ที่มา - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์" ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สทท.11) เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 8 พฤศจิกายน
นายกฯฮุน เซน (สมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา) พูดกับผมมาตลอดว่าควรมองไปที่อนาคต ไม่ควรยึดติดกับอดีต
และพร้อมจะเดินหน้าให้ความสัมพันธ์ต่างๆ เป็นไปด้วยความราบรื่น ในการพูดคุยกันส่วนใหญ่ นายกฯฮุน เซน เป็นฝ่ายหยิบยกกรณีของท่านอดีตนายกฯไทย (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ขึ้นมาพูดกับผม ผมจะไม่เป็นฝ่ายที่เริ่มต้นพูดก่อน นายกฯฮุน เซน บอกผมเสมอว่า แม้ว่าอดีตนายกฯทักษิณเป็นเพื่อน แต่จะไม่ให้ความเป็นเพื่อนมาอยู่เหนือเรื่องของความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง 2 ประเทศ อันนี้เป็นคำกล่าวของนายกฯฮุน เซน ที่พูดกับผมมาโดยตลอด ดังนั้น ตลอดเวลา 10 เดือนโดยประมาณ จะเห็นว่ามีการกระทบกระทั่งกันในเรื่องปราสาทพระวิหารเมื่อเดือนเมษายน แต่สุดท้ายทุกอย่างก็กลับเข้าสู่กระบวนการการเจรจา กลับเข้าสู่แนวทางแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี ผมถือว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศคือการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีด้วยการแสดงออกถึงความจริงใจ และความเคารพซึ่งกันและกัน .....
ก่อนหน้านี้แม้ว่าจะมีความพยายามพูดว่ารัฐบาล 2 ประเทศจะมีปัญหาความสัมพันธ์กันหรือไม่อย่างไร แต่ยืนยันว่าตลอดเวลา 10 เดือน และทุกครั้งที่มีการพบปะกัน ไม่ได้มีปัญหากัน ตรงข้ามมีการเพิ่มพูนความตกลงและความร่วมมือกันด้วยซ้ำในเรื่องการขนถ่ายสินค้าผ่านแดน
ล่าสุดสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่นายกฯฮุน เซน เดินทางกลับไปหลังการประชุมสุดยอดอาเซียน ทางรัฐบาลกัมพูชาได้แต่งตั้งอดีตนายกฯทักษิณเป็นที่ปรึกษาส่วนตัว และที่ปรึกษารัฐบาล
อีกทั้งยังมีการออกแถลงการณ์ว่าหากจะมีการขอตัวผ่านสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน กัมพูชาจะไม่ดำเนินการในเรื่องนี้ แล้วยังวิพากษ์วิจารณ์ทั้งการเมืองไทย และกระบวนการยุติธรรมของไทย ตั้งคำถามในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาลและความเที่ยงธรรม ผมถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประเทศไทยและคนไทยยอมรับไม่ได้ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ปัญหาความขัดแย้งการเมืองภายในประเทศเรา แต่เป็นเรื่องที่เราทุกคนจะต้องยืนยันถึงความถูกต้อง และศักดิ์ศรีของสถาบันหลักของเราคือกระบวนการยุติธรรม นี่คือปัญหาประการแรก
อภิสิทธิ์:ลดสัมพันธ์เขมร ไม่ใช่เรื่องพรรคการเมือง
ปัญหาอีกประการคือ การแต่งตั้งอดีตนายกฯทักษิณเป็นที่ปรึกษา ย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อผลประโยชน์ของประเทศไทยในการเจรจา
ขณะนี้รัฐบาลได้เดินหน้าทบทวนบางข้อตกลง อย่างการเจรจาเรื่องผลประโยชน์ในทะเลก็เกิดขึ้นในสมัยของอดีตนายกฯ ดังนั้น หากต้องมีการเจรจาเพื่อแบ่งผลประโยชน์กัน ซึ่งก็ต้องมีความขัดแย้งกันอยู่บ้าง แต่ปรากฏว่าคนที่เคยเป็นหัวหน้าในการเจรจาล่วงรู้ข้อมูลต่างๆ วันดีคืนดีไม่ได้อยู่ทางนี้แล้วกลับไปเป็นที่ปรึกษาของอีกฝ่าย ผมว่ากรอบการเจรจาตรงนี้เป็นใครก็ต้องทบทวน เพราะมีผลประโยชน์ขัดกันอย่างชัดเจน และนั่นคือเหตุผลที่ผมได้เคยเตือนนายกฯฮุน เซน ว่าต้องคิดให้ดีหากจะเอาเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือเรื่องอื่นใดก็ตามเข้ามา ก็จะเป็นปัญหาในความร่วมมือต่างๆ ที่เป็นความสัมพันธ์ของระหว่าง 2 ประเทศ ยังไม่นับกรณีที่อดีตนายกฯมีสถานะของการเป็นนักธุรกิจ และมีข่าวโดยตลอดว่าอาจจะเข้าไปมีประโยชน์โดยตรงที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรในทะเลด้วย
สิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำในขั้นแรกคือ การดำเนินการตามขั้นตอนทางการทูตเพื่อแสดงออกและบ่งบอกถึงความไม่พอใจ
และต้องการลดระดับความสัมพันธ์ หากทัศนคติยังเป็นเช่นนี้ก็ใช้วิธีการเชิญเอกอัครราชทูตไทยในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา กลับมาเพื่อทบทวนและรับมอบนโยบายใหม่ อันนี้เป็นหลักที่มีการปฏิบัติกัน และทางกัมพูชาก็มีสิทธิจะทำเช่นเดียวกัน ขั้นที่ 2 คือข้อตกลงต่างๆ ซึ่งไม่สามารถดำเนินการต่อได้ เพราะจะทำให้เราเสียเปรียบทันที ตรงนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดา มีเหตุมีผลทุกประการ และที่สำคัญที่สุดคือเป็นการรักษาศักดิ์ศรีและผลประโยชน์ของประเทศไทยและคนไทยอย่างชัดเจน ไม่มีเรื่องอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง
ผมตระหนักดีว่าการดำเนินการเช่นนี้ต้องทำด้วยความระมัดระวัง สุขุมรอบคอบ ผมจึงมอบนโยบายไป 3 ประการคือ
1.ไม่ต้องการให้ความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างประชาชนด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณชายแดน เราต้องการให้มีการทบทวนเรื่องต่างๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่ฝ่ายกัมพูชาก่อขึ้น และแก้ไขด้วยสันติวิธี ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะทำให้เกิดความตึงเครียดบริเวณชายแดน ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดการปะทะ หรือใช้ความรุนแรงกัน
2.ต้องดูแลคนไทย ก่อนที่ท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญจะเดินทางกลับมา ท่านได้เชิญนักธุรกิจและภาคเอกชนของไทยที่ไปทำธุรกิจในกัมพูชามาพบเพื่อแจ้งสถานการณ์ และให้ความห่วงใยกับคนของเราที่นั่น พร้อมยืนยันว่านโยบายที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ร่วมกันของพี่ประชาชน 2 ประเทศ ยังไม่มีอะไรกระทบกระเทือน แต่บางเรื่องผมเรียนตรงๆ เช่น ตอนนี้อยากจะบอกว่าคนไทยที่เคยเดินทางเข้าไปเพียงเพื่อไปเล่นการพนัน ก็อยากจะบอกว่าหยุดเถอะครับ เพื่อช่วยกันส่งสัญญาณว่าถ้าอยากให้ทุกสิ่งทุกอย่างกลับไปดำเนินการตามปกติ ก็ขอให้ทางรัฐบาลกัมพูชาปฏิบัติต่อเราอย่างที่ควรปฏิบัติ ในเรื่องของความจริงใจ และความเคารพซึ่งกันและกัน
3.ปัญหาไทย-กัมพูชาจะไม่กระทบกับอาเซียนและมิตรประเทศ ดังนั้น ในช่วงของการประชุมอนุภาคลุ่มน้ำโขงที่ประเทศญี่ปุ่น ทางนายกฯฮุน เซน ก็ไปร่วม ผมก็ไปร่วม ต่างคนต่างมีหน้าที่ในการทำให้ความร่วมมือในกรอบตรงนี้เดินหน้าไป แต่ความร่วมมือและหรือการช่วยเหลือต่างๆ จะเป็นประโยชน์ก็ต่อเมื่อมันเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และความสัมพันธ์ที่ดีจะทำให้ความร่วมมือนั้นมีความยั่งยืนและประสบความสำเร็จ ซึ่งขึ้นอยู่กับทั้งความจริงใจ ความเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกันของประเทศ อันนี้เป็นหน้าที่โดยตรงของผู้นำและรัฐบาล นี่คือสิ่งที่ผมพูดในที่ประชุม และยังมีการเขียนข้อความลงในปฏิญญาโตเกียวด้วย เช่นเดียวกันในช่วงปลายสัปดาห์นี้จะมีการประชุมอาเซียนกับสหรัฐ ก็จะไม่กระทบอะไร อาเซียนยังสามารถเข้าไปจัดการประชุมกับทางสหรัฐได้ตามปกติ นี่คือสถานะของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา
ขอยืนยันว่าทุกอย่างที่รัฐบาลดำเนินการมาเพื่อประโยชน์และศักดิ์ศรีของคนไทยทั้งประเทศ
และผมอยากเชิญชวนประชาชนคนไทยแสดงออกถึงความสมัครสมานสามัคคี และร่วมกันแสดงจุดยืนตรงนี้ว่าเราต้องการเป็นและมีเพื่อนบ้านที่ดี ซึ่งต้องอยู่บนพื้นฐานการแสดงออกถึงความจริงใจและความเคารพซึ่งกันและกัน ผมคิดว่าคนไทยทุกคนคงไม่ต้องการที่เห็นประเทศไทยเสียเปรียบ ไม่ต้องการเห็นประเทศไทยถูกลดทอนความน่าเชื่อถือโดยประเทศใดก็ตาม ดังนั้น ดีที่สุดคือความสมัครสมานสามัคคีและร่วมกันอย่างมีเอกภาพ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของพรรคการเมือง ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล ฝ่ายค้าน เรื่องนี้ควรจะเป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยและคนไทย นี่คือสิ่งที่อยากจะเล่าให้กับพี่น้องประชาชนได้รับทราบ ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 2-3 วันที่ผ่านมานั้น มีกำลังใจจากพี่น้องประชาชนจำนวนมาก ทุกวัย ทุกภาคที่บอกว่า เรื่องนี้เป็นกำลังใจให้รัฐบาลรักษาความเข้มแข็งและความถูกต้องในการดำเนินนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้านของเรา