ทั้งนี้ การปลดออก เป็นโทษทางวินัยสถานหนึ่ง ที่ใช้ลงโทษแก่ข้าราชการผู้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
โดยสั่งให้ออกจากราชการ ผู้ถูกลงโทษปลดออกมีสิทธิ์ได้รับบำเหน็จบำนาญเสมือนว่าผู้นั้นลาออก เมื่อเวลา 08.15 น. วันเดียวกัน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในฐานะประธาน ก.ตร. กล่าวถึงการประชุม ก.ตร.ในวันที่ 16 ตุลาคม เพื่อจัดทำบัญชีโยกย้ายระดับรอง ผบ.ตร. ซึ่งมีคำถามว่าจะยึดตามโผเดิมหรือไม่ ว่า ไม่เคยเห็นโผเดิม ไม่มีโผเดิมอยู่ในขณะนี้ การประชุม ก.ตร.ครั้งนี้จะหารือกับคณะกรรมการอย่างเป็นทางการว่าเราจะช่วยกันดูแลเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายหรือไม่ อย่างไร ด้วยวิธีไหน หาก ก.ตร.ส่วนใหญ่เห็นไปในทิศทางเดียวกัน ตนจะได้ดำเนินการต่อไป แต่ยังไม่มีการทำบัญชีรายชื่อใดๆ ทั้งสิ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีเสียงวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมหาก พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการ ผบ.ตร.จะลงนามในคำสั่งแต่งตั้งโยกย้าย นายสุเทพกล่าวว่า ยังไม่ได้ยิน ทั้งหมดหากมีอะไรคงไปคุยกันใน ก.ตร.
"รักษาการ ผบ.ตร.ก็ทำหน้าที่ได้เหมือน ผบ.ตร.ทุกอย่าง แม้แต่การจัดทำบัญชีโยกย้ายก็ทำได้ ไม่มีปัญหา อยู่ที่ ก.ตร.ว่าจะให้ทำหรือไม่” เมื่อถามว่า ถึงแม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านหรือไม่พอใจเป็นจำนวนมากอย่างนั้นหรือ นายสุเทพ หัวเราะและกล่าวว่า “ยังไม่ได้จำนวน ถ้าจำนวนมากก็ทำไม่ได้น่ะสิครับ” เมื่อถามว่ายังมีเสียงท้วงติง คัดค้านออกมาอยู่เป็นระยะๆ นายสุเทพกล่าวว่า “ไม่หรอกครับ ธรรมดาๆ”
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าจะรับฟังเสียงท้วงติงดังกล่าวหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า “ผมรับฟังทุกอย่าง คราวที่แล้วผมเป็นคนสั่งเลื่อนประชุมเอง เพราะผมรับฟัง ผมเป็นคนฟังคนอยู่แล้ว”
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าการประชุม ก.ตร.จะมีการพิจารณาโทษ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. กรณีถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงคดีสลายม็อบด้วยหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า การพิจารณาโทษของ พล.ต.ท.สุชาติ เป็นเรื่องของข้าราชการตำรวจที่ไม่ถึง ก.ตร. เพราะเขามีระดับชั้นกันอยู่
"ระดับของ พล.ต.อ.พัชรวาท ผู้บังคับบัญชาที่ต้องพิจารณาโทษคือนายกรัฐมนตรี ส่วน พล.ต.ท.สุชาตินั้น ผู้บังคับบัญชาคือ ผบ.ตร. หากถูกลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเจ้าตัวไม่เห็นด้วยและอุทธรณ์ ถ้าอย่างนี้เรื่องอาจจะไปถึง ก.ตร. ต้องขอให้เข้าใจขั้นตอนด้วย" นายสุเทพ กล่าว
ต่อมาเมื่อเวลา 11.00 น. การประชุม ก.ตร.เริ่มขึ้น
โดยมีนายสุเทพ เป็นประธาน มี พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ และ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลา 11.20 น. ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้เดินออกจากที่ประชุม ตามด้วย พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ พล.ต.อ.พิชิต เดินทางกลับ มีสีหน้าเคร่งเครียด เมื่อถามถึงมติการประชุม ก.ตร.ว่ามีการแต่งตั้งโยกย้ายระดับรอง ผบ.ตร.หรือไม่ ก็ตอบว่าไม่รู้ และออกมาก่อน
ร.ต.อ.ปุระชัยจะให้สัมภาษณ์ ส่วนที่ตนไม่เห็นด้วยนั้น เพราะยึดตามหลักการ พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติ 2 เรืองที่สำคัญเพื่อแจ้งให้ทราบและที่ใช้เวลานาน เนื่องจากที่ประชุมให้ ก.ตร. ทุกคนแสดงความคิดเห็นในเรื่องการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจวาระประจำปีในระดับรอง ผบ.ตร.ลงไป ว่าควรดำเนินการต่อไปหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมมีมติใน 2 เรื่อง ว่าควรแต่งตั้งข้าราชการตำรวจในตำแหน่งที่ว่าง จำนวน 1,560 ตำแหน่ง โดย ก.ตร.ทั้งหมด 18 คน มี 16 คนให้ความเห็นว่า ควรดำเนินการแต่งตั้งทันทีที่พร้อม เนื่องมีตำแหน่งหลักที่ว่างลงจำนวนหนึ่ง และหากไม่แต่งตั้งจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของตำรวจและประชาชน ส่วนอีก 2 คนที่ไม่เห็นด้วย คือ ร.ต.อ.ปุระชัย และ พล.ต.อ.พิชิต โดยให้เหตุผลว่า ยังไม่ควรทำ ให้รอไว้ก่อน ก่อนจะเดินออกจากห้องประชุม โดยปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นการวอล์กเอาท์แต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทั้งสองคนต้องการให้ได้ตำแหน่ง ผบ.ตร.ก่อนหรือไม่ พล.ต.ท.พงศพัศ กล่าวว่า ไม่ได้มีการพูดอย่างชัดเจนขนาดนั้น เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน และเสียงส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย เป็นไปตามมติ
พล.ต.ท.พงศพัศ กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นที่ 2 คือ ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกจากชุดเดิมที่มี ผบ.ตร.เป็นประธานบอร์ดกลั่นกรอง และมีรอง ผบ.ตร. จต.ช. เป็นคณะกรรมการ แต่ครั้งนี้เห็นว่าให้มีการพิจารณาร่วมกัน โดยเสนอให้เพิ่ม ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าไปในคณะกรรมการคัดเลือกอีก 6 คน ประกอบด้วย นางเบญจวรรณ สร่างนิทร นายชัยเกษม นิติสิริ พล.ต.อ.นพดล สมบูรณ์ทรัพย์ พล.ต.อ.บุญเพ็ญ บำเพ็ญบุญ นายสีมา สีมานันท์ และนายสมศักดิ์ บุญทอง โดยที่ประชุมมีมติให้นายสมศักดิ์เป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือก
"การเพิ่มคณะกรรมการดังกล่าว เนื่องจากการแต่งตั้งครั้งนี้สังคมจับตามอง ต้องการความโปร่งใส และเป็นธรรม โดยนายสุเทพจะเสนอรายชื่อดังกล่าวออกประกาศ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีลงนาม ซึ่งนายสุเทพจะประกาศคณะกรรมการกลั่นกรองอย่างเป็นทางการ และจะนัดคณะกรรมการกลั่นกรองเพื่อพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายก่อนเสนอให้ ก.ตร.พิจารณาตามขั้นตอน ในเบื้องต้นจะมีการแต่งตั้งระดับรอง ผบ.ตร.ลงไปจนถึงระดับ ผบ.ช. ก่อนเป็นอันดับแรก คาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกิน 20 พฤศจิกายน" พล.ต.ท.พงศพัศ กล่าว
โฆษก สตช.กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมสรุปว่าให้มีการแต่งตั้งเนื่องจากเหตุผลความจำเป็นเปลี่ยนไป คนทำบัญชีไม่ได้เกษียณอายุราชการ
ส่วนที่ ก.ตร. 2 คนไม่เห็นด้วย ไม่ถือว่ามีปัญหาอะไร เพราะ ก.ตร.ที่เหลืออีก 16 คนเห็นชอบให้มีการแต่งตั้ง เนื่องจากตำแหน่งหลักที่ขาดจากการเกษียณอายุราชการมีถึง 1,560 ตำแหน่ง การรักษาราชการแทนก็มีข้อจำกัดในเรื่องการทำงานบ้าง การแต่งตั้งลงไปก็เพื่อดูแลประชาชนได้มากขึ้น