ไทย-เขมรไร้ปัญหา มาร์คยืนยัน สว.จี้กู้ศักดิ์ศรี

ที่โรงแรมพลาซา เอทธินี ถนนวิทยุ เมื่อเวลา 11.45 น.วันที่ 26 ต.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

กล่าวภายหลังเป็นองค์ปาฐกงาน ASEAN Business Forum 2009 ถึงแนวทางการปรับตัวของภาคเอกชนเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนตามกฎบัตรอาเซียน ว่า สิ่งที่รัฐบาลไทยต้องทำมากขึ้นการหารืออย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนและภาคประชาชนให้ทราบว่าข้อตกลงข้อผูกมัดเป็นอย่างไร เพราะส่วนใหญ่จะเกิดปัญหาเมื่อใกล้ถึงเวลาที่จะบังคับใช้ข้อตกลงอะไรจะปรับตัวไม่ทัน รัฐบาลต้องเร่งเต็มที่ โดยเฉพาะการเปิดเสรีทางการค้าในข้อตกลงการลงทุนภาคสินค้าเกษตรบางส่วนที่ตนได้ให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปเร่งทบทวนอยู่ว่า จะสามารถมีข้อสงวนอะไรได้หรือไม่ ขณะนี้ มีบางประเทศที่มีปัญหาคล้ายกันทั้งปัญหาภาษี การอนุญาตให้คนเข้าไปประกอบการในประเทศนั้นๆ ถ้าไม่สามารถสงวนได้ตามกติกาก็อาจจะมีวิธีการเสนอให้มีการชดเชยในเรื่องอื่นแทน แต่อาจจะมีกฎหมายภายในฉบับอื่นที่เป็นการกลไกช่วยดูแลคุ้มครองทางภาคเกษตรของเราได้ โดยตนได้ให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ. )ไปพิจารณาให้เสร็จก่อนสิ้นปี 2552

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเมืองระหว่างประเทศหรือในประเทศจะเป็นตัวฉุดรั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือไม่

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า โดยตัวผู้นำทุกประเทศมีความตั้งใจไม่ให้ปัญหาการเมืองไม่ว่าจะภายใน หรือ ระหว่างประเทศที่บางครั้งที่กระทบกระทั่งกันบางเป็นธรรมดาของประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกันมาเป็นอุปสรรคและในการพูดคุยในการประชุมอาเซียนซัมมิทครั้ง 15 ใน 2-3 วันที่ผ่านมาก็พูดกันว่าอาจจะมีข้อขัดแย้งกันบ้างเป็นครั้งเป็นคราว แต่ในแง่ความร่วมมือทั้งหมดก็เดินหน้าได้ และไม่มีผู้นำคนใดแสดงท่าทีลังเลในการเดินหน้าในความร่วมมือ ส่วนกรณีของสมเด็จอุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาที่มีข้อพิพาทกับไทยนั้นความจริงก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไร เลยแต่การเสนอข่าวสารเป็นอีกเรื่องหนึ่งจริงๆแล้วภายนอกคนให้ความสำคัญไม่ใช่เพียงเฉพาะในกลุ่มอาเซียนแต่กับท่าที ทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย และอินเดียที่ได้ให้ความสำคัญค่อนข้างมากกับการเข้ามามีส่วนร่วมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ความร่วมมือด้านการศึกษา และสิ่งแวดล้อม

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อกรณี นายศิริศักดิ์ ติยะพรรณ อธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศเสนอให้ตัดความสัมพันธ์กับกัมพูชาหากไม่ส่งตัวพ .ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีกลับไทย

ขณะนี้เป็นเพียงการให้สัมภาษณ์ และตนได้แสดงท่าทีชัดเจนไปแล้วในส่วนของไทยขณะนี้ยังไม่มีอะไร  อย่าเพิ่งรีบกระโดดไปบอกว่าสิ่งนั้นจะเกิดสิ่งนี้จะเกิดแค่เตรียมตัวไว้ ในนนี้ต้องดูจุดยืนที่ชัดเจนของกัมพูชาอีกครั้ง เชื่อว่ากัมพูชาต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนแต่ในราย ละเอียดสนธิสัญญาเปิดโอกาสให้มีการต่อสู้ในทางคดีเป็นเรื่องปกติ เช่น คดีของนักธุรกิจที่ ค้างกันมาหลายปีเราขอตัวไปเขาก็ต่อสู้ว่าไม่ให้ส่งกลับ บางประเทศต้องเข้าสู่กระบวนการศาลและฝ่ายบริหารพิจารณา การอ้างคดีการเมืองส่วนใหญ่จะเป็นข้อต่อสู้ของคนที่เป็นผู้ร้ายข้ามแดน

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะนำคดีในอดีตของนายพลสิน สงที่กัมพูชาต้องการตัวไปให้กัมพูชามาพิจารณากรณีเทียบเคียงหรือไม่

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อย่างที่ได้กล่าวไปกรณี หาก พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าไปในกัมพูชาก็จะขอให้ส่งตัวตามสนธิสัญญา จะรวบรวมเหตุผลส่งไป เมื่อถามต่อว่า จะมีการมาตรการรับมือกับสถานการณ์ชายแดนรอบประเทศหรือไม่ เพราะอาจจะไม่จบแค่กัมพูชา นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า  ขณะนี้ ยังไม่เห็นท่าทีที่ชัดว่าเจ้าตัวจะเข้าไปที่กัมพูชาหรือไม่อย่างไร ส่วนกรณี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้าน นั้น การเป็นนักการเมืองเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ขอให้ไปเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ  อย่าไปเพื่อผลประโยชน์ของบุคคลหรือของกลุ่ม ที่สำคัญอย่าไปทำให้ประเทศมีปัญหา เป็นสิ่งที่อยากจะฝากถึง เพราะกรณีที่เกิดขึ้นเป็นการเดินทางไปกัมพูชาของท่ พล.อ.ชวลิต เป็นคนไปให้ข่าวตั้งแต่แรก จึงตั้งคำถามว่าทำเพื่อใครในขณะที่ผลกระทบเกิดขึ้นกับคนสองประเทศ


เมื่อถามว่า การใช้ประเทศเพื่อนบ้านกดดันรัฐบาลไทยจะกลายเป็นปัญหาบานปลายหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนก็ยืนยันว่ากดดันไม่ได้หรอก

เมื่อถามว่าพล.อ.ชวลิตจะไปประเทศสหภาพพม่าอีกจะจับตาเป็นพิเศษหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พล.อ.ชวลิตมีสิทธิ์ไปแต่ขอให้ประเทศได้ประโยชน์อย่าไปแล้วเกิดปัญหากับ ประเทศ เมื่อถามว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ได้รายงานการพูดคุยทำความเข้าใจกับสมเด็จฮุนเซนให้นายกรัฐมนตรี ทราบหรือยัง นายอภิสิทธิ์ กล่าว ยังไม่ได้รายงาน

ที่รัฐสภา วันเดียวกัน กลุ่ม 40 ส.ว.นำ โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา และนางสาวสุมล สุตะวิริยะ ส.ว.เพชรบุรี

ร่วมแถลงกรณีสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา แทรกแซงการเมืองไทยในประชุมอาเซียน ที่ อ.หัวหิน  จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่า เชื่อว่าจะทำให้คนไทยทั้งชาติรู้แล้วว่าเพื่อนสนิทของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นใคร  หากพ .ต.ท.ทักษิณ คิดว่าจะไปอยู่ที่ประเทศกัมพูชากับสมเด็จฮุนเซนจะมีความปลอดภัยจากการถูกจับกุมมาลงโทษมากกว่าอยู่ที่ประเทศสหรัฐเอมิเรต ประเทศดูไบ ก็ให้ไปอยู่เร็วๆ ไม่ต้องรอให้สมเด็จฮุน เซนสร้างบ้านให้เสร็จ และหาก พ.ต.ท.ทักษิณไปอยู่ประเทศกัมพูชาแล้วจะรู้ว่าประชาชนไทยที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือคิดอย่างไรกับกัมพูชา ประวัติศาสตร์ไทยรบกับกัมพูชาก็คงจะถูกพี่น้องประชาชนภาคอีสานนำมาศึกษา กันอีกครั้ง เชื่อว่ากระแสในภาคอีสานของ พ.ต.ท.ทักษิณ และพล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี และสมาชิกพรรคเพื่อไทย จะต้องตกต่ำแน่นอน

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยต้องดำเนินโยบายต่อกัมพูชาด้วยความเข้มแข็ง

ยึดหลักเกียรติภูมิของชาติเป็นเรื่องสำคัญต่อความคงอยู่ของชาติมากกว่า เรื่องผลประโยชน์ของเศรษฐกิจเล็กน้อย นอกจากนี้ยังอยากเรียกร้องให้หยุดให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลกัมพูชาที่จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับสมเด็จฮุน เซนและพวก  จะนำผลประโยชน์ที่ได้จากประเทศไทยไปซื้ออาวุธ นำมาตรึงกำลังอยู่ที่ชายแดน เขาพระวิหาร

ด้าน นางสาวสุมล กล่าวว่า สมเด็จฮุนเซนเสียมารยาทอย่างมาก จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีแสดงจุดยืนให้ชัดเจน

อย่าให้สมเด็จฮุนเซนมาพูดเช่นนี้ อย่าให้กลุ่มคนไทยเล็กๆเพียงไม่กี่คนชักศึกเข้าบ้าน และชื่นชมกัมพูชามากกว่ารัฐบาลไทย เพราะคนพวกนี้ต้องเรียกว่าเป็นคนขายชาติ จุดนี้จึงเชื่อว่าจะทำให้คนไทยไม่ว่าสีใด จะออกมารวมตัวกันแสดงออกเพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีประเทศไทยคืนมา ขณะที่นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า อยากให้รัฐบาลรู้ด้วยว่าขณะนี้คนไทยทั้งประเทศรู้สึกไม่พอใจอย่างยิ่ง และไม่อยากเห็นกว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ เพราะจะมีประชาชนไปประท้วงหน้าสถานทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยในวันที่ 2 พ.ย. นายกรัฐมนตรีจึงต้องแสดงท่าทีตอบโต้อย่างเป็นทางการมากกว่าการพูดเพียงแค่เชือดเฉือน

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์