พนง.เอสซีฯปัดตัดต่อเอง เผยได้ซีดีคลิปเสียงนายกฯจากเพื่อน

ส่วนความคืบหน้าการดำเนินคดีกับผู้ที่เผยแพร่และตัดต่อคลิปเสียงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ลงในเว็บไซต์นั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเย็นวันที่ 30 สิงหาคม ชุดสืบสวนกองปราบปราม จับกุมผู้ที่เผยแพร่คลิปผ่านทางอี-เมล 2 คน ทราบชื่อ นายสมศักดิ์ แซ่อึง อายุ 38 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 2511/2552 ลง 30 สิงหาคม 2552 ข้อหา นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ได้ที่บ้านเลขที่ 181/8 ซอยประสานสารบรรณ แขวงและเขตดินแดง กทม. และจับกุม น.ส.กันทิมา แต้มครู อายุ 29 ปี ชาว จ.สุโขทัย ตามหมายจับศาลอาญา ที่ 2512/2552 ลง 30 สิงหาคม 2552 ในข้อหาเดียวกัน ได้ที่ห้องเลขที่ 10/1 ปิ่นมาลีอพาร์ทเม้นท์ ห้อง 307 แขวงและเขตจตุจักร กทม. โดยคุมทั้ง 2 คน มาสอบปากคำที่กองบังคับการ กองปราบปราม (บก.ป.)


ต่อมา พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) เข้าร่วมสอบสวน เบื้องต้นทราบว่า ทั้งสองเป็นพนักงาน บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) อาคารชินวัตร 3 ถนนวิภาวดีรังสิต

ส่วนรายละเอียดในคดีขอให้การในชั้นศาล ก่อนใช้เงินสดคนละ 100,000 บาท ยื่นประกันตัว โดยพนักงานสอบสวนพิจารณาแล้วอนุญาตให้ประกันตัวออกไป
รายงานข่าวแจ้งว่า การจับกุมครั้งนี้ พล.ต.ท.ไถงมีคำสั่งห้ามตำรวจให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน อ้างว่าปรึกษากับผู้ใหญ่แล้ว อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ผู้ต้องหาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดต่อคลิปเสียง เป็นเพียงผู้ส่งไฟล์คลิปเสียงผ่านทางอี-เมลของบริษัทเอสซี แอสเสทฯ โดยที่มาของคลิปเสียงนั้นพบว่าหนึ่งในผู้ต้องหาเป็นผู้ได้รับแจกแผ่นซีดีมาอีกทอดหนึ่ง ก่อนนำไปไฟล์ไปแปลงเพื่อให้ส่งผ่านอี-เมลบริษัทได้ อยู่ระหว่างสอบสวนขยายผลว่าผู้ต้องหาได้แผ่นซีดีมาจากใคร และกำลังขยายผลเข้าตรวจค้นบริษัทเอสซี แอสเสทฯ เพื่อหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม


แหล่งข่าวชุดจับกุมเปิดเผยว่า เบื้องต้น น.ส.กันทิมา ระบุทำงานในแผนกธุรกิจสัมพันธ์ของบริษัท

ได้รับคลิปเสียงดังกล่าวเป็นแผ่นซีดีมาจากเพื่อนร่วมบริษัทคนหนึ่งเป็นผู้หญิง ที่ได้รับแจกจ่ายมาระหว่างขึ้นรถตู้โดยสารสาธารณะที่ท่ารถ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เมื่อมาถึงที่ทำงานก็นำมาให้ตนลองเปิดฟัง จึงคิดว่าจะส่งไปให้เพื่อนทางอี-เมล แต่ทำไม่เป็นจึงวานให้นายสมศักดิ์ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานแผนกเดียวกันแปลงไฟล์ให้ ก่อนส่งไฟล์เสียงดังกล่าวมาให้ตนทางอี-เมล ตนจึงส่งต่อไปยังเพื่อนๆ ก่อนแพร่กระจายไปในระบบคอมพิวเตอร์ ส่วนซีดีที่ได้มานั้นหลังจากแปลงไฟล์เรียบร้อย ตนหักทำลายทิ้งทันที



แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบพบว่า นายสมศักดิ์นำคลิปเสียงเข้าไปสู่ระบบคอมพิวเตอร์เป็นคนแรก

และส่งต่อให้กับ น.ส.กันทิมา เพียงคนเดียว ใช้ชื่อไฟล์ว่า คลิป ฟอร์ ยู และไม่ได้ส่งต่อให้กับใครอีกตามที่ น.ส.กันทิมา ให้การ ซึ่งการนำเสียงดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์นั้นถือเป็นความผิดทันทีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หลังจากนั้น น.ส.กันทิมาส่งต่อไปยังเพื่อนๆ รวม 6 คน ก่อนที่คลิปจะแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ซึ่ง น.ส.กันทิมา ถือว่ามีความผิดด้วยเพราะเป็นผู้กระจายคลิปออกไป ส่วนผู้ที่ส่งคลิปต่อไปอีกจะถูกดำเนินคดีด้วยหรือไม่นั้นกำลังสอบสวน และอาจจะเรียกมาสอบปากคำอีกครั้ง


แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า การสืบสวนให้ถึงตัวผู้ตัดต่อคลิปแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ในส่วนของแผ่นซีดีที่ น.ส.กันทิมา อ้างว่าได้มาจากการแจกจ่ายคล้ายใบปลิว
อาจต้องตามหาทางด้านเทคนิค ขณะเดียวกันจะต้องนำเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ต้องหาทั้ง 2 คน มาตรวจสอบทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย และส่วนที่ 2 การสืบสวนตามที่นายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร ระบุว่าได้คลิปเสียงมาจากเว็บไซต์ของสถานีโทรทัศน์พีทีวีที่มีคนนำไปโพสท์ไว้ ก่อนนำไปเปิดกระจายเสียงที่สถานีวิทยุชมรมคนรักอุดร ส่วนนี้ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่า นายขวัญชัยนำคลิปเสียงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์หรือไม่ เพราะหากไม่ได้นำเข้าสู่ระบบก็ไม่สามารถดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ได้ แต่นายกรัฐมนตรีสามารถร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนในความผิดฐานหมิ่นประมาท หากคิดว่าเสียหาย


เวลา 11.00 น. พ.ต.อ.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รอง ผบก.ป. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงาน  สั่งการให้พนักงานสอบสวนกองปราบปราม

ประสานเจ้าหน้าที่ศูนย์ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำผิดทางเทคโนโลยี (ศตท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) นำหมายค้นศาลอาญา เข้าตรวจค้นโต๊ะทำงานของนายสมศักดิ์ และ น.ส.กันทิมา ที่แผนกธุรกิจสัมพันธ์ ชั้น 19-20 อาคารชินวัตร 3 เลขที่ 1010 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงและเขตจตุจักร โดยเจ้าหน้าที่ ศตท.นำอุปกรณ์โคลนนิ่งข้อมูลจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่โต๊ะทำงานผู้ต้องหามา รวมทั้งคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของพยานบางคน ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานของผู้ต้องหามาตรวจสอบอย่างละเอียด


ด้าน ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ไอซีทีอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่ามีเว็บไซต์ใดที่โพสต์คลิปเสียงดังกล่าวหรือไม่

ทั้งที่อยู่ในและต่างประเทศ ถ้าพบจะบล็อกทันที ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายด้าน ทั้งจากต่างประเทศและหน่วยงานใต้สังกัดอย่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)


"แม้ขณะนี้ตำรวจจะจับกุมผู้เผยแพร่แล้ว แต่ไอซีทียังต้องตรวจสอบหมายเลขประจำเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือไอพี ที่ใช้โพสต์ส่งคลิปเสียงไปยังเว็บไซต์อื่นๆ ว่ามีการส่งไปที่ไหนบ้าง ส่วนการโพสต์คลิปเสียงในเว็บไซต์ต่างๆ ขณะนี้ไอซีทีสามารถบล็อกเว็บไซต์ และยูอาร์แอล หรือชื่อที่อยู่คลิปเสียงดังกล่าวได้ครอบคลุมหมดแล้ว ซึ่งเว็บไซต์ล่าสุดที่เผยแพร่คลิปเสียงดังกล่าว ไอซีทีใช้เวลาหลังเผยแพร่คลิปเสียงเพียง 15 นาที สามารถบล็อกได้" ร.ต.หญิง ระนองรักษ์กล่าว


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์