มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา เมื่อเวลา 10.00 น .วันที่ 8 พ.ย. นายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศ และที่ปรึกษาส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จงใจใส่ร้าย พ.ต.ท.ทักษิณ จากกรณีที่ออกมาระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนเริ่มเจรจาในบันทึกความเข้าใจ เอ็มโอยู ระหว่างไทย-กัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน เมื่อปี 2544 โดยได้นำหลักฐานเอกสาร เอ็มโอยู มาเปิดเผย พร้อมระบุว่า เอ็มโอยูฉบับดังกล่าว ได้มีการเจรจามาตั้งแต่ปี 2543 ในสมัยพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี มีนายสุรินทร์ พิทสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และมีม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัทธิ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จนเกือบจะบรรลุผล และได้มีการทำเอ็มโอยูฉบับนี้ในวันที่ 5 ตุลาคม 2543 ที่อ.ชะอำจงเพชรบุรี ซึ่งหากรัฐบาลจะยกเลิก ก็เป็นเรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์ควรทบทวนอีกครั้ง ว่าจะเกิดผลกระทบมากน้อยเพียงใด
“ สุนัขถ้าเห็นใบตองแห้งมักจะเห่า แต่นักการเมืองไม่ควรเห่าเรื่องที่ไม่มีหลักฐานไม่มีข้อมูลใดๆ พรรคประชาธิปัตย์เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจตนเมื่อครั้งเป็นรมว.ต่างประเทศว่าเอื้อประโยชน์ให้พ.ต.ท.ทักษิณ ผ่านมาถึงวันนี้ก็ยังไม่มีหลักฐาน ถ้าพบว่าพ.ต.ท.ทักษิณ มีสัมปทานที่กัมพูชา ท่านประกาศยกให้ทั้งหมด ผมอยากให้พรรคประชาธิปัตย์นำความจริงมาพูด อย่าใส่ร้ายคนอื่นโดยไม่มีมูล” นายนพดล กล่าว
นายนพดล กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ รับตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้รัฐบาลกัมพูชา โดยเน้นเฉพาะเศรษฐกิจระดับรากหญ้า
พัฒนาสินค้าโอท็อปและธนาคารหมู่บ้าน ไม่เกี่ยวข้องกับการเจรจาระดับรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีความลับและถึงมีความลับก็ไม่ทำอย่างที่ถูกกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีมา 6 ปี ทำประโยชน์ให้ประเทศมามาก ไม่มีทางทำร้ายประเทศ และยังถูกยึดพาสปอร์ตทุกเล่ม จะมีปัญญาเอาความลับของประเทศไปบอกประเทศอื่นได้อย่างไร เอ็มโอยู ไม่ใช่กรอบการเจรจาแต่เป็นเพียงกลไกในการเจรจาเท่านั้น ซึ่งกลไกการเจรจาทำได้เพียงการให้มีคณะกรรมทางเทคนิคมาพิจารณาเรื่อง ตราบใดที่ยังไม่มีการเจรจาก็ยังไม่มีเรื่องที่ไทยจะเสียหายอะไร
ผู้สื่อข่าวถามว่าพ.ต.ท.ทักษิณ จะยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีและนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศเพื่อนพิสูจน์ในชั้นศาลหรือไม่
นายนพดล กล่าวว่า ขณะนี้พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังให้ทนายความศึกษาว่าเข้าข่ายหมิ่นประมาทหรือได้หรือไม่ ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศนั้นตนไม่อยากเสียเงินและเสียเวลาแม้แต่บาทเดียวในการจ้างทนายฟ้องร้อง เมื่อถามว่าการยกเลิกเอ็มโอยู ต้องผ่านความเห็นชอบของสภาตามาตรา 190 หรือไม่ นายนพดล กล่าวว่า เป็นเรื่องข้อกฎหมายที่รัฐบาลต้องศึกษาแต่รัฐบาลต้องทำความเข้าใจและทบทวนให้ดี เพราะหากไปยกเลิกแล้วกัมพูชานำพื้นที่ไปให้สัมปทานเพราะถือว่าไม่มีผลผูกพันทางเอ็มโอยูแล้วก็จะยุ่งเป็นฝอยขัดหม้อไทยจะไปทักท้วง ก็เป็นเรื่องลำบาก เพราะไม่มีผลผูกพันทางการเจรจาและทหารก็จะงานเข้า