ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุม ครม.
ที่ประชุมมีมติอนุมัติกรอบวงเงินภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2552 เพิ่มเติมอีก 227,939.01 ล้านบาท จากเดิมอนุมัติไปแล้ว 1,068,082 ล้านบาท รวมวงเงิน 1,296,021 ล้านบาท และอนุมัติกรอบการใช้เงิน พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพิ่มเติมอีก 5 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปใช้ตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง จากที่อนุมัติไปแล้ว 3 แสนล้านบาท รวมเป็น 3.5 แสนล้านบาท เพราะเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น การจัดเก็บรายได้คาดว่าจะต่ำกว่าประมาณการ 2 แสนล้านบาท จากเดิมคาดว่าจะต่ำกว่าประมาณการ 3 แสนล้านบาท ทำให้คาดว่าจะใช้เงินชดเชยเงินคงคลังประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา อยู่ที่ 2.9 แสนล้านบาท ถือว่าเพียงพอที่จะนำมาใช้ในการบริหารงบประมาณปี 2553
นายกรณ์กล่าวว่า รายละเอียดของโครงการลงทุนภายใต้วงเงินเพิ่มเติม คาดว่าจะเสนอให้ ครม.พิจารณาสัปดาห์หน้า
ส่วนงบฯลงทุนที่เพิ่มเติม มีการจัดสรรสำหรับโครงการที่มีความสำคัญไว้แล้ว ได้แก่ 1.โครงการประกันรายได้เกษตรกรในพืช 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวโพด มันสำปะหลัง และข้าว วงเงิน 4.1 หมื่นล้านบาท 2.โครงการเงินอุดหนุนการดำเนินการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 3 หมื่นล้านบาท 3.โครงการบ้านมั่นคง ซึ่งเตรียมงบฯ 6 พันล้านบาท แต่เบื้องต้นจะใช้เงินประมาณ 3 พันล้านบาทในช่วงรอยต่อของปีงบประมาณ 2552-2553 4.โครงการกองทุนหมู่บ้าน 1.9 หมื่นล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการไทยเข้มแข็งวงเงิน 2.27 แสนล้านบาท ที่ได้รับอนุมัติกรอบวงเงินเพิ่มเติม แยกเป็น 14 สาขา ดังนี้
1.สาขาทรัพยากรน้ำและการเกษตร วงเงิน 4,550 ล้านบาท กระทรวงมหาดไทย 2,910 ล้านบาท กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1,619 ล้านบาท และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 20 ล้านบาท
2.สาขาขนส่งระบบราง วงเงิน 530 ล้านบาท ให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่เสนอจัดหาเครื่องกั้นเพื่อความปลอดภัยในการเดินรถ 100 แห่ง วงเงิน 450 ล้านบาท และโครงการศึกษาก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 80 ล้านบาท
3.สาขาขนส่งทางถนนวงเงิน 33,579 ล้านบาท กระทรวงคมนาคมได้รับจัดสรรทั้งหมด โดยกรมทางหลวงได้รับจัดสรร 27,600 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบทได้รับจัดสรร 5,979 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีการกันไว้สำหรับโครงการถนนไร้ฝุ่นถึง 5,000 ล้านบาท
4.สาขาพลังงาน วงเงิน 574 ล้านบาท กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) 400 ล้านบาท โดยให้กรมอุตุนิยมวิทยาทำโครงการศึกษาและพัฒนาระบบศักยภาพเพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทน และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) 174 ล้านบาท ทำโครงการ 1 ชุมชน 1 สวนป่า 1 โรงไฟฟ้าชีวมวล
5.สาขาการสื่อสาร วงเงิน 1,423 ล้านบาท กระทรวงไอซีทีได้รับจัดสรร 920 ล้านบาท และสำนักนายกรัฐมนตรี 503 ล้านบาท