คมชัดลึก :"เรืองไกร" ติงรัฐบาลก่อนยกเลิก MOU พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ควรนำเรื่องเข้าสภา ด้านเลขาฯรมว.ต่างประเทศ ระบุ การยกเลิก MOU ไม่เข้าข่าย ม.190 ขณะที่ประธานกมธ.ต่างประเทศ ชี้ ปัญหาไทย-เขมร ไม่จำเป็นต้องตั้งคนกลางไกล่เกลี่ย เป็นเรื่องที่"ฮุนเซน"ต้องปรับท่าทีในฐานะต้นตอปัญหา
(7พ.ย.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒน์ ส.ว.สรรหา กล่าวกรณีที่รัฐบาลจะดำเนินการยกเลิก MOU พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลที่ทำขึ้นในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่า ตนเห็นว่ารัฐบาลควรนำเรื่องนี้เข้าสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 และควรศึกษาด้วยว่า หากยกเลิกไปแล้ว จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์และกระบวนการที่ตามมาหลังจากมี MOU แล้วอย่างไร เนื่องจากเมื่อครั้ง นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรมว.ต่างประเทศ เป็นผู้ลงนาม ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย จึงผูกพันรัฐไทย ตนเห็นว่า การยกเลิกมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงข้อผูกพันที่มีต่อรัฐ ตนเห็นว่า ควรนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาด้วย
นายเรืองไกร กล่าด้วยว่า การที่รัฐบาลบอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ อาจรู้ท่าทีการเจรจาขณะนั้นและนำไปบอกฝ่ายกัมพูชา ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งการที่รัฐบาลระบุเช่นนี้ เหมือนจะบอกว่า ในอดีตรัฐบาลไทยมีวาระซ้อนเร้นที่จะเอาเปรียบกัมพูชา และเกรงว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะนำข้อได้เปรียบนั้นไปบอกกับฝ่ายกัมพูชา ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อไทย เรื่องอย่างนี้ควรจะพูดกันเองภายในประเทศ
"ต้องถามว่า ประเทศเพื่อนบ้านฟังแล้วจะรู้สึกอย่างไร แสดงว่า ไทยมีวาระซ้อนเร้น เอาความจริงไปเปิดเผยภายหลังต่อประเทศเพื่อนบ้าน เพราะในประเทศตีกันเอง แต่เมื่อในประเทศดีกันแล้ว ก็กลับไปหลอกเพื่อนประเทศหรือไม่ เราควรจะคิดให้ดีและให้ไกล เราพูดในฐานะเป็นคนไทย ไม่ได้แบ่งเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล เราต้องทำให้เห็นว่า เราเข้มแข็ง" นายเรืองไกร กล่าว
ด้าน นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขาฯ รมว.ต่างประเทศ และในฐานะโฆษกฝ่ายการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีการยกเลิก MOU พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ว่า เป็นเรื่องภายในของไทย ซึ่งกำลังจะนำเข้า ครม. ส่วนนายวาคิม ฮอง ผู้แทนการเจรจาเขตแดนฝ่ายกัมพูชาจะว่าอย่างไร ก็แล้วแต่ เพราะไม่ผูกพันกับเราแล้ว ส่วนการยกเลิกครั้งนี้ ใครจะผิดถูกอย่างไร หรือจะมีคนกลางมาร่วมตัดสินก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ส่วนกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒน์ ส.ว.สรรหา ระบุว่า การยกเลิก MOU ควรนำเข้ารัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ว่า เท่าที่ตนตรวจสอบเบื้องต้นไปยังกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ทราบว่า การยกเลิกดังกล่าวไม่น่าเข้าข่ายมาตรา 190 อย่างไรก็ตาม ครม.จะพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ว่า ต้องนำเข้าสภาหรือไม่ ถ้าต้องนำเข้าสภาก็ไม่มีปัญหาอะไร ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงพนมเปญ ยังไม่ได้รายงานสถานการณ์ที่ผิดปกติในกัมพูชา ที่เกิดจากความขัดแย้งไทยกับกัมพูชา
ทางด้านนางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ ประธานกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา กล่าวว่า ปัญหาขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา ไม่จำเป็นต้องให้อาเซียนหรือประเทศอื่นเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย แต่สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาและประเทศกัมพูชาซึ่งเป็นต้นตอปัญหาควรนึกถึงความสัมพันธ์ของประเทศเพื่อนบ้านและเปลี่ยนท่าทีจากเดิม หากรัฐบาลกัมพูชายังเพิกเฉยต่อท่าทีของไทย รัฐบาลก็ควรยกเลิกสัญญาความร่วมมือที่ทำไว้ระหว่าง 2 ประเทศ และชะลอโครงการช่วยเหลือต่างๆ ด้วย
"ต้องขอชื่มชมการตอบโต้อย่างทันท่วงทีของรัฐบาลไทย ต่อกรณีที่กัมพูชาแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาและจะไม่ส่งตัวกลับประเทศไทยตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ว่าเป็นการใช้มาตการทางการทูตที่เหมาะสม ไม่รุนแรงเกินกว่าเหตุ แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านที่สนิทกับกัมพูชา อย่างลาวและเวียดนาม หากถูกสมเด็จฮุน เซนวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมและเข้ามาแทรกแซงกิจการภานในก็คงยอมไม่ได้เช่นกัน ดังนั้นในสายตาของนานาชาติแล้วไม่ส่งผลดีต่อสมเด็จฮุน เซน อย่างแน่นอน " นางพิกุลแก้ว กล่าว
ประธานกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา กล่าวปฏิเสธว่า จะไม่ร่วมลงชื่อเพื่อขอเปิดอภิปรายร่วม 2 สภา ตามข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย เพราะเห็นว่าการที่รัฐบาลลดความสัมพันธ์กับกัมพูชานั้น ไม่ได้เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 161 และ 190 แต่อย่างใด การดำเนินการของที่รัฐบาลถือเป็นเรื่องของการบริหารงาน ไม่ใช่การทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ จึงไม่เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ
“เป็นเรื่องปกติของฝ่ายค้านที่จะโจมตีการทำงานของรัฐบาลอยู่แล้ว แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงต้องปกป้องกัมพูชามากกว่าประเทศไทย แม้ว่ารัฐบาลกัมพูชาจะยอมขอโทษที่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมไทย แต่เมื่อเขายังไม่ถอนการแต่งตั้งพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษา เราก็ควรที่จะลดระดับความสัมพันธ์ลงไปเรื่อยๆ จนกว่าทุกอย่างจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ” นางพิกุลแก้ว กล่าวทิ้งท้าย