ทีดีอาร์ไอซัด รบ.แก้หนี้นอกระบบไม่ตรงจุด แค่หวังผลการเมือง ห่วงคนกู้นอกระบบมาโปะซ้ำอีก

"ทีดีอาร์ไอ"ซัด รบ.แก้"หนี้นอกระบบ"ไม่ตรงจุด แค่หวังผลการเมือง ห่วงคนกู้นอกระบบมาโปะซ้ำอีก

"ทีดีอาร์ไอ"ซัด รบ.แก้ปัญหาหนี้นอกระบบไม่ตรงจุด แค่หวังผลทางการเมือง ไม่ต่างจาก "รบ.แม้ว" ห่วงคนร่วมโครงการเบี้ยวหนี้ หันไปกู้นอกระบบมาโปะซ้ำ ปราชญ์ชาวบ้านหวั่นกลายเป็นหนี้"งูกินหาง"

"มาร์ค-ปทีป-ธานี"ถกปมมาเฟียเงินกู้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 20 พฤศจิกายน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เรียก พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) และพล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รองเลขาธิการนายกฯฝ่ายการเมืองเข้าหารือที่ห้องทำงานในตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ใช้เวลาประมาณ 15 นาที จากนั้น พล.ต.อ.ธานี ให้สัมภาษณ์ว่า นายกฯ เรียกคุยเรื่องการแก้ไขปัญหาเงินกู้นอกระบบ ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล


"ทีดีอาร์ไอ"ชี้ รบ.แก้หนี้ไม่ตรงจุด


ด้านนายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เชื่อว่าผลลัพธ์ในการดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาล จะไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เหมือนกับโครงการของรัฐบาลในอดีต และน่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด เป็นการหวังผลทางการเมืองมากเกินไป ไม่แตกต่างจากโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เคยถูกจุดขึ้นมาเป็นประเด็นทางการเมืองอยู่พักหนึ่ง แล้วก็หายไป  


นายนิพนธ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ จากผลการสำรวจรายได้รายจ่ายครัวเรือน ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2550 พบว่าครัวเรือนมีหนี้สินในระบบอยู่ถึง 80% ขณะที่หนี้สินนอกระบบมีแค่ 20% ส่วนครัวเรือนที่มีฐานะยากจนมากที่สุด เป็นหนี้ในระบบอยู่ 56% ส่วนหนี้นอกระบบ 44% เป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน และแนวโน้มสัดส่วนหนี้ในระบบนับวันจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมูลเหตุแห่งหนี้ ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนทีวี มอเตอร์ไซค์ หรือบัตรอีออน ซึ่งมีกลุ่มลูกหนี้จำนวนมาก ถือเป็นหนี้ในระบบทั้งหมด การแก้ไขปัญหาหนี้ในระบบจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่ควรมองข้าม


ห่วงคนเบี้ยวหนี้-กู้นอกระบบอีก


นายนิพนธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ การตั้งเกณฑ์การช่วยเหลือรายละไม่เกิน 2 แสนบาท อาจเป็นตัวเลขที่สูงเกินไป เนื่องจากผลสำรวจหนี้ครัวเรือนปี 2550 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 50,000 กว่าบาทเท่านั้น และเชื่อว่าการตั้งเป้าผู้เข้าร่วมโครงการที่ 1 ล้านคน เมื่อเริ่มดำเนินการผู้เข้าร่วมโครงการที่ได้รับการพิจารณาคงมีไม่มากนัก เนื่องจากสถาบันการเงินต่างๆ ต้องระมัดระวังการปล่อยกู้ส่วนนี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียในอนาคต และรัฐบาลไม่ควรบีบบังคับให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ลักษณะนี้ เพราะสถาบันการเงินต้องนึกถึงผลประโยชน์ของประชาชนที่เอาเงินมาฝากด้วย 


"สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดของการโอนหนี้เข้ามาอยู่ในระบบครั้งนี้ คือ ปัญหาการเบี้ยวหนี้ของประชาชน เพราะในข้อเท็จจริงของการเป็นหนี้นอกระบบ แม้จะต้องเสียดอกเบี้ยแพง แต่ลูกหนี้ก็ต้องจ่าย แต่หนี้ในระบบซึ่งมีดอกเบี้ยถูกกว่า หากลูกหนี้ที่ได้รับกู้เงินไปแล้ว เกิดปัญหาขาดแคลนเงิน ก็จำเป็นต้องใช้วิธีไปกู้หนี้นอกระบบมาโปะอีก หนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 ส่วนทันที และถ้าถึงเวลาใช้หนี้พร้อมกัน เชื่อว่าลูกหนี้จะเลือกเบี้ยวหนี้ในระบบก่อน เพราะเสียอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่า สุดท้ายภาระหนี้สินหนี้ในระบบก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่กู้หนี้จนเกินตัว" นายนิพนธ์ กล่าว


แนะให้เข้าถึงเงินกู้ในระบบง่ายขึ้น


นายนิพนธ์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาหนี้ที่ตรงจุดที่รัฐบาลควรดำเนินการ คือ การทำอย่างไรให้คนที่เดือดร้อนเงินจริง สามารถเข้าถึงกระบวนการปล่อยเงินกู้ในระบบง่ายมากขึ้น โดยใช้ช่องทางกองทุนหมู่บ้าน ละกองทุนอื่นๆ ของชุมชน เนื่องจากมีระบบที่ยืดหยุ่นมากกว่าการใช้ระบบสถาบันการเงินปกติ เพราะกองทุนเหล่านี้มีความเข้าใจคนในพื้นที่อย่างดีว่า มีศักยภาพที่ปล่อยเงินให้ได้หรือไม่


"นอกจากนี้ ควรสนับสนุนการจัดทำเครดิตบูโร ทั้งในส่วนสถาบันการเงินของรัฐและกองทุนหมู่บ้าน เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการดำเนินงานด้วย นอกจากนี้ ควรเร่งสำรวจข้อมูลว่าอะไรเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดหนี้ เพื่อจะแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดมากที่สุด" นายนิพนธ์ กล่าว


ปราชญ์เชื่อเจ้าหนี้ไม่ร่วมมือ


นายประยงค์ รณรงค์ ปราชญ์ชาวบ้าน เจ้าของรางวัลแม็กไซไซ สาขาผู้นำชุมชน ปี 2547 และกรรมการคณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า นโยบายนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ รัฐบาลในอดีตเคยทำมาแล้วช่วงปี 2547-2548 โดยเปิดให้ผู้มีหนี้มาขึ้นทะเบียน และหาคนกลางมาเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากขั้นตอนการเจรจาประนอมหนี้ ไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหนี้ พอถึงเวลาไม่มาตามนัด เพราะกังวลผลประโยชน์จะเสียไปจากดอกเบี้ยที่ได้รับจากลูกหนี้ จึงมีเพียงบางส่วนได้รับการแก้ปัญหาเท่านั้น


นายประยงค์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม นโยบายเรื่องนี้ของรัฐบาลถือเป็นเรื่องที่ดีในการหาทางช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากการถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยสูงเกินจริง แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ คือการสนับสนุนเงินทุนให้กับลูกหนี้ เพื่อนำไปสร้างงาน สร้างอาชีพ หลังปัญหาหนี้สินได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นไปแล้ว


เตือนระวังเป็นหนี้ "งูกินหาง"


"รัฐบาลต้องไม่ลืมว่า แม้จะนำหนี้ที่อยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ เปลี่ยนตัวเจ้าหนี้จากตัวบุคคลมาเป็นสถาบันการเงิน แต่ภาระหนี้ของลูกหนี้ไม่ได้หมดไป การช่วยเหลือครั้งนี้เป็นเพียงแค่การชะลอความเป็นหนี้ออกไปเท่านั้น หากลูกหนี้มีปัญหาการเงินขึ้นมาอีก สุดท้ายคงต้องไปกู้หนี้นอกระบบมาใช้อีก จะทำให้หนี้เพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง จะกลายเป็นงูกินหาง หาทางออกไม่ได้" นายประยงค์ กล่าว


นายประยงค์ กล่าวว่า นอกเหนือจากปัญหาดังกล่าว สิ่งที่รัฐบาลควรระวัง คือการหาช่องเข้ามาหาผลประโยชน์จากคนบางกลุ่ม โดยสร้างหนี้ปลอมหรือทำสัญญาลอย นำมายื่นเรื่องเข้าโครงการเพื่อเอาเงินไปใช้กันเอง ทั้งที่ไม่ได้มีหนี้สินจริง กลวิธีแบบนี้กำลังเป็นที่พูดกันมากในระดับพื้นที่ว่ามีการเตรียมวางแผนกันไว้เรียบร้อยแล้ว หากรัฐบาลไม่รีบหาวิธีการรับมือ อาจทำให้โครงการนี้ต้องเจอปัญหาได้ 


ธปท.ชี้ยากตรวจหนี้นอกระบบ


นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีรัฐบาลจะแก้ไขหนี้นอกระบบเข้าสู่ในระบบว่า เป็นเรื่องดี แต่ต้องดูว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะการจะตรวจสอบเอกสารของเจ้าหนี้นอกระบบเป็นเรื่องยาก ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตในระบบที่มองว่าสูงเกินไปนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องของอุปสงค์ในตลาด หากมีความต้องการด้านสินเชื่อมากจะเกิดการแข่งขันก็อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความต้องการของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม มองว่าอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตปัจจุบันอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ 


"อยากให้ดูทั้ง 2 ด้าน หากมองว่าสูงเกินไป จะดูเป็นการเอาเปรียบผู้ใช้ แต่อีกด้านหากต่ำเกินไปก็จะกระทบต่อความเสี่ยงของลูกค้าทำให้สถาบันการเงินไม่กล้าปล่อย จะทำให้ไปใช้บริการเงินกู้นอกระบบ" นางธาริษา กล่าว


"กสิกร"ยันไม่กระทบสินเชื่อแบงก์


นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เป็นเรื่องดีที่จะช่วยให้ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบสามารถเข้าระบบการเงินที่ถูกต้องได้ เพราะอัตราดอกเบี้ยนอกระบบสูงมาก เฉลี่ย 20% ต่อเดือน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลในระบบอยู่ที่ 28% ต่อปี


"ปัจจัยหนึ่งที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบได้ คือเรื่องความชัดเจนด้านรายได้ ซึ่งธนาคารและนอนแบงก์ (สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์) ต่างมีข้อกำหนดเรื่องรายได้ขั้นต่ำที่ต้องมี 1 หมื่นบาทต่อเดือนขึ้นไป ผู้ที่มีรายได้น้อยจึงไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ ต้องแก้ไขจากต้นตอในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย แม้กฎหมายจะกำหนดให้เรียกเก็บไม่เกิน 15% แต่ไม่มีบทลงโทษจึงไม่มีใครทำตาม หากมีการเอาจริงในเรื่องนี้จะช่วยแก้ไขหนี้นอกระบบได้" นายชาติชาย กล่าว


นายชาติ กล่าวว่า การแก้ไขหนี้นอกระบบของรัฐบาล ไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารแน่นอน เนื่องจากเป็นการแก้ไขหนี้ที่เกิดในอดีตไม่ใช่ในปัจจุบัน จึงไม่ส่งผลให้ลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารไหลไปเข้าโครงการนี้ แต่อาจมีส่วนหนึ่งที่เป็นหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบที่อาจเข้าร่วมด้วยส่วนหนึ่ง


ตร.โคราชรวบ 38 ราย "แก๊งเงินกู้"


วันเดียวกัน พล.ต.ต.เดชาวัต รามสมภพ รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 (ผบช.ภ.3)  พร้อม พล.ต.ต.ฉัตรกนก เขียวแสงส่อง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (ผบก.ภ.จว.) นครราชสีมา และพ.ต.อ.ภควัต ธรรมดี ผกก.สภ.ปากช่อง ร่วมแถลงข่าวผลการกวาดล้างจับกุมแก๊งออกเงินกู้นอกระบบ ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ 15% โดยผู้ต้องหาเป็นชายฉกรรจ์ 38 คน พร้อมของกลางเป็นสมุดบัญชีเก็บหนี้ สำเนาบัตรประชาชนจำนวนมาก เงินสดจำนวนหนึ่ง เครื่องถ่ายเอกสารแบบพกพา 1 เครื่อง และรถจักรยานยนต์ 10 คัน


พล.ต.ต.เดชาวัต กล่าวว่า การกวาดล้างจับกุมแก๊งเงินกู้ครั้งนี้ เพราะมีประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม่ค้าหลายรายใน จ.นครราชสีมา ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากกลุ่มบุคคลที่ออกเงินกู้นอกระบบเรียกเก็บดอกเบี้ยสูง เริ่มต้นที่ร้อยละ 20 บางรายคิดสูงถึงร้อยละ 60 โดยเรียกเก็บเป็นรายวัน หากขาดส่งดอกเบี้ยหรือส่งไม่ตรงเวลา จะส่งชายฉกรรจ์มาข่มขู่บังคับทวงหนี้ บางรายถึงขั้นขู่จะทำร้ายร่างกาย ทั้งตบตี บุกทำลายทรัพย์สินภายในร้าน หรือแผงตลาด จึงระดมกำลังสืบสวนสอบสวนทุกพื้นที่จนติดตามจับกุมแก๊งเก็บเงินกู้ และทวงหนี้ได้ตามตลาดสดหลายแห่ง ควบคุมตัวทั้งหมดมาสอบสวน เบื้องต้นผู้ต้องหายังให้การปฏิเสธ บางรายอ้างตัวรับว่าเป็นผู้ปล่อยกู้ด้วยตัวเอง


ลั่นขยายผลนายทุนปล่อยกู้


"ข้อมูลการสืบสวนทางลับทราบว่า มีนายทุนรายใหญ่หลายรายที่เป็นผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังการปล่อยเงินกู้ และแบ่งกลุ่มบุคคลกระจายแต่ละพื้นที่ดูแลลูกหนี้ คาดว่าวงเงินกู้หมุนเวียนของนายทุนนอกระบบรายนี้เฉพาะใน จ.นครราชสีมา ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท สาเหตุสำคัญที่ทำให้พ่อค้าแม่ค้า หรือประชาชนทั่วไป ใช้บริการแก๊งเงินกู้นอกระบบ เพราะเข้าถึงการกู้เงินได้ง่าย เงื่อนไขไม่ยุ่งยากซับซ้อน" พล.ต.ต.เดชาวัต กล่าวและว่า เจ้าหน้าที่จะดำเนินคดีอย่างจริงจัง เนื่องจากมีพฤติการณ์ออกเงินกู้ และข่มขู่ทำร้ายร่างกายลูกหนี้ โดยผู้เสียหายที่เป็นลูกหนี้สามารถมาชี้ตัวเพื่อตำรวจจะรวบรวมพยานหลักฐานส่งดำเนินคดี และขยายผลนำไปสู่การดำเนินคดีกับตัวการใหญ่ที่เป็นนายทุนผู้อยู่เบื้องหลังต่อไป


รายงานข่าวแจ้งว่า จากการสืบสวนเชิงลึกของตำรวจ พบว่ากลุ่มปล่อยเงินกู้นอกระบบใน 8 จังหวัดอีสานตอนล่าง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนายทุนในพื้นที่ คาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 100 ราย ซึ่งมีความสัมพันธ์กับบุคคลในเครื่องแบบที่คอยให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก ทำให้การจับกุมตัวกลุ่มนายทุนทำได้ยาก และผู้เสียหายไม่ให้ความร่วมมือแจ้งเบาะแสกับตำรวจ เพราะเกรงกลัวอิทธิพล แม้มีการกวดขันจับกุมอย่างจริงจัง แต่ปัญหายังไม่หมดไป เนื่องจากเงินกู้นอกระบบเป็นธุรกิจที่สมยอมกันทั้งสองฝ่าย ทำให้การสืบหาข้อมูลการกระทำผิดทำได้ยาก 


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์