ประสพสุขชี้ใช้เงิน2พันล้านทำประชามติก็สมานฉันท์ไม่ได้

ที่รัฐสภา  เมื่อเวลา 09.30 น. ประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่พรรคร่วมรัฐบาลมีมติให้ยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 50 จำนวน 6 ประเด็นโดยแยกเป็น 6 ร่าง และให้ทำประชามติหลังรัฐสภาผ่านร่างในวาระที่ 1 ว่า

การทำประชามติควรทำก่อนที่จะนำร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ทั้งนี้เพราะการทำประชามติไม่มีผลผูกพันกับรัฐสภา หากทำในภายหลังร่างเข้าสู่การพิจารณาของสภาแล้ว ผลประชามติจะไม่มีผลทางกฎหมาย และจะไม่มีประโยชน์อะไร


ตามที่ผมเข้าใจคือ ควรทำประชามติก่อนร่างจะเข้าสภา ผมยังสงสัยว่า ถ้ารัฐสภาผ่านวาระ 1 ไปแล้ว และเมื่อไปทำประชามติ ได้ผลว่า ประชาชนให้แก้ไข 4 ประเด็น แต่รัฐสภายืนยันจะทำ 6 ประเด็น จะทำอย่างไร เมื่อผลการประชามติไม่ได้ผูกพันรัฐสภา มันยังมีข้อสงสัยทางกฎหมายว่า ถ้าทำระหว่างนั้น มันจะมีผลทางกฎหมายหรือเปล่า ถ้าไม่มี ทำไปก็ไม่มีประโยชน์ ผมถึงพยายามบอกว่า ต้องทำก่อน เมื่อทำแล้วประชาชนเห็นว่า ควรแก้ไขประเด็นใดจึงนำร่างประเด็นนั้นเข้าสู่การพิจารณาตามกระบวนการทุกอย่างก็จบ” นายประสพสุข กล่าว


เมื่อถามว่า หากทำประชามติหลังร่างแก้ไขผ่านความเห็นชอบในวาระแรกไปแล้วถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่ นายประสพสุข กล่าวว่า

ไม่ผิดกฎหมาย แต่มีข้อสงสัยว่าผลประชามติจะมีผลผูกพันให้รัฐสภาต้องปฏิบัติตามนั้นหรือไม่ ถ้าจะไม่เอาประเด็นใดประเด็นหนึ่งทำได้หรือไม่  เมื่อถามต่อว่า ข้อเสนอของพรรคร่วมรัฐบาลถือเป็นการบีบประชาชนให้รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายประสพสุข กล่าวว่า คงไม่เชิงเป็นการบีบ เพราะหากประชาชนไม่เห็นด้วยในประเด็นไหน รัฐสภาก็ต้องฟัง ขณะเดียวกันหากรัฐสภาจะยืนกรานไม่ทำตามผลการประชามติก็ได้ เพราะผลการประชามติไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ก็จะเป็นปัญหาขึ้นมาอีก 

เมื่อถามว่า หากเปรียบเทียบงบประมาณในการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น จำนวน 2 พันล้านบาทกับผลที่จะได้รับถือว่าคุ้มค่าหรือไม่ นายประสพสุข กล่าวว่า
 
หากคิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดความสมานฉันท์และรัฐบาลบอกว่า มีเงิน การใช้เงิน 2 พันล้านบาทคงไม่มีอะไร และสร้างความสมานฉันท์ออกมาได้

เมื่อถามถึงกรอบเวลาในการแก้ไข ที่พรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่ารวมแล้วใช้เวลาประมาณ 9 เดือน นายประสพสุข กล่าวว่า
 
เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับฝ่ายที่จะทำ หากทุกฝ่ายเห็นว่า ควรทำภายใต้กรอบเวลาดังกล่าวก็คงทำตามนี้ ส่วนความคืบหน้าในการสั่งการให้ฝ่ายกฎหมายของสองสภายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ตนยังไมได้สั่งการ และยังไม่ได้หารือกับนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ดี การยกร่างแก้ไชรัฐธรรมนูญใครจะทำก็ทำได้อยู่แล้ว โดยขอให้การยกร่างเป็นไปตามกระบวนการ และเมื่อยกร่างเสร็จแล้วก็สิทธิที่สามารถเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมสองสภาได้


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์