บิ๊กจิ๋ว ร่อนปกขาว อัดพรรคการเมือง-ปลุกทหารสู้

หมายเหตุ - เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาในสมุดปกขาว เรื่อง "ความจงรักภักดี การสร้างความสามัคคีแห่งชาติ ทหารกับการเมือง" ความยาว 40 หน้าโดย พล.ท.พิรัช สวามิวัศดิ์ หรือเสธ.หมึก นายทหารคนสนิท พล.อ.ชวลิต ยืนยันว่า พล.อ.ชวลิตได้เขียนสมุดปกขาวเพื่อแจกจ่ายให้อดีตนายทหารคนสนิท เพื่อนฝูง และสื่อมวลชน เนื่องจากมีความเป็นห่วงในสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้

ส่วนที่ 1 ความจงรักภักดี

เป็นการเล่าย้อนไปถึงระบอบประชาธิปไตยหลังผ่านเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 จนถึงปัจจุบัน โดยเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า การเมืองที่เป็นแรงกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งสถาบันชาติ ศาสนา และประชาชน คือการเมืองระบอบเผด็จการรัฐสภา ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย เพราะพระบรมราโชบายสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น ไม่ได้รับการปฏิบัติให้ปรากฏเป็นจริง นโยบาย 66/23 ไม่ได้ปฏิบัติให้แล้วเสร็จ ความมั่นคง หรือความล่มสลายของสถาบันพระมหากษัตริย์ทั่วโลกขึ้นอยู่กับประชาธิปไตย ถ้าพระมหากษัตริย์ทรงสร้างประชาธิปไตยให้กับประเทศชาติ ประชาชนก็จะทำให้เกิดความมั่นคงแก่สถาบันอย่างยิ่งยวดยาวนานตลอดไป สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของชาติที่แยกออกจากกันไม่ได้ ประชาชนมีหน้าที่พิทักษ์รักษาชาติ อันหมายความรวมถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ นั่นคือ การสร้างประชาธิปไตยตามพระบรมราโชบายสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตย เมื่อสร้างประชาธิปไตยแล้ว การเมืองเผด็จการรัฐสภาที่กระทบต่อสถาบันจะถูกยกเลิกไป จะไม่มีแรงกระทบอีก

ส่วนที่ 2 การสร้างความสามัคคีแห่งชาติ

การรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) กับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่มีเจตนารมณ์ประชาธิปไตย แต่กลับใช้อำนาจที่ยึดมาได้ไปสร้างรัฐธรรมนูญ จึงประสบความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเพราะเจตนาขัดกับนโยบาย กล่าวคือ มีเจตนารมณ์ประชาธิปไตย แต่มีนโยบายสร้างรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับพรรคการเมืองในปัจจุบันที่มีเจตนารมณ์ประชาธิปไตย แต่มีนโยบายสร้างรัฐธรรมนูญ เลือกตั้งทั่วไปชนะ มีเสียงข้างมากจนจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ทำเป็นแต่การร่างและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มุ่งสู่การสร้างประชาธิปไตย จึงได้แต่รัฐธรรมนูญ ไม่ได้ประชาธิปไตย

ความขัดแย้งระหว่างคนเสื้อเหลืองกับคนเสื้อแดงไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างประชาชน แต่เป็นความขัดแย้งภายในของพวกเผด็จการ เพราะเครื่องแสดงถึงความขัดแย้งภายในระบอบเผด็จการคือลัทธิรัฐธรรมนูญ โดยฝ่ายหนึ่งเอารัฐธรรมนูญปี 2549 อีกฝ่ายหนึ่งเอารัฐธรรมนูญปี 2550 ส่วนคนเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงเป็นประชาชนตัวจริง เพียงแต่เข้าใจผิดว่าลัทธิรัฐธรรมนูญคือลัทธิประชาธิปไตย จึงเข้าร่วมการเคลื่อนไหว โดยคนเสื้อเหลืองต่อสู้โค่นล้มระบอบเผด็จการรัฐสภาเพื่อประชาธิปไตยที่สร้างด้วยรัฐธรรมนูญ ขณะที่คนเสื้อแดงต่อสู้โค่นล้มระบอบเผด็จการรัฐประหารเพื่อประชาธิปไตยสร้างด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อยุติเดียวกันคือการได้ประชาธิปไตยในแผ่นกระดาษ ไม่ได้ประชาธิปไตยในแผ่นดิน ส่วนการปกครองจริงของประเทศคือระบอบเผด็จการรัฐสภา

ส่วนที่ 3 ทหารกับการเมือง

"ทหาร" คือผู้ถืออาวุธที่ดำเนินงานทางการเมืองเพื่อรักษาความมั่นคงแห่งชาติ และพัฒนาประเทศ โดยจะสอดคล้องกับฝ่ายการเมืองคือรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย รัฐบาลที่มีนโยบายประชาธิปไตยจะบริหารราชการแผ่นดินโดยใช้กลไกรัฐ โดยเฉพาะกองทัพ แต่ถ้ารัฐบาลมีนโยบายเผด็จการ ตรงข้ามกับการเมืองของประเทศที่กองทัพรับผิดชอบอยู่ กองทัพต้องปฏิเสธนโยบายรัฐบาลนั้น และผลักดันให้รัฐบาลยุตินโยบายเผด็จการ ถ้ารัฐบาลไม่ยินยอม กองทัพต้องปฏิบัติการเมืองของประเทศคือรักษาเอกราช และสร้างประชาธิปไตย ยกเลิกระบอบเผด็จการตามอำนาจที่กองทัพมีอยู่

ถ้ารัฐบาลบริหารงานแล้วกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ กองทัพต้องพลิกกลับขึ้นมาเหนือรัฐบาลได้อย่างเป็นไปเอง เพราะมีหน้าที่แตกต่างกัน ทหารรักษารัฐ รัฐบาลบริหารรัฐ กองทัพเปลี่ยนไม่ได้ต้องอยู่คู่กับรัฐตลอดไป แต่รัฐบาลต้องผลัดเปลี่ยนไปตลอด ถ้ากองทัพเปลี่ยน รัฐก็ล่มสลาย การพัฒนากองทัพไทยให้เป็นทหารมืออาชีพ และมีความพร้อมรบต้องพัฒนากองทัพให้เป็นประชาธิปไตย โดยยกระดับจาก "ทหารประชาธิปไตย" ตามนโยบาย 66/23 ขึ้นเป็น "กองทัพประชาธิปไตย" จากนั้นจึงสร้างประชาธิปไตยระดับสูงด้วยการกระทำการ "ปฏิรูปประชาธิปไตยกองทัพไทย"

ขอยืนยันว่า นโยบาย 66/23 และนโยบาย 65/25 มีความจำเป็นอย่างที่สุดต่อสถานการณ์ชาติบ้านเมือง ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ตราบใดที่ยังไม่สร้างประชาธิปไตยให้แล้วเสร็จ ตราบนั้นนโยบายดังกล่าวก็จำเป็นที่สุดต่อประเทศและประชาชน

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์