โพลล์คนใต้ไม่เห็นด้วยแม้วนั่งที่ปรึกษาเขมร มองเห็นแก่ตัว

เมื่อวันที่ 15 พ.ย.  หาดใหญ่โพล  โดยสำนักวิจัยและพัฒนา  มหาวิทยาลัยหาดใหญ่  

ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนใน 14 จังหวัดภาคใต้  เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา   โดยเก็บรวบรวมข้อมูลประชาชน จำนวน  1,190  ตัวอย่าง และใช้แบบสำรวจเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล 

ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่   11-13  พฤศจิกายน  2552   สรุปผลการสำรวจ พบว่า
 
ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 87.9 ไม่เห็นด้วยกับ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร ในการรับตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลกัมพูชา โดยประชาชนให้เหตุผลว่า อดีตนายกรัฐมนตรีสุ่มเสี่ยงกับการเป็นบุคคลขายชาติ     มากที่สุด รองลงมา อดีตนายกรัฐมนตรีอาจนำข้อมูลหรือความลับของประเทศไปให้กับกัมพูชา และอดีตนายกรัฐมนตรีเป็นผู้กระทำผิดของประเทศไทย ตามลำดับ มีเพียงร้อยละ 12.1 ที่เห็นด้วยกับอดีตนายกรัฐมนตรีในการรับตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลกัมพูชา 

นอกจากนี้ ประชาชนร้อยละ 35.3 รู้สึกว่า

พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร เห็นแก่ประโยชน์ของตัวเองมากกว่าประเทศชาติ  ในกรณีการสัมภาษณ์ผ่านไทมส์ออนไลน์  รองลงมา เห็นว่า พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร ไม่เห็นจะรักชาติเหมือนที่พูดไว้ และรู้สึกว่าอดีตนายกรัฐมนตรีเป็นคนทรยศต่อชาติ คิดเป็นร้อยละ 20.5 และ 19.5 ตามลำดับ  ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ พบว่า ประชาชนร้อยละ 25.2 เห็นว่าปัญหาการจาบจ้วงและให้ร้ายของ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร ต่อสถาบันสูงสุดของประเทศ เป็นปัญหาต่อความมั่นคงของประเทศ มากที่สุด รองลงมา ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนเขาพระวิหาร ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และปัญหาการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง คิดเป็นร้อยละ  22.8  19.6  และ 18.6  ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ประชาชนร้อยละ 59.9 เห็นด้วยกับมติคณะรัฐมนตรีในการยกเลิก (MOU) ระหว่างไทย-กัมพูชา ปี 2544 เกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล

โดยให้เหตุผลว่า (MOU) ระหว่างไทย-กัมพูชา ปี 2544  ทำให้เสียเปรียบกัมพูชา มากที่สุด และร้อยละ 40.1 ไม่เห็นด้วยให้มีการยกเลิก (MOU) ระหว่างไทย-กัมพูชา ปี 2544  ทั้งนี้ประชาชนร้อยละ 52.2  เห็นว่าความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา จะไม่ทำให้เกิดสงครามระหว่างสองประเทศ โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาและควบคุมสถานการณ์ได้ มากที่สุด  และร้อยละ 47.8 อาจนำไปสู่การปะทะและเกิดสงครามได้

ประชาชนร้อยละ 44.0 เห็นควรให้รัฐบาลตัดความช่วยเหลือชั่วคราวกับรัฐบาลกัมพูชา มากที่สุด รองลงมา ปิดชายแดนไทย-กัมพูชา (ร้อยละ 33.9) และเร่งดำเนินการยกเลิก (MOU) ระหว่างไทย-กัมพูชา ปี 2544        (ร้อยละ 26.6) นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 75.9 เห็นว่าความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อประชาชนไทย


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์