มาร์คซัดจิ๋วต้นตอปัญหา
ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชายังเป็นประเด็นร้อนแรงต่อเนื่อง ภายหลังจากสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา แต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งเป็นผู้ต้องหาหลบหนีโทษจำคุก 2 ปี ในคดีการทุจริตซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษก เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจส่วนตัวและรัฐบาล
ล่าสุด นายกฯ ฮุน เซน ของกัมพูชา ซึ่งเพิ่งเสร็จสิ้นภารกิจเยือนญี่ปุ่น ได้เดินทางกลับถึงกัมพูชาในวันอาทิตย์ และเปิดแถลงข่าวที่สนามบินนานาชาติพนมเปญ ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยจะเดินทางเยือนกัมพูชาวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชาเป็นครั้งแรก ด้วยการบรรยายสรุปต่อบรรดาผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจชาวกัมพูชามากกว่า 300 คน ที่กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง
"กรุณาปล่อยให้คุณทักษิณมาช่วยแบ่งเบาภาระของผมในการกระตุ้นศรษฐกิจของกัมพูชา" นายกฯ ฮุน เซน ร้องขอต่อรัฐบาลไทย
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า เห็นข่าวแล้ว ต้องรอดูท่าทีว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะเดินทางไปกัมพูชาตามที่สมเด็จฮุน เซน แถลงจริงหรือไม่ หากไปจริง เราต้องร้องขอให้มีการส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณกลับไทย ตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่จะให้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่กัมพูชาต้องพิจารณา
นายศิริศักดิ์ ติยะพรรณ อธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ กล่าวว่า หากมีการแจ้งเรื่องให้ทำหนังสือขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน อัยการก็จะเร่งดำเนินการให้ทันที และที่ผ่านมาเราก็ทำหนังสือส่งไปยังประเทศต่างๆ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ตำรวจร้องขอมาเรียบร้อยแล้ว แต่สำหรับกรณีกัมพูชานั้น ตำรวจและกระทรวงการต่างประเทศยังไม่ได้ทำเรื่องร้องขอมาแต่อย่างใด อัยการจึงยังดำเนินการอะไรไม่ได้ตอนนี้
นายศิริศักดิ์กล่าวต่อว่า คำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น อัยการต้องส่งกลับไปกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้กระทรวงส่งไปยังสถานทูตประเทศนั้นๆ แต่ต้องทราบที่อยู่แบบชัดเจนถึงดำเนินการได้ แต่กรณีนี้ ถ้ามาแบบประเดี๋ยวประด๋าวก็อาจทำให้ทำไม่ทัน ดังนั้นมันต้องมีเวลาให้ทราบที่อยู่ชัดๆ ซักช่วงหนึ่ง ก็สามารถทำได้ตามปกติ
"ครั้งนี้มันไม่ปกติ ผมก็ไม่แน่ใจว่าทำอะไรได้บ้าง และยิ่งประเทศนั้นบอกว่าไม่ยอมกักตัวไว้ให้เรา เราจะไปทำอะไรเขาได้ ถ้าเป็นไปตามปกติคือ ประเทศนั้นๆ จะให้ความร่วมมือเรา แต่หนนี้เขาบอกว่าจะไม่ทำให้เราซะอย่าง มันก็เป็นต้นเหตุของการกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และขั้นตอนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็ต้องสะดุด เพราะติดอยู่ตรงที่เขาไม่ยอมกักตัวไว้ให้เรา เจอแบบนี้ยอมรับว่าหนักใจ" อธิบดีอัยการต่างประเทศกล่าวอัยการรับสะดุดล่าแม้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า อัยการยอมรับว่างานนี้สะดุดแน่นอน เพราะกัมพูชาไม่ยอมส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาให้ นายศิริศักดิ์กล่าวว่า ใช่ เพราะวิถีทางการทูตไม่ปกติ ไม่รู้จะดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณอาศัยช่องโหว่ตรงนี้เป็นเครื่องมือในการไม่ให้ถูกส่งตัวกลับมา มันเป็นเทคนิคอย่างหนึ่ง แต่เราก็ไม่แน่ใจว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะอยู่ประเทศกัมพูชานานแค่ไหน
"ถ้าคุณทักษิณจะอยู่กัมพูชาถาวร มันก็ลำบากนิดหนึ่ง เพราะทางนั้นเขาไม่ยอมร่วมมือกับเรา แถมยังพร้อมที่จะยอมให้ถูกตัดสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกด้วย แม้เราทำอะไรไม่ได้ตอนนี้ แต่เอาเป็นว่า หากพบ พ.ต.ท.ทักษิณไปปรากฏตัวที่ไหน แล้วทราบที่อยู่ชัดเจน เราจะดำเนินการทำหนังสือขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปทันที ทั้งนี้ อยากบอกคุณทักษิณว่า อะไรที่เป็นเรื่องทางการเมือง ก็ขออย่าเอากระบวนการยุติธรรมไปเป็นเครื่องมือ และอย่าทำให้กระบวนการยุติธรรมที่เป็นเรื่องนอกเหนือทางการเมืองต้องได้รับผลกระทบวุ่นวายไปด้วย" นายศิริศักดิ์กล่าว
ในขณะที่นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงต่างประเทศจะรอดูอัยการว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งหากส่งคำร้องมายังกระทรวงต่างประเทศ เราก็พร้อมดำเนินการตาม โดยกรณีนี้มีการแจ้งที่อยู่ที่ชัดเจน ดังนั้นกระทรวงการต่างประเทศก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอน คือประสานไปยังกัมพูชาขอให้มีการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน และเรื่องนี้คงไม่มีอะไรแปลกใหม่ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น แต่ทั้งนี้ก็เป็นสิทธิของกัมพูชาว่าจะส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาหรือไม่ เพราะรัฐบาลไทยคงคงไม่สามารถบังคับอะไรได้
ส่วนนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษา พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ได้คุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณล่าสุด เมื่อเวลา 11.00 น. ยังไม่ได้บอกว่าจะเดินทางไปกัมพูชาแต่อย่างใด
ในขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณได้ทวิตผ่านเว็บไซต์ทวิตเตอร์ว่า ขออภัยสมาชิกที่เอสเอ็มเอสอันเดิมถูกบล็อกข้อความ โดยเตรียมจะปรับเทคโนโลยีวิธีใหม่ซึ่งดีกว่าเดิม คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะสามารถใช้ได้ นอกจากนี้ยังทวิตข้อความอีกว่า ท่านคงสงสัยว่าทำไมผมไม่พูดอะไรเรื่องกัมพูชา เอาเป็นว่าปล่อยรัฐบาลกับกระทรวงต่างประเทศบ้าให้สุดๆ ไปเลย แล้วผมจะพูดให้ฟังในรายการวิทยุอังคารนี้
ในช่วงค่ำ พ.ต.ท.ทักษิณได้โฟนอินเข้าไปในงานชุมนุมใหญ่คนเสื้อแดง ซึ่งจัดที่ทุ่งศรีเมือง จ.อุดรธานี ว่ายืนยันจะเดินทางเข้าไปกัมพูชาตามคำเชิญของสมเด็จฮุน เซน ในวันที่ 12 พ.ย. เพื่อไปบรรยายให้สมเด็จฮุน เซน และรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และผู้ใหญ่ของกัมพูชา เพื่อให้เข้าใจว่าสภาพเศรษฐกิจของโลกตอนนี้เป็นอย่างไร และกัมพูชาจะต้องทำอย่างไรก็จะไปบรรยายให้ฟัง ซึ่งการไปบรรยายครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยด้วยไม่ใช่แค่กัมพูชา
พ.ต.ท.ทักษิณกล่าว "ไม่มีคนที่ผ่านโรงเรียนนักเรียนนายร้อยตำรวจคนไหน และเป็นอดีตนายกฯ มาหลายปี ไม่รักชาติ ไม่รักบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง แต่ที่ไปเพราะประเทศชาติได้ประโยชน์ พี่น้องเสื้อแดงครับ รอผมอีกนิด ผมกำลังจะกลับไปแล้ว อีกนิดเดียวจริงๆ วันนี้อย่ามาผูกขาดความรักชาติไว้คนเดียว รัฐบาลชุดนี้ดีแต่ทำให้พระเอกเป็นผู้ร้าย ทำให้ผู้ร้ายเป็นพระเอก เอาต่างประเทศมาเล่นงานผมเพราะผมอยู่ต่างประเทศ ถามว่ารัฐบาลทำอะไรบ้าง ดีแต่ทาสีเพื่อไม่ให้เห็นว่าปลวกขึ้นแล้ว"
และในการโฟนอินดังกล่าว นายขวัญชัย ไพรพนา แกนนำเสื้อแดงอุดรธานี ได้ถาม พ.ต.ท.ทักษิณว่า วันนี้เอแบคโพลล์บอกว่าคะแนนนิยมอภิสิทธิ์พุ่งขึ้น 80% หลังเกิดปัญหากับกัมพูชา แต่คะแนน พ.ต.ท.ทักษิณลดเหลือ 12% พ.ต.ท.ทักษิณตอบว่า ถามว่าโพลล์สำนักไหนใครไปทำ ถ้าได้ 80% ก็ยุบสภาเสียทีสิ ถ้าแบบนี้ประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งได้ แต่จะยุบไหม ยุบได้เลย จะได้เลือกตั้งกันเสียที ประชาชนได้หายอึดอัด
ก่อนหน้านี้ นายอภิสิทธิ์ได้ใช้เวลาส่วนมากในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" ครั้งที่ 43 กล่าวถึงปัญหาความสัมพันธ์ของไทย-กัมพูชาว่า ความสัมพันธ์โดยรวมเป็นไปด้วยดี และมีการตกลงทำความร่วมมือกันหลายเรื่อง แต่ก็มีปัญหาที่ยังกระทบกระทั่งกันอยู่ คือกรณีปราสาทพระวิหาร ซึ่งตลอดเวลาที่เข้ามาทำหน้าก็ได้ยึดหลักการดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่ต้องการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน เพราะเป็นวิธีการที่ทำให้มีความราบรื่นในเรื่องการติดต่อระหว่างประชาชนของสองประเทศแล้ว ก็จะยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ทั้งบริเวณชายแดนไปจนถึงการมีความร่วมมือกันในภาพรวมด้วย
นายอภิสิทธิ์ระบุว่า ได้พบปะกับสมเด็จฮุน เซน หลายต่อหลายโอกาส โดยเฉพาะก่อนประชุมสุดยอดอาเซียน ซึ่งการพบปะทุกครั้งก็ได้พูดถึงปัญหาที่ยังเห็นไม่ตรงกันอยู่ในเรื่องปราสาทพระวิหาร ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของประเทศที่มีพรมแดนติดกัน แต่ที่สำคัญที่สุดคือเราพูดกันว่า ปัญหาใดๆ ก็ตามไม่ควรจะถูกหยิบขึ้นมาและบดบังภาพรวมของความสัมพันธ์ เพราะความสัมพันธ์ที่เราต้องมีการดำเนินการต่อไปนั้นมีหลายเรื่อง ทั้งการช่วยเหลือ พื้นที่ทับซ้อน และทรัพยากรธรรมชาติ
นายอภิสิทธิ์กล่าว "ท่านฮุน เซน พูดกับผมมาตลอดว่า ควรมองไปที่อนาคต ไม่ควรยึดติดกับอดีต และพร้อมเดินหน้าให้ความสัมพันธ์ต่างๆ เป็นไปด้วยความราบรื่น และในการพูดคุยกัน ส่วนใหญ่นายกฯ ฮุน เซน เป็นฝ่ายหยิบยกกรณีของท่านอดีตนายกรัฐมนตรีขึ้นมาพูดกับผม ผมไม่เป็นฝ่ายที่เริ่มต้นพูดก่อน นายกฯ ฮุน เซน จะพูดเสมอว่า แม้ว่าอดีตนายกฯ ทักษิณเป็นเพื่อน แต่ว่าจะไม่ให้ความเป็นเพื่อนมาอยู่เหนือในเรื่องของความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสองประเทศ อันนี้เป็นสิ่งที่เป็นคำกล่าวของนายกฯ ฮุน เซน ที่พูดกับผมมาโดยตลอด"
นายอภิสิทธิ์ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นล่าสุด เพิ่งมาเกิดขึ้นก่อนหน้าประชุมสุดยอดอาเซียน หลังจากที่มีการเดินทางไปพบปะกับท่านนายกฯ ฮุน เซน ของอดีตนายกรัฐมนตรีของเราท่านหนึ่ง และกลับมามีการออกข่าวเรื่องกัมพูชาจะตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษา และไม่ส่งตัวมายังไทยตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งคือจุดเริ่มต้นของปัญหา เพราะตลอด 10 เดือน และทุกครั้งที่ได้พบปะกันไม่ได้มีปัญหากัน และยังเพิ่มพูนความตกลงความร่วมมือกันด้วยซ้ำในเรื่องของการขนถ่ายสินค้าผ่านแดน
นายกฯ ยังกล่าวอีกว่า ล่าสุดสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจาก นายกฯ ฮุน เซน เดินทางกลับจากประชุมสุดยอดอาเซียน รัฐบาลกัมพูชาได้แต่งตั้งอดีตนายกฯ เป็นที่ปรึกษา ทั้งที่ปรึกษาส่วนตัวและที่ปรึกษารัฐบาล และยังได้ออกแถลงการณ์พาดพิงว่ากรณีถ้าหากว่ามีการขอตัวผ่านสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน กัมพูชาจะไม่ดำเนินการเรื่องนี้ และได้วิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทย และที่สำคัญคือ กระบวนการยุติธรรมของไทย รวมทั้งตั้งคำถามเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาลในเรื่องความเที่ยงธรรม
"ผมถือว่าเรื่องนี้ประเทศไทยและคนไทยยอมรับไม่ได้ครับ ทั้งหมดในขณะนี้ไม่ใช่เรื่องปัญหาความขัดแย้งการเมืองภายในประเทศของเรา แต่เป็นเรื่องที่เราทุกคนนั้นต้องยืนยันถึงความถูกต้อง และศักดิ์ศรีของสถาบันหลักของเรา ก็คือกระบวนการยุติธรรม" นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เชื่อว่ากัมพูชาออกแถลงการณ์ เพราะได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เกิดขึ้นในช่วงพรรคการเมืองที่สนับสนุนท่านอดีตนายกฯ นั้นเป็นรัฐบาลเอง และการตัดสินของศาลในหลายต่อหลายคดี ศาลก็มีการพิพากษาลงโทษไปตามตัวบทกฎหมาย ตามข้อเท็จจริง ซึ่งทุกฝ่ายก็ยอมรับกระบวนการยุติธรรม แม้แต่ตัวอดีตนายกฯ ทักษิณเองก็พึ่งพากระบวนการยุติธรรมอยู่ตลอดเวลา ด้วยการฟ้องร้องบุคคลที่เห็นว่าทำให้ท่านเสียหาย
"การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันที่เป็นกระบวนการยุติธรรม เป็นสถาบันหลักของเรา ผมคิดว่าเราก็คงยอมรับไม่ได้ และผมได้เตือนไปตั้งแต่ช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนว่า ถ้าหากว่าฝ่ายกัมพูชาหรือนายกฯ ฮุน เซน นั้นไม่ทบทวนให้ดี มันจะกระทบกับความสัมพันธ์ ไม่มีประเทศไหนที่เขายอมให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะเช่นนี้ เพราะฉะนั้น นั่นคือปัญหาประการที่ 1" นายกฯ กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ปัญหาประการที่ 2 คือ การแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษา ย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อผลประโยชน์ของไทยในการเจรจาเปรียบเทียบว่าถ้าพี่น้องประชาชนมีการเจรจาอยู่กับใครก็ตาม ในเรื่องต้องแบ่งผลประโยชน์กัน ซึ่งก็ต้องมีความขัดแย้งกันอยู่บ้าง ปรากฏว่าคนที่เคยเป็นหัวหน้าในการเจรจาล่วงรู้ข้อมูลต่างๆ วันดีคืนดีไม่ได้อยู่ทางนี้แล้วกลับไปเป็นที่ปรึกษาของอีกฝ่าย กรอบการเจรจาตรงนี้เป็นใครก็ต้องทบทวน เพราะว่ามีผลประโยชน์ขัดกันอย่างชัดเจน และนั่นคือเหตุผลที่ได้เคยเตือนนายกฯ ฮุน เซน ว่าต้องคิดให้ดีว่า ถ้าหากว่าจะเอาเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือเรื่องอื่นใดก็ตามเข้ามา ก็เป็นปัญหาความร่วมมือต่างๆ ที่เป็นความสัมพันธ์ของระหว่างสองประเทศ
"ยิ่งไม่นับว่าอดีตนายกฯ มีสถานะของการเป็นนักธุรกิจ และมีข่าวหรือมีการพูดกันมาโดยตลอดว่าอาจจะเข้าไปมีประโยชน์โดยตรงที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรในทะเลด้วย" นายกฯ กล่าว
นายกฯ กล่าวอีกว่า สิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำสิ่งแรกคือ ดำเนินการตามขั้นตอนทางการทูต แสดงออกและบ่งบอกถึงความไม่พอใจ และต้องการลดระดับความสัมพันธ์หากว่าทัศนคติยังเป็นเช่นนี้ ขั้นที่ 2 คือการพูดถึงข้อตกลงต่างๆ ซึ่งไม่สามารถดำเนินการต่อได้ในแง่การเดินหน้าในกรอบการเจรจา ซึ่งการดำเนินการได้ทำด้วยความสุขุม รอบคอบ และระมัดระวัง โดยให้นโยบายว่าไม่ต้องการให้ความขัดแย้งเกิดขึ้น ระหว่างพี่น้องประชาชนด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณชายแดน รวมทั้งจะไม่ให้กระทบกระเทือนต่อประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ที่ร่วมงานกับเราปลุกคนไทยสามัคคีโชว์พลัง
นายกฯ กล่าวว่า อยากเชิญชวนพี่น้องประชาชนคนไทยแสดงออกถึงความสมัครสมานสามัคคี และร่วมกันแสดงจุดยืนตรงนี้ว่าเราต้องการเป็นและมีเพื่อนบ้านที่ดี ซึ่งต้องอยู่บนพื้นฐานของการแสดงออกถึงความจริงใจและความเคารพซึ่งกันและกัน พี่น้องคนไทยทุกคนคงไม่ต้องการเห็นประเทศไทยเสียเปรียบ ไม่ต้องการที่จะเห็นประเทศไทยนั้นถูกลดทอนความน่าเชื่อถือโดยประเทศใดก็ตาม เพราะฉะนั้นดีที่สุดในการที่จะทำสิ่งนี้ คือการสมัครสมานสามัคคีและร่วมกันอย่างมีเอกภาพ
"เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องพรรคการเมือง ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล ฝ่ายค้าน เรื่องนี้ควรเป็นเรื่องของการที่เราช่วยกันรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยและประชาชนคนไทยในฐานะที่เราเป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่งด้วยกันทุกคน" นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์ยังได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการยกเลิกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ระหว่างไทย-กัมพูชา ที่อาจไม่สามารถดำเนินการได้เพราะต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎรว่า เป็นเรื่องที่กระทรวงการต่างประเทศต้องไปดูข้อกฎหมายทั้งหมด โดยกรมสนธิสัญญาฯ ส่วนในเชิงบริหาร คือ จะไม่มีการเร่งรัดการเจรจา และคงต้องหยุดก่อน เพราะมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่เราต้องทบทวน
นายอภิสิทธิ์ยืนยันว่า ข้อกฎหมายและข้อมูลทั้งหมดจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในวันที่ 10 พ.ย.นี้ เพื่อดูว่ามีวิธีการที่จะเดินต่อเป็นอย่างไร เพื่อรักษาผลประโยชน์ของเราไม่ให้เสียเปรียบ ส่วนที่กัมพูชาอ้างว่าเราไม่มีสิทธิ์ยกเลิกข้อตกลงนั้น แต่เขาก็ไม่สามารถบังคับให้เราเจรจาได้อยู่แล้ว ซึ่งไม่มีบานปลาย เพราะเรามีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของประเทศ และเชิญชวนทุกคนว่าเวลานี้ไม่ใช่เวลาที่มาแตกแยก ต้องสมัครสมานสามัคคีกัน เรามีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของประชาชนคนไทย ของประเทศไทย
เมื่อถามว่า เลขาธิการอาเซียนห่วงเรียกร้องให้รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเข้ามามีบทบาท นายอภิสิทธิ์ตอบว่า อยู่ที่ญี่ปุ่นนายกฯ ญี่ปุ่นก็สอบถาม เราได้ยืนยันไปตลอดว่าเป็นเรื่องสองฝ่ายก็น่าจะรู้เรื่อง เพราะปัญหามันเกิดขึ้นจากการกระทำเมื่อสองอาทิตย์นี้ ถ้ากลับไปอยู่ที่เดิมมันก็จบ เพราะก่อนหน้านี้ทุกอย่างก็เดินหน้าไปได้ด้วยดี ซึ่งการกลับไปที่เดิมก็เหมือนกับว่าสองอาทิตย์ที่ผ่านมาไม่เกิดขึ้น
เมื่อถามว่า หมายถึงไม่มีแต่งตั้งที่ปรึกษาก็จบหรือ เพราะยังมีการพาดพิงกระบวนการยุติธรรม นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ เขาต้องมีท่าทีที่เหมือนเดิม ต้องเคารพและมีความจริงใจต่อกันในการดำเนินความสัมพันธ์ โดยยึดหลักเรื่องของสนธิสัญญา ข้อกฎหมาย ข้อผูกพันต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็เป็นเรื่องที่ทางกัมพูชาต้องตัดสินใจ
"ทุกคนน่าต้องยึดประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ และอย่าทำให้ประเทศของเรามีความเสียเปรียบ และอย่าทำให้แตกแยก เพราะความแตกแยกจะนำมาซึ่งความอ่อนแอ วันนี้คือทุกคนต้องรวมตัวกันรักษาผลประโยชน์ของประเทศ ถ้าคนสองคนจะคิดถึงประโยชน์ของตัวเองก็ต้องปล่อยเขา แต่คนส่วนใหญ่ต้องเดินหน้ารักษาผลประโยชน์ของประเทศ" นายอภิสิทธิ์กล่าว
ที่กระทรวงการต่างประเทศ ก็มีการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงเพื่อพิจารณายกเลิกเอ็มโอยูว่าด้วยเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล เพื่อเตรียมเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในวันที่ 10 พ.ย. โดยใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง
นายชวนนท์กล่าวว่า เป็นการเรียกเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย มาให้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันต่อนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อฝ่ายไทยจะได้มีข้อมูลที่พร้อมและได้เปรียบที่สุด ซึ่งที่ประชุมยังจะเดินหน้านำเอ็มโอยูเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อให้พิจารณาเห็นชอบยกเลิกแน่นอน เนื่องจากเอ็มโอยูจัดทำขึ้นในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณเมื่อปี 2544 ซึ่งมีข้อมูลภายในและเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ ที่อาจนำไปแสวงหาผลประโยชน์กับประเทศเพื่อนบ้าน
"รัฐบาลไทยไม่ได้หยิบยกมาประเด็นข่มขู่ แต่เตรียมเสนอให้ ครม.เห็นชอบอย่างจริงจัง เพราะหากปล่อยเอ็มโอยูฉบับนี้มีผลบังคับใช้ อาจส่งผกระทบต่อผลประโยชน์ของไทย" นายชวนนท์กล่าวเล็งส่งตีความยกเลิก MOU
เขายังระบุถึงการยกเลิกเอ็มโอยู ที่จำเป็นต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาตามมาตรา 190 ว่าเร็วๆ นี้ กระทรวงการต่างประเทศมีแนวคิดส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพื่อเป็นบรรทัดฐานและไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง ส่วนกรณีที่นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ออกแถลงการณ์แสดงความเป็นห่วงต่อข้อขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชานั้น ต้องขอขอบคุณในความห่วงใย แต่เรื่องนี้เป็นปัญหาภายในของสองประเทศ ไม่ได้เป็นปัญหาระดับภูมิภาค จึงต้องปล่อยให้เป็นการแก้ไขในระดับทวิภาคี
ในขณะที่นายนพดล ก็ได้แถลงกรณีรัฐบาลจะยกเลิกเอ็มโอยูว่า เอ็มโอยูดังกล่าวเริ่มมาจากรัฐบาลประชาธิปัตย์ ที่มีการตกลงสาระสำคัญเบื้องต้นเมื่อวันที่ 5 ต.ค.43 สมัยนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็น รมว.การต่างประเทศ, ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็น รมช.การต่างประเทศ ซึ่งขณะนั้น พ.ต.ท.ทักษิณยังไม่ได้เป็นนายกฯ เอ็มโอยูนี้พรรคประชาธิปัตย์จึงรู้รายละเอียดหรือความลับดีกว่าใคร ดังนั้นหากจะยกเลิกโดยคิดว่าไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่มีปัญหาอะไรเพราะมันไม่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และที่ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้เจรจา เป็นความเท็จโดยสิ้นเชิง เพราะนายอภิสิทธิ์ได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน จงใจใส่ร้าย บิดเบือน เอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น ยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่มีทั้งความลับและความเลวที่จะทำเช่นนั้น มันไม่เกี่ยวตั้งแต่ต้น
นายนพดลกล่าว"เอ็มโอยูทำมา 8 ปีแล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ หาก พ.ต.ท.ทักษิณจะหาประโยชน์จากสัมปทานน้ำมันหรือแก๊สธรรมชาติ ก็ต้องมีการเซ็นสัญญาอะไรไปบ้าง และที่น่าประหลาด คณะกรรมการปักปันเขตแดนเพิ่งตั้งเมื่อปี 2549 ก็เป็นช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณพ้นตำแหน่งไปแล้ว หากรัฐบาลจะยกเลิกก็อยากให้คิดให้ดี และควรไปถามนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีต รมว.ต่างประเทศ ที่รู้เรื่องนี้ดีเช่นกัน"
ที่ปรึกษา พ.ต.ท.ทักษิณผู้นี้ยังระบุว่า เอ็มโอยูฉบับนี้ไม่ใช่กรอบการเจรจา เป็นเพียงกลไกในการเจรจาให้กรรมการเทคนิคมาพิจารณาปักปันพื้นที่แบ่งผลประโยชน์ ซึ่งยังไม่มีใครได้รับความเสียหาย ใครยังไม่เห็นด้วยก็ไม่ต้องตกลงกันก็ได้ เจรจาอีก 100 ปี 1,000 ปีก็ได้ สรุปคือยังไม่มีการทำข้อตกลงอะไรกันเลย เรื่องนี้จึงเป็นการใส่ร้ายบิดเบือน ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ จะฟ้องร้องนายอภิสิทธิ์ที่ออกมากล่าวหาหรือไม่นั้น กำลังให้ทีมกฎหมายพิจารณา เพราะเบื้องต้นยังไม่เข้าข่ายผิดข้อกฎหมายอะไร เขายังได้ตอบโต้กรณีนายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์, นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้รับสัมปทานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติว่า อยากบอกว่าสุนัขเห็นใบตองแห้งยังเห่า แต่นักการเมืองที่ดีอย่าไปเห่าเรื่องที่ไม่มีหลักฐาน ขอให้พรรคประชาธิปัตย์เอาความจริงมาพูด หยุดใส่ร้ายคนอื่น ขอย้ำอีกครั้งว่าใครก็ตามที่ค้นพบสัมปทานเหล่านั้น อดีตนายกฯ พร้อมยกสัมปทานเหล่านั้นให้ไปเลยนพดลชี้อย่าปลุกชาตินิยม
"พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชาถือเป็นเจตนาดี ไม่ได้ต้องการไปเปิดเผยข้อมูลลับอันใด หรือถึงมีก็ไม่ทำอยู่แล้ว อดีตนายกฯ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสัมปทานใดๆ ทั้งสิ้น คนเป็นนายกฯ มา 6 ปีไม่คิดร้ายต่อประเทศแน่นอน นายอภิสิทธิ์รู้จักกันดี ขนาดภรรยารับปริญญาโทและเอกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่นายอภิสิทธิ์ไม่มีชุดครุยใส่ มายืมผมก็ยังให้ยืม เพราะจบจากออกซ์ฟอร์ดเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการจัดการชีวิตท่านไม่ควรไปยืมหรือกู้เท่านั้น นายอภิสิทธิ์ต้องมีจิตใจเป็นธรรมบ้าง อย่ากล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นพวกกัมพูชา แล้วมาปลุกกระแสชาตินิยม วันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณถูกถอนพาสปอร์ต แดง น้ำเงิน น้ำตาล หมดแล้ว คงไม่มีปัญญาเอาความลับไปบอกใคร" นายนพดลกล่าว
นายนพดล กล่าวถึงกรณีนายอลงกรณ์ขอให้เปลี่ยนสัญชาติว่า เป็นคนไทยรักประเทศเหมือนกัน และนายอลงกรณ์ไม่ใช่สำนักบริการที่จะให้เปลี่ยนสัญชาติ เป็นไปไม่ได้ที่จะเปลี่ยนสัญชาติ แต่สันดานเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่นมันเปลี่ยนง่ายกว่า ส่วนการฟ้องร้องกำลังพิจารณา แต่ก็ไม่อยากไปหาความกับคนที่ไม่มีจริยธรรมให้เปลืองเงินโดยใช่เหตุ
"เราอาฆาต เราเจ็บ จะเสียลาภ-ยศก็ต้องเสียจากความจริงไม่ใช่ความเท็จ เราเอาข้อเท็จจริงมาพูดไม่ใช่ข้อกล่าวหา ขอให้นายอภิสิทธิ์โตเสียที วันนี้ไม่ได้เป็นผู้นำฝ่ายค้าน แต่เป็นนายกรัฐมนตรีของประชาชนคนไทย ควรมีจิตใจให้ความเป็นธรรมต่อคนอื่นบ้าง" นายนพดลกล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังมีความคิดเห็นอย่างต่อเนื่องจากหลายฝ่าย โดยนายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยองและกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แถลงว่า ขอเรียกร้องในฐานะคนไทยด้วยกัน ให้พรรคเพื่อไทย (พท.) และกลุ่มคนเสื้อแดงยุติการเข้าข้างเขมร เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่เขมรเข้ามาแทรกแซงกิจการในไทย ซึ่งแนวทางการตอบโต้ของรัฐบาลเพื่อรักษาประโยชน์ และต่อต้านการแทรกแซงก็ถูกต้อง และเป็นไปด้วยความระมัดระวัง จึงอยากให้พรรคเพื่อไทยและกลุ่มคนเสื้อแดงหันมาสนับสนุนการทำหน้าที่ของรัฐบาล และให้ยุติการดำเนินการ 3 ข้อ คือ 1.เห็นประโยชน์ของคนคนเดียวมากกว่าประเทศ 2.คัดค้านรัฐบาลทุกเรื่องว่าทำอะไรก็ผิดหมด ทั้งที่เรื่องได้เป็นประโยชน์ของประเทศก็น่าจะสนับสนุน และ 3.หยุดการยื่นเรื่องที่ไม่มีสาระไปยังองค์กรอิสระหรือศาล
"การที่นายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน บอกว่าเตรียมจะยื่นคำร้องต่อศาลปกครองว่า การสั่งให้ทูตไทยประจำกัมพูชาเดินทางกลับเป็นการกระทำมิชอบ เพราะไม่ได้ทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ทั้งที่เรื่องดังกล่าวก็ไม่ต่างกับการโยกย้ายข้าราชการ จึงอยากให้นายวิทยายุติ" นายสาธิตกล่าว
นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.กทม.ปชป. กล่าวว่า อยากให้คนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณพิจารณาว่าปัญหาเกิดขึ้นจากอะไร เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการที่ พ.ต.ท.ทักษิณได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวนายกฯ กัมพูชา และที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชา ดังนั้นปัญหาทุกอย่างจะยุติได้ หากมีคนไปกระซิบขอให้ พ.ต.ท.ทักษิณไม่รับ หรือลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว ปัญหาต่างๆ ก็จะยุติ เพราะเรื่องดังกล่าวทำให้คนไทยไม่สบายใจ
นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณต้องตอบคนไทยให้ได้ว่า การเดินสายไปยังต่างประเทศต่างๆ มีความมุ่งหวังทางการเมืองอย่างไร เพราะเหตุใดจึงมีการกระทบกระทั่งระหว่างประเทศเกิดขึ้น และวันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณมีความพยายามจะทำสัมปทานเพิ่มเติมหรือไม่ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ และจะพัฒนาเกาะกงให้เป็นฮ่องกงแห่งที่ 2 หรือไม่ เพราะเรื่องนี้มีการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์แม่โขงไทม์มาแล้ว นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณยังเ
แม้วลั่นมาเขมร! 12พ.ย.ตามคำเชิญฮุนเซน/มาร์ครอดูท่าทีส่งผู้ร้าย
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง แม้วลั่นมาเขมร! 12พ.ย.ตามคำเชิญฮุนเซน/มาร์ครอดูท่าทีส่งผู้ร้าย
"ฮุน เซน" หยามไทยซ้ำสอง เชิญ "ทักษิณ" ให้ความรู้มือเศรษฐกิจกัมพูชากว่า 300 คน "แม้ว" ประกาศกลางทุ่งศรีเมือง ไปแน่ไม่เบี้ยว อ้างเพื่อประโยชน์ทั้งคนไทย-กัมพูชา ลั่นจบ รร.นายร้อย เป็นอดีตนายกฯ ไม่ทรยศชาติแน่ "อัยการ" รับล่าหัวสะดุด ไม่มีที่อยู่แน่ชัด "มาร์ค" รอดูท่าที ซัด "จิ๋ว" ต้นตอปัญหา ปลุกคนไทยสามัคคีโชว์พลัง ชี้หากย้อนกลับไปเหมือน 2 สัปดาห์ก่อนเรื่องก็จบ "นพดล" ป้องนาย ยันเอ็มโอยูเกิดยุค ปชป. "กมม." เล็งชงยุบพรรคเพื่อไทย ภัยความมั่นคงประเทศ โพลล์ซัดหน้าเหลี่ยมทำร้ายชาติ
ขอบคุณเนื้อหาข่าวจาก ไทยโพส
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!