เหตุผล-ข้อกำหนด พ.ร.บ.มั่นคงทั่วกทม.

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เสนอเหตุผลประกอบการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงในพื้นที่ กทม. ดังนี้


ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายนเป็นต้นไป มีแนวโน้มจะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองจากการที่มีกล่มบุคคลบางกลุ่มได้ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจน ในการปลุกระดมและนัดชุมนุมให้เข้าร่วมในการเรียกร้องความต้องการตามแนวทางและผลประโยชน์ของกลุ่ม มุ่งหวังเพื่อกดดันให้นายกฯยุบสภาหรือลาออก โดยกำหนดให้มีการชุมนุมและเคลื่อนไหวตามถนนและสถานที่สำคัญในเขต กทม.


ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนั้นจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตโดยปกติของประชาชนโดยทั่วไป รวมทั้งการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ประกอบกับการชุมนุมดังกล่าวมีเจตนาดำเนินการในลักษณะยืดเยื้อ และอยู่ในห้วงการจัดงานพระราชพิธี เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งอาจมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีบางกลุ่มก่อเหตุระหว่างการชุมนุม และขยายลุกลามจนเกิดสถานการณ์ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น


จึงเสนอประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในพื้นที่ กทม. ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน-14 ธันวาคม 2552 โดยให้ กอ.รมน.เป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และจัดทำแผนการดำเนินการในการบูรณาการ กำกับ ติดตาม และเร่งรัดหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด รวมทั้งจัดตั้งศูนย์อำนวยการหรือหน่วยงานเพื่อปฏิบัติภารกิจนี้เป็นการเฉพาะ


ทั้งนี้ มอบให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ เพื่อดำเนินการต่อไป

ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 18 พ.ร.บ.ความมั่นคง


เพื่อให้สามารถป้องกัน ควบคุม และแก้ไขสถานการณ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ผอ.รมน. โดยความเห็นชอบของ ครม. ออกข้อกำหนด ดังนี้
1.ให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการหรืองดเว้นการปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อช่วยเหลือหรือสนับสนุนการดำเนินการในอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน.ตามแผนการ เพื่อดำเนินการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง แก้ไขบรรเทาเหตุการณ์
2.ห้ามบุคคลใดเข้าออก หรือต้องออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของกอ.รมน.
3.ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน
4.ห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ
5.ให้บุคคลปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติอย่างใดอันเกี่ยวกับเครื่องมือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตามชนิด ประเภท ลักษณะการใช้ หรือภายในบริเวณพื้นที่ที่ ผอ.รมน.ประกาศกำหนด เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชน


นอกจากนี้ ยังกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง เป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายจำนวน 14 ฉบับ โดยการใช้กฎหมายให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็น ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ อาทิ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2493 พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ประมวลกฎหมายอาญาวิธีพิจารณาความอาญา เฉพาะบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจสืบสวนสอบสวน และการใช้อำนาจของพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550


---------------------------------------------------------



เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์