เย้ยนิรโทษกรรมผู้ก่อความไม่สงบทำได้ยาก ระบุเมื่อทำผิดก็ต้องรับโทษ สอน'คนละหลักกับการให้อภัย'
เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้(4 พ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทยเสนอแนวคิดตั้งนครปัตตานีว่า ตนฟังแล้วรู้สึกไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ ซึ่งคงเหมือนกับประชาชนคนไทยที่ได้รับฟัง แต่เมื่อฟังคำอธิบายเพิ่มมากขึ้นก็ไม่คิดว่าจะมีอะไรใหม่ เป็นความคิดที่ พล.อ.ชวลิต เคยคิดมาก่อนสมัยเป็นนายกรัฐมนตรี แต่นำไปดำเนินการก็ไม่เกิดผลอะไรขึ้นมา และตอนที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีสมัยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้พยายามฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมาใหม่แต่ก็ไม่เห็นจะได้ผลอะไร
“รัฐบาลนี้มุ่งมั่นที่จะพัฒนายกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นให้ได้ ถ้าจะเป็นการชนะกันต้องชนะกันด้วยจิตใจไม่ใช่ชนะกันด้วยกำลัง รัฐบาลนี้ไม่ใช้กำลังเข่นฆ่าประชาชน และจะใช้วิธีการทางกฎหมายเท่านั้น พร้อมกับเพิ่มความแข็งแรงการทำงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้พยานหลักฐานมาดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ถึงแม้ว่าวิธีการอย่างนี้จะทำให้คนผิดบางส่วนต้องลอยนวลไป แต่ถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่นานาประเทศปฏิบัติกัน ให้คนผิดรอดไปยังดีกว่า ไปเข่นฆ่าล่าสังหารผู้บริสุทธิ์” นายสุเทพ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในแนวคิดของ พล.อ.ชวลิต ยังเสนอให้นิรโทษกรรมกับกลุ่มผู้ก่อเหตุความไม่สงบด้วย นายสุเทพ กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้
การนิรโทษในกรณีอย่างนี้หมายความว่าทุกคนที่เคยฆ่าประชาชน ฆ่าเจ้าหน้าที่ ฆ่าผู้บริสุทธิ์ ทั้งพระ โต๊ะอิหม่าม จะไม่ถูกลงโทษ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้คนละหลักการกับการให้อภัย เพราะการให้อภัยหมายความว่าเมื่อมีการหลงผิดในเรื่องใดแล้ว แล้วกลับเนื้อกลับตัวหันมาใช้ชีวิตตามปกติอย่างนั้นพอให้อภัยกันได้ แต่กรณีคนกระทำผิดต้องว่าไปตามผิด
เมื่ถามว่า พล.อ.ชวลิต ระบุว่า เรื่องการนิรโทษกรรมนั้นเคยทำสำเร็จในสมัยแก้ปัญหาคอมมิวนิสต์ตามนโยบาย 66/23 จึงคิดว่าน่าจะนำมาใช้กับการแก้ปัญหาภาคใต้ได้
คิดว่าแนวคิดนี้จะทำได้หรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ตนไม่เชื่อว่าจะเป็นแนวคคิดที่จะแก้ปัญหาภาคใต้ได้ในวันนี้ เพราะสมัยก่อนมีพรรคคอมมิวนิสต์ บรรดาผู้เป็นคอมมิวนิสต์อยู่ในพรรคเดียวกันมีอุดมการณ์ดำเนินงานทางการเมืองในทิศทางเดียวกันจะเดินหน้า ถอยหลังก็ไปพร้อม ๆ กัน แต่ในกรณีผู้ก่อความไม่สงบแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้มีอยู่หลายกลุ่ม และไม่คิดว่าจะมีอุดมการณ์ไปในทิศทางเดียวกัน ถึงแม้ว่าผู้นำของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบแบ่งแยกดินแดนเหล่านี้มีเป้าหมายจะสถาปนารัฐใหม่แยกออกจากประเทศไทย แต่ประชาชนไม่ได้เชื่อถือ หรือมีอุดมการณ์ในลักษณะนั้นด้วย.