ถอดยศถอดเครื่องราช ทักษิณ
ในที่สุดสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเป็นที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลก็มีหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง แนวทางการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถอดยศตำรวจและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์จาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เหตุต้องคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 ลงโทษจำคุก 2 ปี ในคดีที่ดินรัชดาฯ หลังจากที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ทำหนังสือสอบถามความคิดเห็นไปเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2552 ว่าแต่ละหน่วยงานมีขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องที่ฝ่ายประจำสามารถดำเนินการได้
หากสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเห็นสมควร ก็ให้เสนอรายชื่อพร้อมทั้งชั้นตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่สมควรขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา ถ้านายกฯ เห็นชอบ ก็ส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานราชเลขาธิการ เพื่อนำความกราบบังคมทูลฯ หากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกคืนก็จะมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานี้ รัฐบาลจะปฏิบัติตามหรือไม่ก็ได้ หากเห็นด้วยก็ต้องแจ้งไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ตั้งเรื่องถอดยศ เสนอสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามขั้นตอน
แม้จะมีคำยืนยันอย่างหนักแน่นจากนายกรัฐมนตรี “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ว่า ไม่เกี่ยวกับการเมืองหรือฝ่ายนโยบายสั่งการแทรกแซง พร้อมย้ำจะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกาที่มีทุกประการ แต่ในส่วนของพรรคเพื่อไทยกลับเห็นตรงกันข้าม ขณะที่นายพิชิต ชื่นบาน อดีตทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ออกแถลงการณ์โต้ว่า ยังไม่สามารถถอดยศและถอนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้ เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนที่อดีตนายกฯ ถวายฎีกาขอพระราชทาน อภัยโทษ อีกทั้งพฤติการณ์ที่ศาลพิพากษาจำคุก มิใช่เป็นการกระทำโดยตรงของ พ.ต.ท.ทักษิณ และมิใช่เรื่องทุจริตหรือการประพฤติชั่วร้ายแรงใด ๆ การทำเช่นนี้เท่ากับรัฐบาลเลือกปฏิบัติ มุ่งหวังทำลายเกียรติยศชื่อเสียงโดยเฉพาะ
น่าห่วงใยยิ่งนัก หากฝ่ายไม่เห็นด้วยฉวยโอกาสนี้เสี้ยมมวลชนก่อเหตุน้ำผึ้งหยดเดียว เพียงเพราะการสูญสิ้นเกียรติ ยศศักดิ์ศรีที่สั่งสมมาตลอดชีวิต กับบางคนก็ยากจะยอมรับได้ แม้เป็นการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกา แต่สำหรับอดีตนายกรัฐมนตรีที่มีส่วนร่วมกับเหตุทำร้ายประเทศไทยอีกคนหนึ่ง สมควรหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องกล้าหาญตัดสินใจด้วยความชัดเจน อย่างมีเหตุมีผลเพื่อมิให้สังคมคลางแคลงใจว่า เป็นการกลั่นแกล้ง ทำลายล้างทางการเมืองโดยไม่สิ้นสุด.