หลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โอนหุ้นบริษัทต่างๆ ให้แก่บุตรและพี่น้องเมื่อกลางปี 2543
รายการบัญชีทรัพย์สินที่ พ.ต.ท.ทักษิณ (ทั้งในและนอกประเทศ) ยื่นแสดงต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในชื่อของตนเองมีอยู่ในราว 500-600 ล้านบาท เช่น กรณีเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2548 ระบุว่า มีทรัพย์สิน 506,493,972 บาท
หลังจากที่ต้องตกจากเก้าอี้หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รายการบัญชีทรัพย์สินที่ พ.ต.ท.ทักษิณยื่นต่อ ป.ป.ช.กรณีพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ระบุว่า มีทรัพย์สิน 557,363,123 บาท และหลังจากพ้นตำแหน่งครบ 1 ปี(เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2550) ระบุว่า มีทรัพย์สิน 614,393,259 บาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ซื้อทีมฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี้ในปี 2550 มูลค่า 108 ล้านปอนด์ (ประมาณ 7,560 ล้านบาท อัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น) ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณเอาเงินมากจากไหน
แต่พ.ต.ท.ทักษิณไม่เคยมีคำตอบเรื่องนี้อย่างชัดเจน
กระทั่งเดือนกันยายน 2551 พ.ต.ท.ทักษิณได้ขายทีมฟุตบอลดังกล่าวออกไปในราคา 200 ล้านปอนด์หรือราว 12,000 ล้านบาท คาดกันว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีกำไรราว 50 ล้านบาทหรือประมาณ 3,000 ล้านบาท
ล่าสุด ในการให้สัมภาษณ์ "ไทม์ส ออนไลน์" เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน2552 พ.ต.ท.ทักษิณ ยอมรับ (หลังจากถูกถามย้ำหลายครั้ง)ว่า มีเงินอยู่ประมาณ 300 ล้านดอลลาร์ (ประมาณหมื่นล้านบาท) แต่ใช้ไปแล้ว 200 ล้านดอลลาร์ในเรื่องต่างๆ เช่น การซื้อบ้าน
ขณะเดียวกันพ.ต.ท.ทักษิณคุยว่า ได้ไปลงทุนไปมากมาย อาทิ เหมืองทอง 10 แห่งและการออกล็อตเตอรี่ในประเทศอูกันดา ทวีปแอฟฟริกา
คำถามคือ พ.ต.ท.ทักษิณเอาเงินและทรัพย์สินเหล่านี้มาจากไหน เพราะรายการบัญชีทรัพย์สินที่แสดงต่อ ป.ป.ช.มีเพียง 500-600 ล้านบาท
ส่วนทรัพย์สินของครอบครัวเกือบ 70,000 ล้านบาทซึ่งได้จากการขายหุ้นบริษัทชิน คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชินคอร์ปให้แก่ บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้ง สิงคโปร์ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 ถูกอายัดไว้ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (คดี พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกกล่าวหาว่า ร่ำรวยผิดปกติและได้ทรัพย์ดังกล่าวมาจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี)
มีข้อสงสัยมานานแล้วว่า พ.ต.ท.ทักษิณ น่าจะมีทรัพย์สินซุกอยู่ในต่างประเทศจำนวนมากผ่าน บริษัท วินมาร์ค ลิมิเต็ดและ บริษัทแอมเพิลริช อินเวสต์เมนต์ จำกัดซึ่งตั้งอยู่บนเกาะบริติชเวอร์จิ้น เพราะการทำธุรกรรมซื้อขายหุ้นผ่านทั้ง 2 บริษัท มีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก
สำหรับบริษัท แอมเพิลริชฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ยอมรับว่า เป็นผู้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2542 และโอนหุ้นชินคอร์ปให้จำนวน 32.92 ล้านหุ้น (ต่อมาแตกพาร์เป็น 329.2 ล้านหุ้น)
ส่วนบริษัท วินมาร์ค ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร โอนหุ้น กลุ่มบริษัทเอสซี แอสเสท 6 บริษัท มูลค่า 1,527 ล้านบาทให้ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2543 นั้น พ.ต.ท.ทักษิณไม่ยอมรับว่า เป็นของตนเอง
"ข้าพเจ้าและคู่สมรส ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นหรือกรรมการบริษัท วินมาร์คและข้าพเจ้ามิได้เป็นเจ้าของหุ้นบริษัทชินอคร์ป นอกเหนือไปจากที่โอนให้แก่บริษัท แอมเพิลริช ฯและญาติพี่น้องคนอื่น..และกรณีบริษัท วินมาร์คฯมีหุ้นบริษัทชินคอร์ปอยู่จริงก็เป็นเรื่องของบริษัท วินมาร์ค เพราะหุ้นบริษัทชินคอร์ป(54ล้านหุ้น) เป็นบริษัทมหาชนที่ซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์" (คำให้ของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ยื่นต่อคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.)
สำหรับหุ้น 6 บริษัทที่ พ.ต.ท.ทักษิณอ้างว่า ขายให้แก่บริษัท วินมาร์คได้แก่ บริษัท โอเอไอ พร็อพเพอร์ตี้ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2546 และแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน ในวันที่ 23 สิงหาคม 2546 และนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เดือนกันยายน 2546) บริษัท เอสซี ออฟฟิซ ปาร์ค,บริษัท เวิร์ธ ซัพพลายส์ บริษัท พีที คอร์ปอเรชั่น บริษัท เอสซีเค เอสเตท และบริษัท บี.พี.พร็อพเพอร์ตี้
แต่แล้วจู่ๆ บริษัท วินมาร์คซึ่งถือหุ้นบริษัท เอสซี แอสเสทฯ จำนวน 61,165,144 หุ้น (เกือบ 20% ของทุนจดทะเบียน) มานานกว่า 3 ปี ก็โอนหุ้นจำนวนดังกล่าวให้แก่ แวลู แอสเสทส์ ฟันด์ (VAF) ตั้งอยู่บนเกาะลาบวน ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2546 ก่อนนำบริษัทเอสซี แอสเสท เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพียง 2 สัปดาห์ ทั้งๆ ที่พ.ต.ท.ทักษิณเคยให้สัมภาษณ์ว่า บริษัท วินมาร์ค มาซื้อหุ้นบริษัทเอสซี แอสเสท เพื่อผลประโยชน์จากการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น