับ ดุสิต ศิริวรรณ อดีต รมต.ประจำสำนักนากยฯ โดยทั้งคู่ได้กล่าวโจมตี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ
กระทั่งรายการต้องปิดตัวลง
ต่อมา ลงเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ปี 2549 ใน กทม. ได้คะแนนเสียงเป็นลำดับที่ 2 รองจาก ร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์ แต่ยังไม่ทันที่จะปฏิบัติหน้าที่ใดๆ การเลือกตั้งวุฒิสภาก็ถูกยกเลิก เนื่องจากเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ขึ้น
ชื่อของเขากลับมาโดดเด่นอีกครั้ง เมื่อเปิดตัวเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน โดยคำเชื้อเชิญของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ท่ามกลางเสียงครหา "นอมินีทักษิณ"
การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ที่มี "สมัคร" เป็นหัวขบวนใหญ่ ผลปรากฏว่า พรรคพลังประชาชนชนะขาดลอย ได้ทั้ง ส.ส.เขตและ ส.ส.ระบบสัดส่วน รวม 233 ที่นั่ง ขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่างประชาธิปปัตย์ได้ 165 ที่นั่ง
ที่สุดเขาก็ได้เป็นนายกฯของประเทศไทย
ช่วงที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิดวิวาทะกับสื่อมวลชนอยู่บ่อยครั้ง แต่ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด คือคำที่เขาย้อนถามนักข่าวว่า "เมื่อคืนไปเสพเมถุนกับใครมา?"
จนในวันที่ 3 พฤษภาคม 2551 ที่เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก องค์กรวิชาชีพสื่อจึงได้แถลงผลการศึกษาเรื่อง "(วิ)วาทกรรมสมัครกับสื่อ" และสรุปว่า สมัคร สุนทรเวช ใช้ภาษาข่มขู่ รุนแรง ดุเดือด พูดเท็จบ่อยๆ สร้างเรื่องใหม่ขึ้นมากลบประเด็นสำคัญเสมอๆ
โดยเฉพาะกรณีที่เขากล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในระหว่างการแถลงนโยบายรัฐบาล ว่ามีคนตายเพียงคนเดียว จนถูกวิจารณ์อย่างหนัก
"สมัคร" อยู่ในตำแหน่งได้เพียง 9 เดือน ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินให้ สิ้นสุดความเป็นนายกฯ เนื่องจากเป็นพิธีกรในรายการ "ชิมไป บ่นไป" และ "ยกโขยง 6 โมงเช้า" ผิดต่อรัฐธรรมนูญ
ตามมาด้วยกรณีศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีที่นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ฟ้อง สมัคร และดุสิต หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาเมื่อครั้งจัดรายการ "เช้าวันนี้ที่ช่อง 5" และ "สมัคร-ดุสิต คิดตามวัน" โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
สั่งจำคุกจำเลยทั้ง 2 เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา โดยสมัครใช้เงินสด 200,000 บาท ประกันตัวออกไป
จากนั้นได้ข่าวว่าเขาได้เดินทางไปผ่าตัดมะเร็งขั้วตับที่สหรัฐ ก่อนกลับมารักษาตัวที่ประเทศไทย
กระทั่งวันที่ 29 กันยายน 2552 ป.ป.ช.มีมติ 6 ต่อ 3 ชี้มูลความผิด "สมัคร" และ "นพดล ปัทมะ" อดีต รมว.ต่างประเทศ กรณีที่ประชุม ครม. มีมติออกแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนให้รัฐบาลกัมพูชา ขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก
ด้านชีวิตครอบครัว สมัคร สุนทรเวช สมรสกับคุณหญิงสุรัตน์ สุนทรเวช มีบุตรสาวฝาแฝด 2 คน คือ กานดาภา และกาญจนากร ปัจจุบันสมรสแล้วทั้งคู่ นอกจากนี้ยังเป็นที่รู้กันว่า สมัคร สุนทรเวช รัก "แมว" เป็นชีวิตจิตใจ
ประวัติการทำงาน
พ.ศ.2496 : เจ้าหน้าที่สอนเครื่องลงบัญชีไฟฟ้า National Cash Registered Co.,Ltd.
พ.ศ.2497 : เสมียนแผนกรถยนต์ และภายหลังดำรงตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าแผนกเครื่องอะไหล่ Barrow Brown Co.,Ltd.
พ.ศ.2502 : ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกเครื่องอะไหล่ Loxley Bangkok Co.,Ltd.
พ.ศ.2504 : Free Lance Guide, World Travel Service Co.,Ltd.
พ.ศ.2507 : ผู้จัดการแผนกเครื่องอะไหล่ บริษัท เอื้อวิทยาพาณิชย์ จำกัด
พ.ศ.2510 : Dietary Aid, Fox Rever Rehabilitation Hospital, Chicago U.S.A.
พ.ศ.2512 : ผู้จัดการแผนกเครื่องอะไหล่ บริษัท เอื้อวิทยาพาณิชย์ จำกัด
พ.ศ.2513 : ผู้บริหารฝ่ายขาย John Deere Thailand Co.,Ltd.
พ.ศ.2514 : เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย
พ.ศ.2516 : ลาออกจากงานประจำและทำงานการเมืองอย่างเดียวเรื่อยมา
ประวัติทางการเมืองและการดำรงตำแหน่งสำคัญ
พ.ศ.2511 : เข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์
พ.ศ.2514 : สมาชิกสภาเทศบาลนครกรุงเทพมหานคร
พ.ศ.2516 : สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
พ.ศ.2518 : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร (มกราคม พ.ศ.2518)
พ.ศ.2518 : รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ
พ.ศ.2519 : ส.ส.กรุงเทพมหานคร (เมษายน พ.ศ.2519)
พ.ศ.2519 : รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
พ.ศ.2519 : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พ.ศ.2519-พ.ศ.2520)
พ.ศ.2522 : ก่อตั้งพรรคประชากรไทย และดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ส.ส.กรุงเทพมหานคร
พ.ศ.2526 : ส.ส.กรุงเทพมหานคร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
พ.ศ.2529 : ส.ส.กรุงเทพมหานคร
พ.ศ.2531 : ส.ส.กรุงเทพมหานคร
พ.ศ.2533 : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
พ.ศ.2535/1, 2535/2 : ส.ส.กรุงเทพมหานคร
พ.ศ.2538 : ส.ส.กรุงเทพมหานคร
พ.ศ.2539 : ส.ส.กรุงเทพมหานคร
พ.ศ.2543 : ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
พ.ศ.2550 : หัวหน้าพรรคพลังประชาชน
พ.ศ.2551 : นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย (29 มกราคม พ.ศ.2551-9 กันยายน พ.ศ.2551)
ผลงานหนังสือ : สมัคร สุนทรเวช พูด, สันดานหนังสือพิมพ์, การเมืองเรื่องตัณหา, จวกลูกเดียว, จากสนามไชยถึงสนามหลวง, การเมืองเรื่องตัณหา 2, สมัคร ๖๐, ชิมไปบ่นไป, เรื่องไม่อยากเล่า, คนรักแมว, จดหมายเหตุกรุงเทพฯ, ใครๆ ก็ชอบไทยฟู้ด, สมัคร สุนทรเวช และดุสิต ศิริวรรณ, ตำนานหนองงูเห่า และการเมืองเรื่อง CT
ที่มา "ชมพู่ผ่าซีก"
ใครรู้บ้างว่า สมญานาม "ชมพู่ผ่าซีก" ที่เป็นสัญลักษณ์ติดตัวอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่...?
ใครเป็นคน "บัญญัติ" คำนี้ขึ้นมา...?
สมญานาม "ชมพู่ผ่าซีก" เกิดขึ้นในหนังสือพิมพ์ "ข่าวรายวัน" ของ "จรุง รักชาติ" ปีที่ 3 ฉบับที่ 954 วันจันทร์ที่ 12 เมษายน 2519 ในคอลัมน์ "ใต้ฟ้า บนดิน" เจ้าของคอลัมน์ชื่อ "ปิยพงศ์"
"ปิยพงศ์" เขียนบรรยายถึงความสามารถในการทำงานการเมือง จนถึงรูปพรรณสัณฐานของ "สมัคร สุนทรเวช" เอาไว้อย่างละเอียด เมื่อครั้งเขาสามารถชนะการเลือกตั้งที่เรียกว่า "ระดับตำนาน" ในเขตดุสิตได้ เมื่อเดือนเมษายน 2519
ที่บอกว่าเป็น "ตำนาน" ก็เพราะทำให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม และอดีตนายกรัฐมนตรีสมัยนั้น "สอบตก"
นี่คือ เนื้อหาในคอลัมน์ "ใต้ฟ้า-บนดิน" ที่เขียนถึง "นายหมอดี" นามปากกาของ "สมัคร สุนทรเวช" เมื่อครั้งเขียนคอลัมน์อยู่ใน น.ส.พ. สยามรัฐ...
"...ยามเขาเป็นนักเรียน เขาก็เป็นฮีโร่ ยามเขาเป็นนักเขียน เขาก็แสนแสบในคารมคมคาย ยามเขาเป็นนักพูด เขาก็ทั้งคึก ทั้งคัน ทั้งมัน ทั้งแสบ จนคนฟังนี่ ซูฮกตบมือให้ ยามเขาโดดเข้าสู่วงการเมือง เขาก็ร้าย ทั้งที่ยังหนุ่มยังแน่น หมอฟาดตำแหน่งรัฐมนตรีเข้าไปซัดเงินเดือน เดือนละห้าหมื่นได้สิบห้าวัน เพราะความผันผวนในการเมือง ก็เลยลดลงมาเหลือหมื่นห้า ซัดหมื่นห้าอีกไม่กี่วัน ก็เลยไม่ได้ซัดสักสลึง เพราะคู่รักคู่แค้น ครูบาอาจารย์เก่าของเขาเกิดทรยศ ยุบสภาซะนี่...
"เขาไม่ย่อท้อ เดินหาเสียงโดยมิต้องใช้เงินหว่าน หมดรองเท้าไปสองคู่เพราะพื้นสึก เขาก็สมหวัง คะแนนมาเป็นที่หนึ่งในเขต ทิ้งคนชั้นนายกรัฐมนตรีไปหลายป้าย...
"สองสามวันมานี้ หลังเลือกตั้งเสร็จหนึ่งวันยอดโฆษก อาคม มกรานนท์ เชิญเขามาออกอากาศทางโทรทัศน์ ในรายการพูดจาประสาชาวบ้าน ปรากฏว่าเขาพูดคนเดียวตลอด ยอดโฆษกแทบไม่ได้อ้าปาก แต่ก็ช่างเถอะ ถึงจะพูดคนเดียว เราก็ชอบอกชอบใจในคารมของเขา ดุเด็ดเผ็ดมันส์พูดอย่างไม่กลัวไม่เกรง...
"ก็ขอวิจารณ์หน่อย คนแบบนี้แหละครับที่ประชาชนชอบ เหมาะที่สุดในสถานการณ์ของบ้านเมืองในขณะนี้เข้มแข็ง จริงจัง
"เราในฐานะดูโหงวเฮ้ง ของคนเก่งพิจารณาเขาคนนี้ว่า เขาจะก้าวหน้าไปสู่ตำแหน่งสำคัญทางการเมือง สูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงสุดยอด หากเขาจะไปทำศัลยกรรมเสริมสวยบุคลิกบางอย่างบนใบหน้าของเขา โดยเฉพาะ จมูก เสริมให้โด่ง ซะหน่อย มิใช่เหมือนชมพู่ผ่าซีกอย่างทุกวันนี้
"ผับเผื่อย...ตอนนี้แหละ พี่หมักเอ๊ย...ไม่นาน พรวดๆ ไปถึงนายกๆ แน่ น้องขอบอกก่อนล่วงหน้าฮิ...ฮิ..."