ก.ล.ต.เปิดหลักฐานกลางศาล แม้ว-อ้อ ตั้งกองทุนลับ ซีเนตรา ทรัส ผ่องถ่ายกำไรหุ้นชินฯ-เอสซี แอสเซทฯ

ก.ล.ต.เปิดหลักฐานกลางศาล "แม้ว-อ้อ" ตั้งกองทุนลับ "ซีเนตรา ทรัส" ผ่องถ่ายกำไรหุ้นชินฯ-เอสซี แอสเซทฯ

ก.ล.ต.แจงเบิกความศาลเผยกองทุนลับ "ซีเนตรา ทรัส" มี "แม้ว-อ้อ-ลูก 3คน" ถือหุ้น นอมินีถือหุ้นให้ ย้ำมีหลักฐานเอสซี-วินมาร์ค "ทักษิณ-พจมาน" เป็นเจ้าของช่วงนั่งเก้าอี้นายกฯ ระบุจำเลยสามารถซักค้านข้อมูลที่ยังไม่เคยเห็นนี้ได้

นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ถึงการเบิกความต่อศาลแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและครอบครัว จำนวน 7.6 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ว่าเป็นการชี้แจงเกี่ยวกับการปกปิดโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัท เอสซี แอสเซท จำกัด (มหาชน) รวมถึงโครงสร้างความเป็นเจ้าของในวินมาร์ค ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของบริษัท แอมเพิลริช อินเวสเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แต่อย่างใด


นางวรัชญากล่าวว่า ได้ยืนยันต่อศาลว่ามีพยานหลักฐานบ่งชี้สอดคล้องว่า พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นเจ้าของวินมาร์ค หลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณเคยรายงานต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าได้ขายขาดออกไปแล้วจาก 5 ปัจจัย คือที่มาของเงินที่ทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานแจ้งว่าได้รับจากการขายหุ้นในปี 2543 โครงสร้างการถือหุ้นในวินมาร์ค อำนาจในการจัดการในวินมาร์ค การตรวจสอบข้อมูลธนาคารพาณิชย์และสิ่งแวดล้อมอื่น


ทั้งนี้ จากการตรวจสอบกรณี พ.ต.ท.ทักษิณขายหุ้น 5 บริษัท หรือที่รวมเป็นบริษัท เอสซี แอสเซท จำกัด (มหาชน) ให้กับวินมาร์คในปี 2543 พบว่า จากหลักฐานการชำระเงินจำนวน 1,500 ล้านบาท เป็นการโอนเงินจากธนาคาร 4 แห่ง จากสิงคโปร์ ในจำนวนหลายบัญชี โดยเงิน 300 ล้านบาท มาจากบัญชีของ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน และอีก 1,200 ล้านบาท มาจากบัญชีของวินมาร์คในสิงคโปร์


ขณะที่จากการตรวจสอบโครงสร้างการถือหุ้นในวินมาร์ค พบว่าเป็นการถือหุ้น 100% โดยบริษัท บลูไดมอนด์ และบริษัทบลูไดมอนด์ยังมีผู้ถือหุ้น 100% เป็นทรัสต์ในกลุ่ม แมธทีสัน ทรัสต์ (Matheson Trust) เป็นบริษัทรับจัดการบริษัท เพื่อประโยชน์ของทรัสต์อีกแห่งคือ "ซีเนตรา ทรัส" มีผู้รับประโยชน์ 5 คน คือ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานพร้อมลูกทั้ง 3 คน โครงสร้างทรัสต์คือ การทำสัญญาเข้ามาฉบับหนึ่ง เพื่อให้ทรัสต์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย แต่ถือเพื่อประโยชน์ผู้รับประโยชน์หรือที่เรียกว่า  Benefitcial Owner


นอกจากนั้น ในส่วนของอำนาจการจัดการในวินมาร์คพบว่า ได้ว่าจ้างบริษัทรับจ้างจัดการในฮ่องกงเป็นคนบริหารจัดการ เป็นบริษัทในกลุ่มแมธทีสัน ทรัสต์ เป็นไปตามสัญญาจัดบริหารที่ทั้ง 2 คนเป็นผู้ว่าจ้าง เป็นการว่าจ้างให้บริษัทหนึ่งเป็นผู้ถือหุ้น อีกบริษัทหนึ่งเป็นกรรมการและอีกบริษัทเป็นผู้ติดต่อธนาคาร ซึ่งได้ชี้แจงต่อศาลว่า นอกจากจะเห็นสัญญาบริหารแล้ว ยังดูด้วยว่าบริษัทเหล่านี้ใครเป็นคนสั่งการให้ทำด้วย


นางวรัชญากล่าวถึงการตรวจสอบข้อมูลของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 4 แห่งในต่างประเทศว่า เอกสารหลักฐานที่เปิดบัญชีทั้ง 5 บริษัท คือ วินมาร์ค, บลู ไดมอนด์, แวลู แอสเซท ฟันด์, ออฟชอร์ ไดนามิก และโอเวอร์ซีโกลท ฟันด์ ทุกบัญชีจะระบุทั้ง 2 คน คือ พ.ต.ท.ทักษิณหรือคุณหญิงพจมานหรือคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของบัญชี ในกฎหมายการป้องกันการฟอกเงินในต่างประเทศ จะเข้มงวดกว่าไทยมาก ในการเปิดบัญชีธนาคารพาณิชย์จะต้องตรวจสอบบุคคลเจ้าของบัญชีอย่างเข้มงวด หากมีความเสี่ยงมากจะยิ่งวิเคราะห์อย่างละเอียด โดยเฉพาะอาชีพนักการเมือง ถือว่าเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง เพราะการทุจริตคอร์รัปชั่น ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของการฟอกเงิน ทำให้สามารถรู้ข้อมูลเจ้าของบัญชีได้ชัดเจน ส่วนสภาพแวดล้อมอื่น จะดูจากการลงทุนของวินมาร์คในไทย ที่พบว่าเป็นผู้ถือหุ้นในกลุ่มครอบครัวชินวัตรคือถือหุ้น 1.8% ในบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)


"ก.ล.ต.ไม่เคยเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ เนื่องจากข้อมูลรายละเอียดมาจากต่างประเทศที่ให้ความช่วยเหลือ แต่มีข้อตกลงตามกฎหมายที่จะให้เฉพาะในศาลเท่านั้น ศาลได้ถามข้อเท็จจริงและได้ชี้แจงในข้อตกลงดังกล่าวไปแล้ว ตามข้อตกลง หากมีผู้มีอำนาจตามกฎหมายเรียกร้องให้เปิดเผยจึงจะทำได้ ศาลได้ยืนยันให้พูดและได้ชี้แจงว่าพยานหลักฐานเหล่านี้ได้ส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไปหมดแล้ว ตัวผู้ถูกกล่าวถึงเอง ทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานเองก็ยังไม่เคยเห็นข้อมูลเหล่านี้ และทั้ง 2 ยังสามารถซักค้านเอกสารต่างๆ เหล่านี้ได้" นางวรัชญากล่าว


อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต.ได้ชี้แจงต่อศาลว่า ก.ล.ต.เองอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เหมือนกรณีการตรวจสอบข้อมูลของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ใน 2 เรื่อง การปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นในแบบแสดงรายการเพื่อเสนอขายหุ้น (ไฟล์ลิ่ง) และการไม่รายงานตามแบบรายงาน 246 ของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากหากศาลชี้ว่าวินมาร์คเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณจริง จะทำให้เห็นว่าไม่ได้เปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่แท้จริง และหากนำหุ้นที่วินมาร์คถือ 1.8% มารวมกับที่ครอบครัวชินวัตรถือ 49% ก็มากกว่า 50% จะข้ามเส้นที่ต้องรายงานเช่นกัน ดังนั้น จะต้องจ่ายค่าปรับให้กับ ก.ล.ต.ด้วย


ส่วนกรณีบริษัท เอสซี แอสเซท จำกัด (มหาชน) ที่ ก.ล.ต.ยื่นกล่าวโทษไป 2 กรณี คือ การปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นรวมถึงการไม่รายงานข้อมูลตามแบบ 246 นั้น นางวรัชญากล่าวว่า ถือว่าคดีจบไปแล้ว เนื่องจากอัยการมีความเห็นไม่ฟ้อง และดีเอสไอไม่ได้มีความเห็นแย้งออกไป ส่วนการจะรื้อคดีขึ้นมาอีกหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่ทราบชัดเจนว่าสามารถกระทำได้หรือไม่ แต่ภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ถือว่ามีข้อจำกัด หากจะดำเนินการให้เข้มและกว้างกว่า น่าจะเป็นการยื่นฟ้อง ป.ป.ช.มากกว่า  


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์