พล.อ.สนธิบุญยรัตกลิน ก่อนเป็นหัวหน้าคณะปฏิรูป

หลังจากข่าวลือสะพัดไม่ทันข้ามคืน พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ก็กลายมาเป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย


อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนำกองทัพเข้ายึดอำนาจรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ พล.อ.สนธิ ยืนยันมาตลอดว่ากองทัพจะต้องวางตัวเป็นกลาง และจะไม่มีทางออกมาปราบปรามประชาชนอย่างเด็ดขาด


ความเคลื่อนไหวของ พล.อ.สนธิ ต่อกระแสการเมืองอันเชี่ยวกรากนั้น

เป็นไปด้วยความพยายามที่จะทำให้ความแตกแยกทางความคิด ความเชื่อ ไม่ขยายตัวบานปลายจนกลายเป็การเผชิญหามาโดยตลอด


แม้เขาจะยอมรับว่า ช่วงจังหวะที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคลื่อนไหวปิดถนนราชดำเนินตั้งเวทีขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ และเสี่ยงต่อการเผชิญหน้า จะได้รับจดหมายจากประชาชนให้ทหารออกมาจัดการปัญหาการเมืองจนเกือบล้นลิ้นชัก

รวมทั้งมีเสียงเรียกร้องจากทำเนียบรัฐบาลให้ทหารออกมารักษาความสงบเรียบร้อย

แต่พล.อ.สนธิ ก็พยายามยืนในจุดที่กองทัพควรจะยืน

รวมทั้งยืนยันกับฝ่ายรัฐบาลไปว่า หากทหารออกมาเมื่อใด ไม่ว่าจะด้วยสถานการณ์ใด จะส่งผลกระทบต่อรัฐบาลทันที

ออกมาเมื่อไร รัฐบาลก็ไปเมื่อนั้น

นั่นอาจเป็นจุดสำคัญที่สร้างความหวาดระแวงต่อฝ่ายทำเนียบรัฐบาล โดยเฉพาะ พ.ต.ท.ทักษิณ

13 กันยายน 2549 ไม่เพียงยืนยันว่า ไม่มีการปฏิวัติ แต่ พล.อ.สนธิ ชี้ว่า ข่าวที่ออกมาเพื่อเร่งเร้าให้ทหารออกมาเคลื่อนไหว เพราะสุดท้ายหวังให้รับผิดชอบแทนการเมือง

17 พฤษภาคม 2549 เป็นอีกครั้งที่ พล.อ.สนธิ ยืนยันว่าจะไม่ใช้วิธีทางทหารเข้าไปแก้ไขปัญหาการเมือง

"ทหารอาชีพจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองก็อย่าเข้ามายุ่งกับทหาร"


19 กรกฎาคม ที่คำสั่งโยกย้ายนายทหารระดับกองพันนอกฤดูกาล อาจเรียกได้ว่า นี่คือการเตือน

เพราะเป็นการย้าย ผบ.พัน ที่คุมกำลังทหารในเมืองหลวงจากทั้ง พล.1 รอ. พล.ม.2 และพล.ปตอ. ซึ่งล้วนเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของนายทหารที่จบโรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 10 รุ่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ

ในการเดินทางเยือนพม่าอย่างกะทันหันเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พล.อ.สนธิ ก็ถูกเรียกตัวอย่างกะทันหันเพื่อให้ร่วมเดินทางไปด้วย ท่ามกลางกระแสข่าวความบาดหมางไม่ไว้วางใจกัน ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ ซึ่งช่วงนี้มีเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารเข้ามาเป็นตัวประกัน ขณะเดียวกัน ก็เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา

เพราะช่วงนั้นมีข่าวสะพัดเช่นกันว่า จะมีการปลด พล.อ.สนธิ ออกจากตำแหน่ง ผบ.ทบ.

ตรงนี้น่าจะเป็นสาเหตุหลักของคำสั่งให้ ผบ.ทบ.ร่วมคณะไปพม่า

แต่ร้อยถี่มีห่างอยู่หนึ่ง การเดินทางไปต่างประเทศหนนี้ แม้ พ.ต.ท.ทักษิณ จะพยายามสร้างภาพให้เห็นก่อนที่จะเดินทาง

ด้วยการไปพบกับ ผบ.พล.ม. 2 ซึ่งเป็นเพื่อนรัก ราวกับจะฝากฝังให้ดูแล

แต่ก็ไม่เพียงพอ เพราะการยึดอำนาจนั้น ผบ.พล.ม.2 ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่จะต้องถูกควบคุมตัว

ถามว่าอะไรที่ทำให้ พล.อ.สนธิ นายทหารม้าที่เคร่งในศาสนา ไม่นิยมความรุนแรง สายตรง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี "ลูกป๋า" ถึงนำกำลังออกมาจัดการปัญหาการเมือง



คำตอบที่ว่าเพราะ "ชะตาลิขิต" อาจจะง่ายเกินไป

หากดูความเคลื่อนไหวของ พล.อ.สนธิ ต่อกรณีการเมืองในระยะหลัง แล้วจะเห็นสัญญาณบางอย่าง

ครั้งการปะทะกันที่ สยามพารากอน เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พล.อ.สนธิ ให้สัมภาษณ์แสดงถึงความไม่สบายใจอย่างชัดเจน


"ผมไม่ค่อยสบายใจเท่าไร ในฐานะที่ผมเป็นทหารในกองทัพจึงอยากเห็นประชาชนในชาติมีความรักมีความสามัคคีกัน ไม่อยากให้แบ่งฝ่ายแบ่งกลุ่ม

ขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวของ พล.อ.สนธิ ก็สอดรับการเคลื่อนไหวของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ

ที่เดินสายปลุกสำนึกทหารให้รับใช้ชาติและพระมหากษัตริย์

ความสำเร็จในการยึดอำนาจครั้งนี้ ส่วนสำคัญนั้นมาจากความเป็นเอกภาพของ เตรียมทหารรุ่น 6 ที่ล้วนอยู่ส่วนยอดของกองทัพ ทั้งบก เรือ อากาศ แม้กระทั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ


ขุมกำลังที่ใช้จาก 3 หน่วยหลัก



1.กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.)

2.กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.)

3.กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน (พล.ปตอ.)

ประวัติโดยย่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน


เกิดเมื่อวันที่ 2 ต.ค.2489 สำเร็จการศึกษาจาก ร.ร.วัดพระศรีมหาธาตุ กทม., ร.ร.ตท.รุ่นที่ 6, ร.ร.นายร้อยจปร.รุ่นที่ 17 ผ่านหลักสูตรด้านการทหารหลายหลักสูตร เริ่มรับราชการเมื่อ พ.ศ.2512 ตำแหน่ง ผบ.มว.ปล.ร้อย.อวบ.พัน.ร.ศร. เป็น ผบ.นสศ.เมื่อปี 2545 และได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ เป็น ผบ.ทบ.เมื่อปี 2548

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์