นายกฯ ส่งกษิต เจรจาผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ประท้วงเขาพระวิหาร

ทำเนียบฯ 15 ก.ย.-นายกรัฐมนตรี ส่ง “กษิต ภิรมย์” ทำความเข้าใจชาวบ้านที่ประท้วงชายแดนไทย-กัมพูชา ยืนยันเป้าหมายตรงกันคือหวงแหนอธิปไตย แต่ต้องใช้การเจรจา อย่าทำอะไรสุ่มเสี่ยงรุนแรง ยืนยันรัฐบาลไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

เคลื่อนขบวนไปปักหลักทวงคืนแผ่นดินไทยที่ปราสาทพระวิหาร ชายแดนไทย-กัมพูชา อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ และผลักดันทหาร ประชาชนชาวกัมพูชาที่บุกรุกเข้ามาสร้างที่อยู่อาศัยบนพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรออกไปจากแผ่นดินไทย ว่า พยายามทำความเข้าใจกันอยู่ โดยนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพิ่งคุยกับตนว่าจะพยายามไปทำความเข้าใจเพิ่มเติม


นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งนี้จะเห็นว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีมีข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติค่อนข้างละเอียดในทุกมุม

ซึ่งพบว่าข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาฯ กับแนวทางที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ ค่อนข้างจะสอดคล้องกันเกือบหมด ขอยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง และพยายามให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไปทำความเข้าใจกับประชาชน ว่ารัฐบาลไม่ได้มีความคิดต่างกันในแง่ของการหวงแหนสิทธิอธิปไตย แต่ขอให้เจ้าหน้าที่มีโอกาสทำงาน และอย่าทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงและการปะทะกัน เพราะจะไม่เป็นผลดีกับฝ่ายไทยหรือฝ่ายใดทั้งสิ้น


“ขอยืนยันว่าใครที่กังวลว่ารัฐบาลจะไปทำอะไรซึ่งเสียหายต่ออธิปไตย ดินแดน และมีผลประโยชน์อื่นใด ยืนยันได้ 100% ว่าไม่มี ส่วนความเข้าใจของประชาชนกับหน่วยงาน ผมยอมรับว่ามีความคิดเห็นที่อาจจะแตกต่างกันในบางแง่มุม ทั้งเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งเรื่องข้อเท็จจริงบางอย่าง ซึ่งเราพยายามทำความเข้าใจกัน แนวทางที่เราทำอยู่ คือ ต้องการที่จะใช้กระบวนการของการเจรจา เพื่อคืนสภาพพื้นที่ไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสงบ ก่อนที่จะมีปัญหาเรื่องมรดกโลกขึ้นมา” นายกรัฐมนตรี กล่าว


นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดความเสี่ยง เพราะหากมีความไม่เข้าใจหรือเกิดอุบัติเหตุขึ้น ก็เกิดการปะทะกันได้

ซึ่งเคยเกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 ดังนั้น ตนจึงไม่ต้องการให้เกิดเหตุดังกล่าวขึ้นอีก จึงพยายามที่จะเจรจาเพื่อคืนสภาพพื้นที่ที่จะไม่ให้มีปัญหา และตั้งข้อสังเกตมาตั้งแต่ต้นว่ากรณีการขึ้นทะเบียนมรดกโลกจะเพิ่มความตึงเครียดบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา จึงเป็นเหตุผลว่าเหตุใดรัฐบาลจึงยืนยันว่ายูเนสโกต้องทบทวนเรื่องนี้ แต่ทั้งหมดมีขั้นตอนของยูเนสโก ซึ่งนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ติดตามอยู่ โดยเฉพาะสิทธิในการที่เราจะได้รับทราบเอกสารต่าง ๆ ที่ทางกัมพูชายื่นไป โดยเฉพาะแผนที่


ส่วนกรณีของแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาที่มีการลงนามสมัยรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์นั้น นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ไทยแจ้งกัมพูชาไปแล้วว่าแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวนั้นไม่มีผล และกัมพูชาได้รับหนังสือนั้นอย่างแน่นอน รวมทั้งยูเนสโกก็ไม่ได้ใช้เรื่องดังกล่าวไปพิจารณา.-สำนักข่าวไทย


เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์