ไม่ใช่เรื่องแปลกนัก ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมของไทย โดยหนีคำตัดสินออกไปอยู่นอกประเทศ เพราะถือเป็นเรื่องของสำนึกแต่ละบุคคลที่สังคมจะเป็นคนตัดสินการกระทำนั้น หากแต่กระบวนการที่จะล้างความผิดโดยใช้ส่วนรวมในการสร้างแรงต่อรองให้นั้น ไม่ควรจะเลยเถิดเกินไปจนข้ามเขตประเทศชาติออกไปอย่างที่เป็นอยู่ เพราะการกระทำเช่นนั้นคือการทำร้ายประเทศชาติ ทำลายผลประโยชน์ของชาติอย่างมากมายมหาศาล เกินกว่าคนคนเดียวจะรับผิดชอบได้
แน่นอนว่า เรื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณมากไปกว่าเรื่องผิดชอบชั่วดี แต่ข้ามไปสู่เรื่องเกมการเมืองที่ต่อสู้กันอย่างไร้รูปแบบ ไล่ตั้งแต่การจัดตั้งกลุ่มสนับสนุน ต่อต้าน จนขยายเป็นแผลความขัดแย้งอย่างฉกาจฉกรรจ์ของคนในชาติที่แยกเป็นสองขั้ว อย่างไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ ยิ่งไปกว่านั้น ยังเลยไปถึงการอ้างสถาบันกันในหลายกรณี จนส่งผลกระทบกระเทือนต่อภาพลักษณ์ของสถาบันระดับสูง อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต
ยุทธวิธีอันหลากหลาย ทั้งการใช้บริการสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ การใช้วิธีสื่อสารทางไกลในการปลุกระดมมวลชน การสร้างม็อบโดยแกนนำสามเกลอหัวขวด จนมาถึงการใช้อาวุธชุดสุดท้ายอย่าง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เจ้าของฉายาขงเบ้งแห่งกองทัพไทยออกโรงเคลื่อนไหวรอบด้าน โดยอ้างเรื่องการผูกสัมพันธ์ฉันเพื่อนเก่า โดยเดินสายไปพบกับผู้นำของกัมพูชา มาเลเซีย พม่า ตีเช็คล่วงหน้าให้ความหวังในเรื่องผลประโยชน์ชาติ แลกเปลี่ยนกับเกมการเมืองในเรื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ยังประกาศตัวเป็นผู้บริสุทธิ์
เหล่านั้นก็เพียงหวังกดดันและเล่นเกมการเมืองกับรัฐบาลไทย โดยให้ข้อมูลที่ผิดเพี้ยน บิดเบือนออกไป ถ้าประเทศใดที่มีข้อพิพาทกับไทยอยู่ ก็ยิ่งหวังผลในการกดดันไทยได้มากขึ้น แต่หากประเทศใดที่มีความสัมพันธ์ที่ดีอย่างน้อยก็ได้สร้างความหวาดระแวง และแหย่ให้ไทยออกอาการเต้นโหยงได้ ยิ่งในประเทศที่ พล.อ.ชวลิตได้เหยียบลงไปและแค่ชิมลางจากกรณีของกัมพูชา ก็เล่นเอารัฐบาลต้องมีท่าทีและมีปฏิกิริยาโต้กลับในทุกเรื่อง จนดูจะปวดเศียรเวียนเกล้า ยังไม่นับรวมกรณีของแนวคิดนครปัตตานี
อย่างไรก็ตาม ยุทธวิธีในการเดินของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ พล.อ.ชวลิต แน่ชัดแล้วว่าเป็นเรื่องเกมการเมือง เรื่องของการต่อรองเจรจาคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นเรื่องที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่หวังดีต่อประเทศชาติ เป้าหมายคือ สร้างแรงกระเทือนให้รัฐบาล มุ่งหวังล้มพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง เปลี่ยนรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งเชื่อมั่นว่าพรรคเพื่อไทยจะมีชัยเหนือขั้วของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีอำนาจอยู่ในขณะนี้
คนแรก คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อัศวินคลื่นลูกที่สาม ที่นำพาประเทศด้วยนโยบายประชานิยม ได้รับการตอบรับจากประชาชนคนรากหญ้า มีคะแนนเสียงเป็นฐานเสียงที่ใช้อ้างถึงพลังศรัทธาของประชาชน หากแต่การบริหารราชการแผ่นดินแบบผู้นำเข้มแข็งไม่แยแสระบอบอำมาตยาธิปไตย แต่ทว่ากลับใช้ระบบทุนพวกพ้องเข้ามากัดกินรุมทึ้ง ส่วนทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากระบอบอำมาตยาธิปไตยที่ตัวเองกร่นด่า และต้องการล้มล้างลงไป
คนหลัง คือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้บัญชาการทหารบก ผู้ที่เป็นต้นตำรับสายเหยี่ยว และผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย แก้ไขปัญหาความแตกแยกทางความคิดในอดีตให้กลับมาเหมือนเดิม เคยลาออกจากราชการเข้าสู่สนามการเมืองตามครรลองระบอบประชาธิปไตย ตั้งพรรคความหวังใหม่ ลงสู่การเมือง ได้เข้ามานั่งในสภาฯ ได้ฉายาจิ๋วหวานเจี้ยบ รัฐบาลในยุคนั้นต้องเจอกับวิกฤติค่าเงินบาท จนกลายเป็นตำนานและตราบาปทางการเมืองมาจนถึงวันนี้
แต่ทั้งคู่คือผู้นำประเทศที่เป็นตำนานทางการเมือง ที่น่าจะสำนึกเรื่องชาติ และส่วนรวมที่เหนือกว่าคนอื่น หากเรื่องใดที่ใช้เครื่องมือภายในต่อกรกันก็คงพออภัยกันได้ แต่หากเลือกใช้เครื่องมือที่เป็นประเทศคู่พิพาท เพื่อนำมาลากโยงเอาเรื่องผลประโยชน์ของชาติโดยรวมเป็นเดิมพันนั้น คนที่เป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรีที่เคยทำหน้าที่บริหารประเทศมาแล้ว น่าจะชั่งใจยั้งคิดได้มากกว่า หรืออาจเป็นเพราะว่าคุ้นเคยกับเรื่องเกมการเมือง และอำนาจมากจนหลงลืมเรื่องที่สำคัญเช่นนี้
แต่ทว่ายังไม่สายที่จะหยุดเล่นเกมนี้ เพราะต่อให้ชนะก็คงอยู่อย่างไม่มีความสุขในแผ่นดินแม่ เพราะอย่างน้อยที่สุดคือคนในชาติที่เห็นถึงพฤติกรรมที่เกิดขึ้น กอปรกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงตัวตนของสองผู้นำว่าได้ทำอะไรให้กับประเทศชาติไว้บ้าง คงไม่ยอมปล่อยให้คนเหล่านี้กระทำย่ำยีชาติเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่นอน.
หยุดก่อนจะสายเกินไป
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!