ปชป.ปรับแผนทำงานพื้นที่ภาคใต้

วอรูม ปชป. ปรับแผนทำงานพื้นที่ภาคใต้ ไม่หวั่นพรรคอื่นแย่งฐานเสียง เตือน 'จิ๋ว' ตระหนักบทบาทตัวเอง


เมื่อเวลา 11.20 น. วันนี้(3 พ.ย.) นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงเช้าได้มีการประชุมคณะทำงานปฎิบัติการเพื่อประเมินสถานการณ์การเมือง(วอรูม) พรรคประชาธิปัตย์ โดยที่ประชุม ได้เชิญ ส.ส.ของพรรคในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมหารือเกี่ยวกับการทำงาน โดยเห็นพ้องว่าจะต้องมีการปรับการทำงานใน 3 ส่วน คือ 1.พรรคต้องทำงานเคียงคู่กันนโยบายรัฐบาล 2.ทำงานเคียงคู่กับประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และ 3.ประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีเขตแดนติดต่อกัน ซึ่งต้องยอมรับว่า การทำงานของ ส.ส. ที่ผ่านมา ยังมีช่องว่าง เนื่องจากมีปัญหาตามรัฐธรรมนูญ ที่ห้ามมิให้ ส.ส. เข้าแทรกแซงการทำงานของฝ่ายบริหาร

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเรียกประชุมครั้งนี้ เป็นการตั้งรับกรณีที่พรรคการเมืองใหม่ประกาศว่า อาจจะชนะการเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้หรือไม่

นายเทพไท กล่าวยืนยันว่า ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังเป็นของพรรคประชาธิปัตย์เป็นหลัก แต่ก็มีพรรคการเมืองอื่น เช่น พรรคเพื่อไทย มาตุภูมิ ก็เข้าทำพื้นที่ด้วย และยอมรับว่า มีพรรคการเมืองใหม่ได้เล็งเห็นพื้นที่ดังกล่าวเป็นตลาดการเมือง จะเข้าไปทำพื้นที่ด้วยเช่นกัน ซึ่งทุกคนก็อาจจะมีความหวัง ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องปรับปรุงและพัฒนาตัวเองให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

ส่วนกรณีที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย ประกาศนโยบาย 'ไทยร่มเย็น เป็นมิตรกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น' ที่ประชุมได้มีการหารือกัน แต่ไม่ได้รู้สึกกดดัน หรือให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

ทั้งนี้แปลกใจกับการเสนอแนวทางการตั้งนครปัตตานี จึงอยากให้พล.อ.ชวลิต เสนอโครงสร้างให้ชัดเจน เพราะรูปแบบการปกครองพิเศษนี้ อาจเปิดช่องว่างให้มีการนำการเมืองนอกประเทศหรือองค์กรการเมืองสากลเข้าแทรกแซงพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับ ติมอร์ อาเจะ และปาเลสไตน์

ด้าน นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ประชุมวอรูม หวังว่า พล.อ.ชวลิต จะตระหนักถึงบทบทของตัวเองว่าจะต้องทำเพื่อประเทศชาติ มากกว่าประโยชน์ส่วนตัว

และควรระวังในการยิงวัตถุประสงค์ทางการเมืองบนประโยชน์ขอประเทศชาติ โดยเฉพาะการเดินสายเยือนประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ การอ้างว่าเดินทางไปในนามของ คณะกรรมาธิการกิจการชายแดน สภาผู้แทนราษฎร ก็ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในการนำสภานิติบัญญัติเข้าร่วม โดยคณะกรรมกามาธิการชุดนี้ ไม่ได้รู้เห็นแต่อย่างใด และต้องระวังว่า การเจรจรการเมืองกับประเทศเพื่อนบ้านต้องไม่ใช่การเจรจาในนามรัฐบาล.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์