มาร์คจำกัดวง ปมกัมพูชา ไม่พูดปิดด่าน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 พ.ย.

ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นาย กษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ได้เสนอขอความเห็นชอบในหลักการการยกเลิกกรอบบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ระหว่างไทยกับกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทย และกัมพูชา ต่างอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนบนอ่าวไทยฉบับ ลงนามวันที่ 18 มิ.ย.2544 สมัย รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนส่งให้สภาดำเนินการต่อไป ที่ประชุมใช้เวลาหารือกันนานกว่า 15 นาที

ทั้งนี้ นายกษิต ได้รายงานต่อที่ประชุม โดยระบุว่า บันทึกความเข้าใจดังกล่าวได้จัดทำขึ้นในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน

คือ ในส่วนของพื้นที่ผลประโยชน์ และการจัดการเรื่องเขตแดน ซึ่งเรามีเหตุผลเพียงพอที่จะยุติการเจรจาเรื่องนี้ มีอยู่ 2 ข้อ คือ 1. ตามเอ็มโอยูนั้น จะต้องมีการเจรจาไปพร้อมกันทั้งสองส่วน ทั้งเรื่องการปักปันเขตแดน และเรื่องพื้นที่ผลประโยชน์ แต่กัมพูชา มีการดำเนินการเจรจา แต่เรื่องผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว จึงไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเอ็มโอยู

และ 2. การดำเนินการ เพื่อให้เป็นไปตามเอ็มโอยู ระยะเวลาล่วงเลยมานาน 8 ปีแล้ว แต่กลับไม่มีอะไรคืบหน้าเลย ซึ่งทั้ง 2 ส่วน จะต้องเดินไปพร้อมกัน จึงถือว่าไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในบันทึกช่วยจำที่ตั้งไว้ นอกจากเรื่องนี้ยังมีเรื่องการที่กัมพูชาที่แต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่ง ครม.เห็นว่าอาจทำให้ไทยเสียผลประโยชน์ เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ รู้เรื่องรายละเอียดข้อตกลงนี้อย่างลึกซึ้งเป็นอย่างดี จึงมีความเป็นห่วง  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะ ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมเหตุผลในการยกเลิกเอ็มโอยูว่า

การที่รัฐบาลตัดสินใจยกเลิกเอ็มโอยูส่วนหนึ่ง เนื่องจากทางกัมพูชาก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรมของไทย และคดีของพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคดีการเมือง มีผลประโยชน์ทับซ้อน และนายกฯและครม. ส่วนใหญ่ยังได้สอบถามว่า เอ็มโอยูเรื่องดังกล่าวนี้จะถือว่าเป็นสนธิสัญญาตาม มาตรา 190 หรือไม่ และทำอย่างไรถึงจะให้มีผล เพราะวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าขั้นตอนการดำเนินการจะต้องเป็นอย่างไร รวมทั้งในระหว่างที่เรายุติเอ็มโอยูแล้ว จะมีผลผูกพันอะไรตามเอ็มโอยูดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งผู้แทนของกระทรวงการต่างประเทศยืนยันหนักแน่นว่า เข้าข่ายเป็นสนธิสัญญา ไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอย่างไร ต้องนำเสนอต่อรัฐสภา และมีแนวทางเสนอยกเลิกหลายวิธี ในบางกรณีตามหลักการจะต้องมีการประกาศล่วงหน้าแก่คู่ภาคีสัญญา เป็นเวลา 6 เดือน - 1 ปี แล้วแต่เหตุผลจะยกเลิกว่าด้วยเหตุผลอะไร ซึ่งทางประเทศคู่ภาคีสัญญาก็จะพิจารณาว่าจะรับหรือไม่ หากไม่รับก็สามารถยื่นเรื่องต่อสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพื่อตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ยได้ แต่ก็จะติดขัดปัญหาคือ ประเทศไทยไม่ได้เป็นสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยคณะกรรมการไกล่เกลี่ยของยูเอ็น

นอกจากนี้ ครม.ยังกังวลด้วยว่า ถ้านำเสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาจะเป็นการขอความเห็นชอบยกเลิกเอ็มโอยู หรือ จะพียงแค่ขอความเห็นจากสภาฯ เพราะในการให้ความเห็นชอบเอ็มโอยูดังกล่าว ยังไม่มีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ประชุม ครม.จึงต้องมอบหมายให้ กระทรวงต่างประเทศ ไปพิจารณาช่องทางดำเนินการต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฯ ได้กำชับว่า มติ ครม. ให้ออกอย่างรัดกุม และ เนื่องจากใกล้ปิดสมัยการประชุมสภาแล้ว จะสามารถเสนอบรรจุเข้าเป็นวาระในสภาไว้ก่อนได้หรือไม่

และขอย้ำว่าตนไม่เคยพูดเรื่องจะปิดด่าน เราจะไม่ไปพูดถึงเรื่องดังกล่าว แต่ในโอกาสนี้ ถือว่าดี เท่าที่นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ ไปตรวจพื้นที่ชายแดนพี่น้องประชาชน ยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่จะขอให้ใช้โอกาสนี้ตรวจเข้ม กรณีที่มีคนไทยใช้บัตรผ่านแดนไปเล่นการพนันที่ฝั่งกัมพูชา ขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจตราเข้มงวดให้เป็นไปอย่างถูกต้องยิ่งขึ้น นอกจากนี้ตนขอให้ ครม.ทุกคน ช่วยกันชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนให้ชัดเจน


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์