นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของประเทศไทย หรือ"น้าหมัก,ลุงหมัก" มี "วาจาดุเด็ดเผ็ดร้อน" เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวพร้อมกับ"จมูกชมพู่" ที๋โดดเด่นของนักการเมืองเก่าแก่ผู้คร่ำวอดในวงการเมืองก่อนที่จะขึ้นมาสู่ตำแหน่งสูงสุดเคยเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (2 สมัย)
เส้นทางชีวิตของนายสมัคร ในเวทีการเมืองโดดเด่นไม่แพ้ใครไม่ว่าจะสวมหัวโขนอะไรก็ได้รับความสนใจมีทั้ง "คนรักคนชัง" หรือที่เรียกว่า"ฝ่ายค้านและฝ่ายสนับสนุน" แต่ที่อดีตนายกฯไม่ปลื้มเป็นที่สุด คือ "นักข่าว" ที่มักจะได้คำผรุสวาทสวนกับมาอยู่บ่อยครั้ง ทั้งที่นายสมัครเริ่มทำงาน เป็นสื่อมวลชนสายการเมือง หลังจบนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ โดยเขียนบทความ และความคิดเห็น ทางการเมืองแบบไม่ประจำใน หนังสือพิมพ์สยามรัฐ, สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ และชาวกรุง ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 จนถึง 2516 เขียนบทความ การเมืองในหนังสือพิมพ์ประชาไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2517 จนถึง 2520 และเขียนบทความในคอลัมน์ประจำ "มุมน้ำเงิน" หนังสือพิมพ์เดลิมิเร่อร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2521 จนถึง 2537
หลังเสพเรื่องการเมืองผ่านคอลัมน์นายนายสมัครข้ามจากการเป็นสื่ออย่างเดียว มาเริ่มต้นชีวิตการเมืองโดยเข้าเป็นสมาชิก พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่ปี 2511 ลงสมัครเลือกตั้งตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนขึ้นถึงระดับชาติ
นายสมัครปรากฎตัวต่อสาธารณชนที่โดดเด่นคือ ช่วงปี 2519 ในการจัดรายการสถานีวิทยุยานเกราะ ที่มีเนื้อหาโจมตีบทบาทของ ขบวนการนักศึกษาในสมัยนั้น พร้อมทั้งปลุกระดมมวลชนให้เกลียดชังขบวนการนักศึกษา และ เป็นศูนย์กลางประสานงาน ถ่ายทอดกำหนดการ และคำสั่งเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านนักศึกษาใน เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
เมื่อสิ้นสุดเหตุการณ์ ในปี พ.ศ. 2519 นายสมัครได้เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมๆ กับการลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ และในปี พ.ศ. 2522 ได้ก่อตั้ง พรรคประชากรไทย และดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค มีฐานคะแนนเสียงหลักในกรุงเทพมหานครบ้านเกิด โดยเฉพาะเขตที่มีหน่วยทหารตั้งอยู่หนาแน่น
นายสมัครยังคงใช้ฝีปากในการปลุกกระแสโจมตีจนกระทั่งกลายเป็นบุคคลที่เข้าไปมีบทบาทในการสร้างกระแสมวลชนทั้งต่อต้านและสนับสนุน ในเหตุการณ์นองเลือด ไม่ว่าจะเป็น เหตุการณ์ 6 ตุลา, พฤษภาทมิฬ รวมทั้งการกล่าวโจมตี ประธานองคมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ทางรายการโทรทัศน์ "สมัคร-ดุสิต คิดตามวัน" ร่วมกับนายดุสิต ศิริวรรณ ในเวลา 11.00 น. ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี เมื่อต้นปี พ.ศ. 2549 ว่า พล.อ. "เลือกข้างใช่ไหม" จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และไม่พอใจของหลายฝ่ายจนต้องขอยุติรายการดังกล่าวไปด้วยตนเอง
สิ่งที่นายสมัคร ภาคภูมิใจเป็นที่สุดในระบบประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้งหลังจากที่ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จากการเลือกตั้ง พ.ศ. 2543 ด้วยคะแนนเสียง 1,016,096 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนเสียงมากที่สุด นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครชนะ นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทย ไดัรับคะแนนเสียงเพียง 521,184 คะแนน