เอกสารระบุชัดรัฐไทยเสื่อมลงทุกปีสิงคโปร์-มาเลฯทิ้งห่างหลายช่วงตัว ระดับความสงบสุขต่ำสุดรองจากพม่า


เอกสารยุทธศาสตร์ตรวจราชการระบุดัชนีชี้วัดเกือบทุกด้านของรัฐไทยเสื่อมทรุดลงทุกปีตั้งแต่ 2544-2551 ประสิทธิภาพภาครัฐ-การคลัง-ความโปร่งใสมีแนวโน้มตกต่ำลงเรื่อยๆ พบสิงคโปร์-มาเลเซียทิ้งห่างไทยไปหลายช่วงตัว มีระดับความสงบสุขต่ำเป็นอันดับที่สองในกลุ่มประเทศอาเซียนรองจากประเทศพม่า

เมื่อวันที่ 12 กันยายน มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในการประชุมระดมความเห็นและชี้แจงข้าราชการระดับสูงทำเนียบรัฐบาล และผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับ "แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการตรวจราชการ พ.ศ.2552-2556"  ที่โรงแรมเดอะ ทวิน ทาวเวอร์ เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา บรรดาผู้เข้าร่วมสัมมนาจำนวนหนึ่งได้หยิบยกเนื้อหาในบทสรุปสำหรับผู้บริหารมาหารือในวงประชุม บทสรุปส่วนหนึ่งได้รายงานความตกต่ำเกือบทุกด้านของรัฐไทยผ่านดัชนีชี้วัดด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น 1.ดัชนีความสงบสุข 2.การบริหารจัดการที่ดี 3.ประสิทธิภาพของภาครัฐ ฯลฯ ดัชนีชี้วัดระบุว่าอันดับและคะแนนมีแนวโน้มลดลงทุกปี นับตั้งแต่ปี 2544-2551 ผู้เข้าร่วมสัมมนาต่างแสดงความเป็นห่วงว่า หากเกิดความวุ่นวายทางการเมืองขึ้นในเร็วๆ นี้ จนนำไปสู่ความรุนแรง จะส่งผลให้ภาพลักษณ์ของรัฐไทยในสายตาโลกย่ำแย่ลงกว่าเดิม และประเทศไทยมีสิทธิถูกปรับอันดับประสิทธิภาพของภาครัฐลงต่ำกว่าเดิม และจะโดนประเทศมาเลเซียทิ้งห่างไปเรื่อยๆ


เอกสารยุทธศาสตร์พัฒนาระบบการตรวจราชการระบุผลการประเมินสังคมไทยด้วยดัชนีความสงบสุข พบว่าประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีระดับดัชนีความสงบสุขอยู่ในระดับต่ำ ในปี 2551 แย่ลงกว่าปี 2550 คือมีอันดับลดลงจากอันดับที่ 105 ไปอยู่อันดับที่ 118 จากการจัดอันดับประเทศทั่วโลก 140 ประเทศ ถือว่าอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีระดับความสงบสุขต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในโลก และต่ำที่สุดเป็นอันดับที่สองในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากประเทศพม่า (อันดับที่ 126) เพียงประเทศเดียว ทั้งนี้ ปัจจัยเชิงลบที่มีผลต่อสถานการณ์ความสงบสุขของไทย อาทิ การมีอาชญากรรมที่รุนแรงเพิ่มขึ้น เสถียรภาพรัฐบาล การละเมิดมนุษยชน การแสดงออกด้านความรุนแรง เป็นต้น


ส่วนระบบบริหารจัดการยังมีปัญหาด้านภาพลักษณ์ ธนาคารโลกระบุว่า ประเทศไทยมีคะแนนอยู่ในระดับปานกลางและมีแนวโน้มลดลงทุกปีนับตั้งแต่ปี 2545 และมีแนวโน้มห่างจากมาเลเซียมากขึ้นเรื่อยๆ ในด้านภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นของประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2547-2551) มีการปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ และมาเลเซียล้วนมีค่าคะแนนมากกว่าเกือบเท่าตัว ทางด้านผลการจัดอันดับประสิทธิภาพภาครัฐ และฐานะการคลังในปี 2546-2551 มีแนวโน้มแย่ลง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านความโปร่งใส การทุจริตและประพฤติมิชอบ และการให้บริการสาธารณะ ทำให้อันดับลดลงจากอันดับที่ 21 ในปี 2547 เป็นอันดับที่ 46 ในปี 2551


เอกสารยังนำเสนอทิศทางใหม่เพื่อการพัฒนาสังคมไทยให้เข้าสู่สภาวะสมดุล อาทิ 1.ปรับกระบวนทรรศน์การบริหารงานของภาครัฐใหม่ ให้เข้าสู่ระบบบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้ประชาชน/ชุมชนมีบทบาทหลักในการเป็นเจ้าของเรื่องดำเนินการแก้ปัญหา และการหาวิธีป้องกันปัญหา ตลอดจนการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชน โดยมีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนให้การดำเนินงานของภาคประชาชนสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ 2.พัฒนากระบวนการ "สัญญาประชาคม" บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่น จนถึงระดับประเทศ


3.สร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้าง กลไกและกระบวนการบริหารจัดการของทุกภาคส่วนในสังคม บนพื้นฐานหลักธรรมาภิบาลและประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมการเมืองไทย ที่ยึดโยงกับแนวปฏิบัติภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 4.สนับสนุนภาคเอกชนและองค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมให้มากขึ้น 5.รณรงค์สร้างจิตสำนึกและส่งเสริมบทบาทภาคประชาชนในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยจัดระบบการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพสูงสุด วางรากฐานคุณธรรม จริยธรรมแก่ประชาชน เป็นต้น 


เปิดบันทึกสำนักนายกฯ  กระตุก" รัฐไทย"ระวัง!เสื่อมลงทุกปี
 
หมายเหตุ : คัดจากเอกสารฉบับผู้บริหารสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง"แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการตรวจราชการ พ.ศ.2552-2556"  ซึ่งใช้ประกอบการประชุมระดมสมองผู้ตรวจราชการสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่โรงแรมเดอะ ทวิน ทาวเวอร์  เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อนำผลการประชุมไปกำหนดเป็นนโยบายพัฒนาระบบการตรวจราชการระยะ 5 ปี (พ.ศ.2552-2556)
 
สภาพสังคมไทยในช่วงปัจจุบันได้สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะวิกฤตทางสังคมและความไม่สมดุลของการพัฒนาทั้งในเชิงโครงสร้างและเชิงพฤติกรรม จากที่เคยเป็นสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างปรองดอง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รักความสงบสุข และแบ่งปัน กลับกลายเป็นสังคมที่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม การมีค่านิยมระบบอุปถัมภ์ บุญคุณต่างตอบแทน ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง ความแตกแยกในความคิด และนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในพื้นที่ต่างๆ และบานปลายกระทบต่อประเทศในภาพรวมในที่สุด สถานการณ์ข้างต้นชี้ให้เห็นถึงการที่ฐานรากของสังคมไทยที่เคยแข็งแรงได้อ่อนแอลง มีความสั่นคลอนและถูกกลัดกร่อนลงไปเรื่อยๆ ซึ่งเกิดจากสาเหตุที่สั่งสมมานาน จากการขาดความมั่นคงทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ความไม่มีเสถียรภาพ และขาดการกระจายการพัฒนาและขาดการขยายโอกาสทางสังคม นำไปสู่ความไม่เป็นธรรมทางสังคมทั้งระหว่างกลุ่มคนและระหว่างพื้นที่


อนึ่ง ผลการประเมินสังคมไทยด้วยดัชนีความสงบสุข พบว่าประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีระดับดัชนีความสงบสุขอยู่ในระดับต่ำ โดยสถานการณ์ความสงบสุขของไทยในปี 2551 แย่ลงกว่าปี 2550 กล่าวคือมีอันดับลดลงจากอันดับที่ 105 ไปอยู่อันดับที่ 118 จากการจัดอันดับประเทศทั่วโลกจำนวน 140 ประเทศ ซึ่งถือว่าอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีระดับความสงบสุขต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในโลก และต่ำที่สุดเป็นอันดับที่สองในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากประเทศพม่า (อันดับที่ 126) เพียงประเทศเดียว ทั้งนี้ ปัจจัยเชิงลบที่มีผลต่อสถานการณ์ความสงบสุขของไทย อาทิ การมีอาชญากรรมที่รุนแรงเพิ่มขึ้น เสถียรภาพรัฐบาล การละเมิดมนุษยชน การแสดงออกด้านความรุนแรง เป็นต้น
นอกจากนี้ ผลการประเมินความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า องค์ประกอบด้านสังคมประชาธิปไตยที่มีธรรมาภิบาลยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะความอยู่เย็นเป็นสุข โดยมีค่าคะแนน ปี 2550 อยู่ที่ร้อยละ 56.5 และปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 57.8 ซึ่งอยู่ในระดับที่ต้องเร่งแก้ไข และความสมานฉันท์ของคนในชาติ เป็นตัวฉุดที่สำคัญ จากคะแนนที่ร้อยละ 51.4 ในปี 2549 ลดเหลือร้อยละ 44.4 และ 48.7 ในปี 2550 และ 2551 ตามลำดับ
00 ระบบบริหารจัดการยังมีปัญหาภาพลักษณ์


ผลการสำรวจการบริหารจัดการที่ดี 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียนโดยธนาคารโลก พบว่า ในช่วงปี 2550 ประเทศไทยมีคะแนน 5.36 (จากคะแนนเต็ม 10) ยังอยู่ในลำดับ 4 รองจากสิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย แต่คะแนนมีแนวโน้มห่างจากมาเลเซียมากขึ้นคือ จากแตกต่างกันเพียง 0.4 คะแนนในปี 2545 เพิ่มเป็น 1.46 คะแนนในปี 2549 และ 1.66 คะแนนในปี 2550 โดยมิติการมีเสถียรภาพทางการเมืองมีคะแนนต่ำกว่ามิติอื่นๆ มาโดยตลอดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมือง มีการแบ่งข้างแบ่งฝ่ายของประชาชนที่สนับสนุนและต่อต้านรัฐบาล นำมาซึ่งการปฏิวัติรัฐประหารในปี 2549 ทำให้สิทธิเสรีภาพและความเป็นอิสระในการแสดงความคิดเห็นถูกจำกัดลงด้วยประกาศของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ในฉบับต่างๆ ที่มีผลถึงปี 2550 โดยสรุปกล่าวได้ว่าภาพลักษณ์การบริหารจัดการที่ดีของไทยในสายตาโลกอยู่ในระดับปานกลางและมีแนวโน้มที่ลดลง 


ตารางที่ 1 : คะแนนการบริหารจัดการที่ดีของไทยปี 2545-2550



(ที่มา : คำนวณจาก World Bank′s Worldwide Governance Indicators 1996-2007)



ในด้านภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นของประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2547-2551) มีระดับคะแนนอยู่ที่ 3.3-3.8 โดยปี 2551 มีการปรับตัวดีขึ้นจาก 3.3 ในปี 2550 เป็น 3.5 คะแนน ในปี 2551 แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์และมาเลเซียที่ล้วนมีค่าคะแนนมากกว่า 5 คะแนนขึ้นไปแล้ว กล่าวได้ว่าการคอร์รัปชั่นของประเทศไทยยังเป็นปัญหาจะต้องเร่งรัดการดำเนินงานแก้ไข


ตารางที่ 2 : คะแนนภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นของประเทศไทยและบางประเทศในทวีปเอเชีย
 



(ที่มา : Corruption Perception Index: CPI, Transparency International : TI)



นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่ชัดเจนว่าภาครัฐและภาคการเมืองของสังคมไทยยังขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อการตรวจสอบความโปร่งใสการดำเนินงาน และจริยธรรมทางการเมือง ซึ่งในช่วงปี 2550-2551 คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้ดำเนินการตรวจสอบความโปร่งใสของนักการเมืองและข้าราชการจำนวน 24 โครงการ โดยมีการส่งเรื่องฟ้องศาลแล้ว 4 คดี และที่เหลือส่งสำนวนคดีให้ ป.ป.ช.พิจารณาเพื่อส่งฟ้องศาลต่อไป นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังมีนักการเมืองที่พยายามหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเมื่อต้องคดีหรือศาลกำลังจะตัดสินออกไปต่างประเทศ หรือการไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งของนักการเมืองที่อยู่ระหว่างการสอบสวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจนกว่าศาลจะตัดสิน เป็นต้น ซึ่งกระทบต่อความพยายามในการสร้างระบบบริหารจัดการที่ดี โดยเฉพาะทางด้านจริยธรรม คุณธรรมทางการเมือง และการเป็นแบบอย่างที่ดีของเยาวชน ซึ่งสอดคล้องกับผลการประเมินประสิทธิภาพภาครัฐของสถาบัน IMD (International Institute for Management Development) ที่มีผลการประเมินว่า (1) ประสิทธิภาพภาครัฐและความโปร่งใสในสายตาโลกในปี 2551 ลดลงเกือบทุกด้าน ยกเว้นเรื่องกฎหมายด้านธุรกิจและเรื่องกรอบการบริหารด้านสังคมดีขึ้น สถาบัน IMD ได้ประเมินว่าระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในปี 2546-2551 ที่เคยอยู่ในอันดับที่ 28 ได้ลดลงจนถึงอันดับที่ 33 ในปี 2550 และสถานการณ์ดีขึ้นในปี 2551 


ตารางที่ 3 : ผลการจัดอันดับประสิทธิภาพภาครัฐ ปี 2546-2551
                     



(ที่มา : IMD ค้นได้จาก www.imd.ch)



ขีดความสามารถการพัฒนาระบบราชการไทย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ รวม 55 ประเทศ พบว่ามีคะแนนโดยเฉลี่ยลดลงจาก 4.15 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนนในปี 2547 เหลือ 2.57 คะแนนในปี 2551 โดยปัจจัยระบบราชการอยู่ในลำดับดี แต่ยังมีปัญหาด้านความโปร่งใส ตรวจสอบได้ การทุจริตและประพฤติมิชอบ และการให้บริการสาธารณะ ทั้งนี้ ลำดับลดลงจากลำดับที่ 21 ในปี 2547 เป็นลำดับที่ 46 ในปี 2551


@ ทิศทางใหม่เพื่อพัฒนาสังคมไทยเข้าสู่สภาวะสมดุล


จากสภาพการณ์ดังกล่าวข้างต้น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จึงได้กำหนดข้อเสนอในเชิงประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านระบบบริหารจัดการ เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยให้เข้าสู่สภาวะสมดุล ซึ่งจัดเป็นประเด็นของสภาพแวดล้อมที่สำคัญอีกประการหนึ่งของระบบการตรวจราชการ โดยข้อเสนอดังกล่าวมีจุดมุ่งเน้นที่สำคัญ ดังนี้


1) ปรับกระบวนทรรศน์ (Paradigm) การบริหารงานของภาครัฐใหม่ ให้เข้าสู่ระบบบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม โดยเปิดโอกาสให้ประชาชน/ชุมชนมีบทบาทหลักในการเป็นเจ้าของเรื่องดำเนินการแก้ปัญหา และการหาวิธีป้องกันปัญหา ตลอดจนการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชน โดยมีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนให้การดำเนินงานของภาคประชาชนสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้


2) สร้างค่านิยมร่วม (Shared Value) ของคนในสังคมที่ยึดมั่นที่ความดี ความสุจริต ความรับผิดชอบต่อสังคม ตลอดจนการมีจิตสำนึกด้านสิทธิหน้าที่ของพลเมือง ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ตระหนักในคุณค่าและเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เพื่อลดความขัดแย้งในสังคม ทั้งนี้ต้องเริ่มปลูกฝังตั้งแต่เด็กด้วยกลไกในทุกส่วนของสังคม (บ้าน วัด โรงเรียน ชุมชน สังคม) โดยการอาศัยตัวแบบที่ดีจากผู้นำทางสังคม (การเมือง ศาสนา การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ) และการขอความร่วมมือจากสื่อทุกรูปแบบเพื่อให้เข้าถึงคนได้มากที่สุด เช่น วิทยุชุมชน รวมทั้งจัดเวทีสาธารณะในชุมชน


3) พัฒนากระบวนการ "สัญญาประชาคม" บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่น จนถึงระดับประเทศ โดยดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตั้งแต่การสร้างความคิดร่วม (Social Consensus) การหาข้อสรุปที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับและยึดถือ (Social Commitment) และการนำไปสู่การปฏิบัติ (Action) โดยถ้วนหน้ากัน เพื่อสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดย


-พัฒนากลไกในระดับภาพรวม ได้แก่ การปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม กลไกตรวจสอบ ระบบให้คุณให้โทษ ระบบกฎหมาย ฯลฯ ให้เอื้อต่อการเสริมสร้างสัญญาประชาคม รวมทั้งกำหนดแนวปฏิบัติให้สอดรับกับพันธกรณี กติกาต่างๆ ที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้กับประเทศต่างๆ


-พัฒนากลไกในระดับชุมชน ให้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และสร้างความสงบสุขในชุมชน รวมทั้งทำงานร่วมกับชุมชนอื่นในลักษณะเครือข่ายให้เกิดพลังทางสังคม (Social Sanction) ในการต่อต้าน กำจัด และป้องกันผู้กระทำผิดสัญญาประชาคม และทำงานร่วมกับคณะกรรมการธรรมาภิบาลในระดับจังหวัด สถาบันการศึกษาในพื้นที่ที่มีบทบาทสำคัญในการให้องค์ความรู้ และสนับสนุนการวิจัยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ร่วมกับภาคีภาครัฐ และสื่อมีบทบาทสนับสนุน


4) สร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้าง กลไกและกระบวนการบริหารจัดการของทุกภาคส่วนในสังคม บนพื้นฐานหลักธรรมาภิบาลและประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมการเมืองไทย ที่ยึดโยงกับแนวปฏิบัติภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และหลักคำสอนที่ทรงคุณค่าบนพื้นฐานของศาสนาที่คนไทยยึดมั่น เพื่อทำให้ประชาชนเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ เกิดสังคมที่มีความพอเพียง ไม่เอารัดเอาเปรียบ เข้าใจความคิดเห็นของคนอื่น และมีการเคารพในความเป็นมนุษย์ ตลอดจนมีการพัฒนาที่ยั่งยืน ควบคู่กับประสิทธิภาพ คุ้มค่า และทั่วถึง


5) ขับเคลื่อนและวางระบบการติดตามประเมินผลในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประเทศจนถึงระดับพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการสร้างสัญญาประชาคมใหม่บนพื้นฐานการมีส่วนร่วม จะสามารถลดความขัดแย้งและสร้างความสงบสุขในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์