นักวิชาการชี้สังคมไทยเหลื่อมล้ำสูงเผย 5ตระกูลดังผลัดกันครองหุ้น มีทรัพย์สินรวมกันร้อยละ 69 ของประเทศ


สัมมนาประจำปีสถาบันพระปกเกล้า นักวิชาการชี้สังคมไทยเหลื่อมล้ำสูงมาก 11 ตระกูลผลัดกันเป็นเจ้าของหุ้น 5 อันดับแรก "มาลีนนท์ ชินวัตร ดำรงชัยธรรม จิราธิวัฒน์ " กลุ่มคนรวยมีทรัพย์สินรวมกันคิดเป็นร้อยละ 69ของประเทศขณะที่คนจนมีแค่1% ปัจจัยจากราชการรวบศูนย์ การเมืองคณาธิปไตย-ทหารพาณิชย์-ประชาธิปไตยแต่ในนาม

เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนิน สถาบันพระปกเกล้าจัดการประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 11 เรื่อง "ความขัดแย้ง ความชอบธรรมและการปฏิรูประบบรัฐการจัดสรรผลประโยชน์ที่เป็นธรรมในสังคมไทย" ระหว่างวันที่ 5-7 พฤศจิกายน โดยนางผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปาฐกถานำ เรื่อง "สู่สังคมที่ยอมรับกันว่าแฟร์(Fair)" ว่า การที่คนในสังคมต้องปรึกษาหารือเพื่อหาความเห็นพ้องต้องกันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก สังคมที่ยอมรับกันว่าแฟร์ ไม่จำเป็นต้องเท่าเทียมกันทั้งหมด แต่ต้องเท่าเทียมกันในเรื่องโอกาส ความมั่นคงในชีวิต การมีส่วนร่วมทางการเมืองและการที่ลูกหลานจะมีอนาคตที่แจ่มใสพอๆกัน ปัจจัยสำคัญที่ต้องมีคือ ระบบรัฐบาลที่ตอบสนองข้อเรียกร้องของกลุ่มต่างๆได้อย่างสมดุล กลไกสำคัญที่เป็นเครื่องมือคือ นโยบายการคลัง การเก็บภาษีและจัดสรรเงินภาษีเพื่อทำนุบำรุงเศรษฐกิจ และประชาธิปไตย หากรัฐบาลไม่สามารถบรรลุเป้าดังกล่าวได้ สังคมนั้นๆก็จะไปสู่ ความไม่เท่าเทียมกัน ที่นับวันจะเพิ่มสูงขึ้น จนกลายเป็นสังคมที่มีความขัดแย้งระหว่าง ความมั่งมีมหาศาลและคนชั้นกลางฝ่ายหนึ่ง กับคนจนส่วนใหญ่อีกฝ่ายหนึ่ง เป็นความขัดแย้งเชิงโครงสร้างที่รอวันปะทุ ซึ่งขณะนี้ปัญหาทางการเมืองไทยก็มีต้นตอจากความเหลื่อมล้ำนั่นเอง
 

นางผาสุก กล่าวว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจสูง หากดูในตัวชี้วัดเรื่องความมั่งคั่ง ทีดีอาร์ไอ แสดงข้อมูลปี 2549 เกี่ยวกับทรัพย์สินของครอบครัวไทยกลุ่มต่างๆ พบว่า ครอบครัวกลุ่มที่รวยที่สุด ร้อยละ 20 มีทรัพย์สินรวมกันคิดเป็นร้อยละ 69 ของทั้งประเทศ ขณะที่ครอบครัวจนสุดร้อยละ 20 มีทรัพย์สินรวมกัน ร้อยละ 1 แสดงถึงความมั่งคั่งกระจุกตัว ส่วนถ้าดูจากเงินออมในธนาคาร สถิติจากธนาคารแห่งประเทศไทยเดือนมิถุนายน 52 พบว่า ร้อยละ 42 ของเงินฝากมาจากประมาณ 7 หมื่นบัญชีที่มีเงินมากกว่า 10 ล้านบาทต่อบัญชี คิดเป็นร้อยละ 0.09 ของจำนวนบัญชีทั้งหมดในประเทศ ซึ่งโดยปกติ คนๆหนึ่งมีบัญชีมากกว่า 1 บัญชี สมมติว่า โดยเฉลี่ยมีคนละ 2 บัญชี ก็เท่ากับว่า ร้อยละ 42 ของประเทศมีคนเพียง 35,000 คน เป็นเจ้าของ แสดงถึงนัยการกระจุกตัวของรายได้ที่สูงมาก ขณะที่ตัวชี้วัดเรื่องการถือหุ้น จากการสำรวจในปี 2538 – 2542 มีกลุ่มครอบครัวที่มีการถือหุ้นสูงที่สุดของประเทศ 11 ตระกูล ผลัดกันเป็นเจ้าของหุ้นที่มีมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรก อาทิเช่น มาลีนนท์  ชินวัตร  ดำรงชัยธรรม จิราธิวัฒน์ เป็นต้น ส่วนดัชนี้เรื่องที่ดิน พบว่า จากข้อมูลของกรมที่ดินพบว่า การถือครองที่ดินมากที่สุด 50 อันดับแรก มีที่ดินโดยเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 10 ของที่ดินในแต่ละจังหวัด หรือกลุ่มที่ไม่มีที่ดินเลย มีประมาณร้อยละ 20 หากรวมกลุ่มที่มีที่ดินน้อยกว่า 10 ไร่ ก็จะสูงถึงร้อยละ 42 จากสถิติทั้งหมด แสดงถึงความมังคั่งในสังคมสูงอยุ่ในมือคนจำนวนน้อยมากคงจะไม่ถึงร้อยละ 10 ของประเทศ และคนกลุ่มเหล่านี้ ลูกหลานก็มักจะมาแต่งงานดันด้วย หรือหากจะดูรายได้ครัวเรือนเป็นรายภาค ปี 50 กทม.อยู่ที่ 187.6 ขณะที่ภาคอีสาน 69.6  


นางผาสุก กล่าวว่า เหตุที่สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง เนื่องมาจาก ระบบราชการรวบศูนย์ การเมืองคณาธิปไตย ทหารพาณิชย์ ประชาธิปไตยแต่ในนาม กองทัพสามารถทำการรัฐประหารล้มรัฐธรรมนูญ นับว่าเป็นการขัดขวางสู่ความเป็นประชาธิปไตยในทางหนึ่ง สำหรับความเหลื่อมล้ำในช่วงแรก มีการศึกษาว่า พบการออมที่กระจุกตัวในคนกลุ่มน้อยที่สามารถลงทุนหารายได้ได้มากกว่าคนอื่นๆ แม้ต่อมาจะมีพ.ร.บ.ประกันสังคม ก็มีผลเพียงร้อยละ 14 ของคนทั้งประเทศ คนจำนวนน้อยสามารถกุมอำนาจไว้ได้ แต่ในต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว มักไม่ประสบปัญหาดังกล่าวมาก เนื่องจากมีการใช้ระบบภาษีอัตราก้าวหน้าและเงินโอน รวมถึงมีสหภาพแรงงานต่อรองกับนายจ้างโดยเฉพาะญี่ปุ่น จะมีปัญหาการเหลื่อมล้ำในสังคมน้อยมาก หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นมีการปฏิรูปการเมืองที่ยอมให้พรรคการเมืองและกลุ่มผลประโยชนืหลากหลายสีสรรมีส่วนร่วมในระบอบรัฐสภาประชาธิปไตย การปฏิรูปที่ดิน การล้มเลิกชนชั้นอภิสิทธิ์ และมีการสนับสนุนให้สหภาพแรงงานมีการต่อรองกับนายจ้าง มีการนำภาษีมรดกมาใช้ 


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์