ทักษิณร่าเริง พาเมียช๊อปปิ้ง

สืบเนื่องจากกรณีที่เครือข่ายจุฬาฯเชิดชูคุณธรรมนำประชาธิปไตย (จคป.)


ร่วมกับเครือข่ายอาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อดัง 11 สถาบัน และเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพ 32 องค์กร ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ยุติบทบาททางการเมืองโดยเด็ดขาดและทันที ในขณะที่เครือข่ายประชาสังคมหยุดระบอบทักษิณ โดยนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ เตรียมเข้ายื่นหนังสือให้กำลังใจ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในวันที่ 9 ก.ย. เวลา 09.00 น. นั้น


ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่เพิ่มกำลังอารักขาความปลอดภัยเพราะกลัวถูกลอบปองร้าย โดยในช่วงเช้าวานนี้ (3 ก.ย.) พ.ต.ท.ทักษิณได้เก็บตัวอยู่กับครอบครัวที่บ้านซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 จนกระทั่งเวลา 13.30 น. พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน รวมทั้ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ได้เดินทางออกจากบ้านไปยังห้างสรรพสินค้าดิเอ็มโพเรียม เพื่อไปรับประทานอาหารกลางวันและพักผ่อนส่วนตัว โดยการเดินทางครั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณยังคงใช้รถเบนซ์กันกระสุนสีดำ 2 คัน พร้อมด้วยรถตำรวจนำขบวน รถตำรวจชุดรักษาความปลอดภัยร่วมอยู่ในขบวนเหมือนเช่นเคย พร้อมกับหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางปกติที่เคยเดินทางไปยังห้างสรรพสินค้าดังกล่าว โดยระหว่างทางได้ให้รถตำรวจในขบวนส่งสัญญาณมือไม่ให้ผู้สื่อข่าวติดตามไป อย่างไรก็ตาม ได้มีผู้สื่อข่าวบางส่วนติดตามไป เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณไปถึงห้างดิเอ็มโพเรียม มีตำรวจทั้งในและนอกเครื่อง แบบคอยดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา แต่เมื่อทีมตำรวจรักษาความปลอดภัยเห็นว่ามีผู้สื่อข่าวบางส่วนติดตามมาทำข่าว จึงเข้าไปขอร้องและกันไม่ให้ ผู้สื่อข่าวติดตาม เพราะนายกรัฐมนตรีต้องการพักผ่อนเป็นการส่วนตัว

ทรท.เมินนักวิชาการร่วมไล่นายกฯ


น.ต.ศิธา ทิวารี โฆษกพรรคไทยรักไทย กล่าวถึงกรณีที่ 43 อาจารย์จาก 11 สถาบัน และเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพ 32 องค์กร ออกมาเคลื่อนไหวกดดันให้ พ.ต.ท.ทักษิณยุติบทบาททางการเมืองทันทีว่า ไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ตื่นเต้นอะไร เพราะบุคคลที่ออกมารวมตัวกันก็เป็นคนเดิมๆ ที่เคยออกมาเรียกร้องและเปิดเวทีอภิปราย แม้ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นตามระบอบประชาธิปไตย แต่วิธีที่ถูกต้องอาจารย์เหล่านั้นควรจะไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งและสนับสนุนพรรคการเมืองที่ตนเองชอบมากกว่า เพราะทุกคนถือว่ามีหนึ่งเสียงเท่ากัน ไม่ใช่ว่าคนเป็นอาจารย์หรือมีตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้แล้วจะใช้สิทธิได้หลายเสียง ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้กลับมาเป็นรัฐบาล ก็เชื่อว่าจะต้องมีกลุ่มคนที่ไม่สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และอาจมองว่ายังเด็กไป เคยเสนอเรื่องนายกฯมาตรา 7 ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย รวมทั้งอาจจะมองว่าไม่เคยทำงานมาเลย อยากให้ฝึกงานไปก่อน คนเหล่านี้อาจจะมารวมตัวกันก็ได้

ยก ปรีดี-จำลอง ก็เคยโดนตะเพิด


โฆษกพรรคไทยรักไทยกล่าวว่า การที่กลุ่มนักวิชาการเหล่านี้ออกมาเรียกร้องให้นายกฯยุติบทบาททางการเมือง ไม่ได้เป็นกลไกที่จะทำให้หัวหน้าพรรค การเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งไม่รับตำแหน่งนายกฯ แต่กลไกที่จะทำให้หัวหน้าพรรคไม่เป็นนายกฯคือการที่ประชาชนไม่เลือก ถ้าไม่ชอบ พ.ต.ท.ทักษิณ อาจารย์ทั้ง 43 ท่าน ก็ไปเลือกพรรคอื่น แต่ไม่เกี่ยวกับประชาชนทั้ง 63 ล้านคน เมื่อถามว่า ทำไมพรรคไทยรักไทยถึงมองการเคลื่อนไหวของกลุ่มอาจารย์ว่าเป็นเพียงพวกขาประจำ แต่ไม่มองเหตุผลที่ออกมาขับไล่นายกฯ น.ต.ศิธาตอบว่า อยากให้มองภาพกว้างไปกว่านั้น ในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าใครได้มาเป็นรัฐบาล ก็มักจะมีกลไกแบบนี้เสมอ เป็นรูปแบบการเคลื่อนไหวกดดันเหมือนกัน ทั้งการเดินขบวนขับไล่ การชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวง หรืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือแม้กระทั่งการปองร้ายผู้นำประเทศ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ก็เคยถูกโจมตีเช่นนี้จนต้องออกนอกประเทศ แต่หลังจากที่ท่านเสียชีวิตแล้ว ประชาชนถึงกลับมารู้สึกว่าเป็นวีรบุรุษ หรือสมัย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ก็เคยถูกโจมตีมาแล้วว่า จำลองพาคนไปตาย จนเหลือ ส.ส.พลังธรรมเพียงคนเดียว คือคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

ดักคอ ป๋าเปรม เป็นกลางการเมือง


เมื่อถามว่า ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองทั้ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ และนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ รัฐบาลในทิศทางเดียวกันด้วย น.ต.ศิธาตอบว่า เราต้องแยกประเด็นออกจากกัน นักวิชาการทั้ง 43 คนออกมาเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณเว้นวรรค แต่ พล.อ.เปรมและนายอานันท์ ออกมาพูดในหลักการเกี่ยวกับการบริหารประเทศ หากนำมารวมกันจะกลายเป็นว่าทั้ง พล.อ.เปรมและนายอานันท์ออกมาเคลื่อนไหวแบบนั้นด้วย พล.อ.เปรมถือเป็นผู้ใหญ่ที่มีทหารและประชาชนให้ความเคารพนับถือ และยังเป็นประธานองคมนตรี เมื่อก่อนอาจจะไม่ค่อยออกมาพูดอะไรมาก แต่ช่วงนี้ท่านอาจจะออกมาพูดมากเป็นพิเศษ แต่ก็ยังยืนยันว่า พล.อ.เปรมมีความเป็นกลางทางการเมือง เพราะตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า ประธานองคมนตรีหรือองคมนตรี จะต้องเป็นกลางทางการเมือง จึงเชื่อมั่นว่าที่ พล.อ.เปรมพูดคงไม่สอดคล้องกับสิ่งที่นักวิชาการพูด เพราะสิ่งที่นักวิชาการพูดไม่เป็นกลางทางการเมือง เราจึงต้องแยกแยะให้ออก ไม่เช่นนั้น พล.อ. เปรมจะเสียหาย การที่กลุ่มนักวิชาการจะไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.เปรมในวันที่ 9 ก.ย. 2549 ก็เป็นสิทธิที่ทำได้ แต่การที่ พล.อ.เปรมจะไม่เป็นกลางทางการเมืองนั้น ไม่เชื่อว่าท่านในฐานะประธานองคมนตรีจะทำได้

บีบ ทักษิณ ออกขัดพระราชดำรัส


เมื่อถามว่า สถานการณ์ที่นายกฯถูกขับไล่อยู่ทุกวัน จะทำให้อยู่ในตำแหน่งไปจนถึงวันเลือกตั้งได้ยากลำบาก โฆษกพรรคไทยรักไทยตอบว่า ทุกมาตราที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ รักษาการนายกฯไม่สามารถลาออกจาก ตำแหน่งได้ นอกจากจะใช้มาตรา 7 เท่านั้น แต่ถ้าเรามองย้อนไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า การขอพระราชทานนายกฯ มาตรา 7 ไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วเราต้องการที่จะดำเนินการทางการเมืองให้ขัดต่อพระราชประสงค์อย่างนั้นหรือ นายกฯย่อมไม่กระทำเช่นนั้นแน่ ผู้สื่อข่าวถามว่า นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานเครือข่ายประชาสังคมหยุดระบอบทักษิณ จี้ให้ข้าราชการเลิกรับใช้นักการเมือง น.ต.ศิธาตอบว่า คำว่ารับใช้ถือว่าดูถูกข้าราชการเกินไป ถ้าเรียกว่าทำงานร่วมกันจะดีกว่า การมาบอกว่าไม่ให้ข้าราชการประจำทำตามคำสั่งของนักการเมืองคงไม่ได้ เพราะระเบียบบริหารราชการแผ่นดินก็กำหนดไว้ว่า ข้าราชการต้องทำงานร่วมกับฝ่ายการเมืองอย่างไร หากนักวิชาการพูดอย่างนี้จริงถือว่าไม่ใช่หลักวิชา การของประชาธิปไตย แต่เป็นหลักอนาธิปไตยมากกว่า

ทรท.จวก 4 นายพลหวังผลการเมือง


ส่วนกรณีที่ 4 นายพลเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ร้องเรียนว่าฝ่ายการเมืองแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนั้น น.ต.ศิธา กล่าวว่า ข้าราชการทหารแตกต่างจากข้าราชการอื่น เพราะมีจุดเด่นคือความมีระเบียบวินัย การปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชามีความสำคัญมาก คำสั่งผู้บังคับบัญชาเปรียบเหมือนคำสั่งของสวรรค์ ถ้าถูกสั่งต้องก้มหน้านิ่งและรับฟังสิ่งที่สั่งแล้วปฏิบัติ การที่ทหารจะออกมาเคลื่อนไหว โดยมีนัยทางการเมืองนั้น หากเป็นบุคคลทั่วไปถือเป็นสิ่งปกติ แต่ถ้าเป็นทหารถือว่าเป็นสิ่งไม่พึงกระทำ หากมีการกระทำขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาในลักษณะนี้ในสนามรบ ทางทหารเขาบอกว่าให้ประหารชีวิต เรื่องนี้ผู้บังคับบัญชาที่ต้องไปกำกับดูแลกันเองหากผิดวินัยก็ต้องได้รับโทษ และจะเรียกว่าการเมืองไปล้วงลูกไม่ได้ เพราะการแต่งตั้งโยกย้ายยังไม่เสร็จสิ้นในระดับกองทัพเลย ทั้ง ผบ.ทหารสูงสุดและผู้บังคับบัญชาต่างก็ส่ายหัว ต่อข้อกล่าวหาดังกล่าว การออกมาเคลื่อนไหวของ 4 นายทหารดังกล่าวถือว่าผิดปกติ เพราะถ้าทำตามปกติวินัย ตามวิสัยทหารโดยไม่มีเจตนารมณ์อย่างอื่นแอบแฝงเขาจะไม่ทำแบบนี้ นายทหารที่มียศสูงถึงนายพลก็ทราบระเบียบวินัยต่างๆเหล่านี้ดีอยู่แล้ว

เชื่อไม่ลุกลามถึงขั้นสงครามกลางเมือง


เมื่อถามว่า การที่ทหารออกมาเคลื่อนไหวสอดคล้องกับการเคลื่อนของกลุ่มนักวิชาการที่ขับไล่นายกฯ จะก่อให้เกิดความรุนแรงหรือขัดแย้งถึงขั้นกลายเป็นสงครามกลางเมืองหรือไม่ น.ต.ศิธาตอบว่า สิ่งแรกคือทุกคนต้องทำตามกฎหมายบ้านเมืองและยอมรับในกฎกติกาต่างๆ ที่ระบุไว้ ถ้าเห็นว่ากติกาใดไม่ถูกต้อง ควรได้รับการแก้ไขก็มีการแก้ไขไปบ้างแล้ว อย่างกรณีของ กกต.ที่มองว่าไม่ชอบธรรมก็มีการสรรหากันใหม่แล้วและเราพร้อมยอมรับว่าที่ กกต.ทั้ง 10 คน และหลังการเลือกตั้งแล้วอันดับแรกที่พรรคไทยรักไทยจะทำคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้มีคนกลางเหมือน ส.ส.ร.ในอดีตมาดูแลในการยกร่างแก้ไข ดังนั้น การที่จะทำให้บ้านเมืองกลับมาสู่ภาวะปกติได้คือทุกคนต้องทำตามกติกาของบ้านเมือง และเมื่อมีวันเลือกตั้งก็ออกมาใช้สิทธิ ใครชอบใครก็เลือกคนนั้นเข้ามา การห้ามไม่ให้ใครเป็นนายกฯ ไม่ใช่สิ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและไม่เป็นประชาธิปไตย การจะรับตำแหน่งหรือไม่ถือเป็นสิทธิของท่านนายกฯจะตัดสินใจ

แหล่งที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์