ย้อนตำนานระบียบถอดยศทหารอายุ 4 ทศวรรษ สตช.ก๊อปปี้มาใช้-ทักษิณ-ชวลิตเซ็นถอดยศ ตร.เพียบ


 บุคคลที่อ้างว่าเป็นทีมกฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีอ้างข้างๆคูๆว่า ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547(ประกาศใช้เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2547) ขัดรัฐธรรมนูญเพราะการถอดยศเป็นพระราชอำนาจของสถาบันพระมหกษัตริย์ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้


ทั้งๆที่ระเบียบดังกล่าวตราขึ้นอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(4) มาตรา 28 และมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการถอดยศตำรวจโดยเฉพาะและพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์หลังจากที่ทรงลงพระปรมาภิไธยและพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ


ที่สำคัญหลังจากที่ระเบียบฯว่าด้วยการถอดยศมีการประกาศใช้เมื่อมีนาคม 2547  พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ  ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ และ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการถอดยศนายตำรวจเป็นจำนวนมาก(ดูราชกิจจานุเบกษา)


ถ้าระเบียบดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญก็แสดงว่า ที่พ.ต.ท.ทักษิณและรองนายกรัฐมนตรี 3 คนลงนามรับสนองพระบรมราชโองการถอดยศนายตำรวจไปเป็นจำนวนมากไม่ชอบด้วยกฎหมาย  แล้ว"บุคคล"ที่อ้างว่า เป็นทีมทนายของพ.ต.ท.ทักษิณ ไปอยู่ ณ มุมใดของโลก ทำไมจึงไม่ออกมาทักท้วงว่า พ.ต.ท.ทักษิณกับพวกกระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ


นอกจากการตราระเบียบฯว่าด้วยการถอดยศตำรวจที่ถูกใช้มาตั้งแต่สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณเมื่อมีนาคม 2547 แล้วแล้ว มีคำถามว่า ก่อนหน้านี้มีระเบียบในลักษณะที่คล้ายกันนี้ใช้อยู่หรือไม่


จากการตรวจสอบพบว่า  มีระเบียบการถอดยศทหารที่มีชื่อว่า "ระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยผู้ซึ่งไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์ พ.ศ.2507" ลงนามโดยจอมพล ถนอม  กิตติขจร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2507 ระเบียบดังกล่าวถูกใช้ถอดยศนายทหารมาแล้วนับไม่ถ้วน(เป็นเวลากว่า 46 ปี (ดูราชกิจจานุเบกษา)


ระเบียบดังกล่าวกำหนดเหตุผู้ซึ่งไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์ ได้แก่ ผู้ที่มีความผิดหรือต้องรับโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้(ระเบียบข้อ2)


(1.)ทุจริตต่อหน้าที่ราชการ โดยถือตามคำพิพากษาถึงที่สุด ให้จำคุกหรือโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่ศาลจะรอการกำหนดโทษหรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้


(2.)กระทำความผิดนอกจากข้อ( 1. )ต้องรับโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก ตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหรือโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่ศาลจะรอการกำหนดโทษหรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ หรือต้องรับโทษจำคุกไม่เกินความผิดลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท


(3)ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นคนล้มละลาย เพราะทำหนี้สินขึ้นด้วยความทุจริต


(4)ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย และการขัดคำสั่งนั้น เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง


(5)เปิดเผยความลับของราชการเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง


(6)ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง


(7)ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป


(8)หนีราชการทหารในเวลาประจำการ


(9)ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง


ผู้ซึ่งไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์ ให้ส่วนราชการต้นสังกัดดำเนินการดังต่อไปนี้(ระเบียบข้อ3)


(1.)สำหรับข้าราชการกลาโหมชั้นสัญญาบัตร ให้รายงานตามลำดับชั้นจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อพิจารณา หากเห็นเป็นการสมควรจะได้ดำเนินการ เพื่อถอดออกจากยศทหารและบรรดาศักดิ์ต่อไป


(2.)สำหรับข้าราชการกลาโหมต่ำกว่าชั้นสัญญาบัตร ให้รายงานตามลำดับชั้นจนถึงผู้บังคับบัญชาชั้นแม่ทัพ ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ หรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เพื่อพิจารณา หากเห็นเป็นการสมควรก็ให้จัดการถอดออกจากยศทหาร แต่ถ้าเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์ด้วย ก็ให้รายงานจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อจัดการถอดออกจากยศทหารและบรรดาศักดิ์เสียในคราวเดียวพร้อมกัน


เมื่อนำเหตุแห่งการการถอดยศทหารมาเปรียบเทียบกับระเบียบการถอดยศตำรวจแล้วพบว่า แทบจะเหมือนกันทุกข้อ แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อาจมีบางข้อที่ระเบียบการถอดยศตำรวจไม่ได้นำมาใช้ ได้แก่ ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย และการขัดคำสั่งนั้น เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง, เปิดเผยความลับของราชการเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง


ดังนั้นอาจกล่าวว่าระเบียบว่าด้วยการถอดยษตำรวจแทบจะก๊อปปี้มาจากระเบียบว่าด้วยการถอดยศทหารก็ว่าได้


สำหรับเหตุแห่งการเสนอถอดยศตำรวจมีดังนี้ ดังต่อไปนี้


1.ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด ว่าทุจริตต่อหน้าที่ราชการ แม้ศาลจะพิพากษารอการกำหนดโทษ หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ก็ตาม


2.ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่ ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท


3.ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย เพราะก่อให้เกิดหนี้สินขึ้นโดยทุจริต


4.กระทำผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ


5.ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ


6.ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ


7.ถูกสั่งให้ออกจากราชการ เพราะขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่ก่อนได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจ


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์