นายกฯสบช่อง เด้งพัชรวาท กระทำผิดวินัย

เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า หลังจากที่สำนักนายกรัฐมนตรีได้ทำหนังสือหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา

กรณี นายนที เปรมรัศมี ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำความเห็นเสนอต่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. มิได้กระทำความผิดวินัยตามที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีต ผบ.ตร.กล่าวหา และสมควรให้ยุติเรื่องนั้น ปรากฏว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบข้อหารือในประเด็นดังกล่าวไปยังนายสุเทพ แล้วว่า รายงานสรุปข้อเท็จจริงของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว เป็นเพียงการสรุปข้อเท็จจริงและความเห็นรายงานต่อรองนายกรัฐมนตรีเท่านั้น นายกรัฐมนตรีหรือผู้ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้รับผิดชอบกำกับการ บริหารราชการ และสั่ง และปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี สำหรับราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงไม่อาจถือเอาความเห็นของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นที่ยุติได้

ส่วนการที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ผบ.ตร. (ในขณะนั้น) สั่งการให้ พล.ต.ท.ทวีพร นามเสถียร ผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องและสรุปความเห็นเสนอเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป ภายหลังจากที่บริษัทผลิตรายการที่มีคุณภาพและถูกสกัดกั้นไม่ให้เสนอราคา มีหนังสือร้องเรียนถึง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยังมิใช่การดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงตามมาตรา 84 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และมิใช่การสั่งให้ผู้ใดดำเนินการสืบสวนข้อ 6 แห่งกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสืบสวนข้อเท็จจริง พ.ศ.2547 ด้วย เนื่องจากมิได้มีการแจ้งเรื่องที่ถูกกล่าวหาหรือถูกร้องเรียนให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ และให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อเท็จจริงภายในเวลาที่กำหนด โดยในการสั่งการก็มิได้ระบุให้ดำเนินการสืบสวน แต่เป็นการสั่งให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ดังนั้นการสั่งการของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จึงเป็นการใช้อำนาจสั่งผู้ใต้บังคับบัญชาดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล เพื่อประกอบการพิจารณาเบื้องต้นของตนตามมาตรา 84


อย่างไรก็ดี เมื่อได้รับรายงานจาก พล.ต.ท. ทวีพร แล้ว พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ มิได้มีการสั่งการอย่างใด จนกระทั่งตนเองได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตามการดำเนินการทางวินัยของ พล.ต.อ.พัชรวาท เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏในเวลาต่อมาว่า นายกรัฐมนตรี (สมชาย วงศ์สวัสดิ์) ได้มีคำสั่งเห็นชอบตามที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เสนอให้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง พล.ต.อ.พัชรวาทและข้าราชการคนอื่นที่ถูกกล่าวหาตามระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว จึงถือได้ว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาได้พิจารณาแล้วใช้อำนาจตามหน้าที่ เพื่อดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงตามมาตรา 84 โดยให้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสืบสวนข้อเท็จจริง พ.ศ.2547 แต่โดยที่นายกรัฐมนตรี (สมชาย) ได้พ้นจากตำแหน่งก่อนที่จะได้ลงนามในคำสั่ง จึงมีผลทำให้การดำเนินการค้างพิจารณาอยู่ที่ขั้นตอนดังกล่าว  

ในประเด็นนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นว่า การดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง

กรณีข้าราชการตำรวจถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของผู้บังคับบัญชาของข้าราชการตำรวจที่ถูกกล่าวหา ฉะนั้นแม้ว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จะพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปแล้ว ก่อนลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวน แต่เนื่องจากเรื่องนี้ยังมีข้อกล่าวหาว่าข้าราชการตำรวจผู้นี้กระทำผิดวินัย นายกรัฐมนตรีหรือผู้ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้รับผิดชอบกำกับการบริหารราชการและสั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี สำหรับราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติในเวลาต่อมา จึงยังคงมีหน้าที่ตามมาตรา 84 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ที่จะต้องดำเนินการต่อไป โดยการตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง เป็นกระบวนการที่ค้างพิจารณาอยู่ แต่ถ้าหากมีการพิจารณาในเบื้องต้นแล้วมีความเห็นแตกต่างจากการดำเนินการที่ค้างพิจารณาอยู่ และจะไม่ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ย่อมอยู่ในความรับผิดชอบของผู้มีอำนาจสั่งการที่จะพิจารณาตามที่เห็นควร 

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแจ้งว่า นอกจากทางกฤษฎีกาจะทำหนังสือถึงนายสุเทพแล้ว ยังได้สำเนาความเห็นดังกล่าวส่งให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

ได้รับทราบอย่างไม่เป็นทางการแล้ว ซึ่งจะเป็นอำนาจนายกรัฐมนตรีว่าจะพิจารณาตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง หรือไม่ ทั้งนี้หากตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาจะมีการย้ายข้าราชการที่เกี่ยวข้องออกจากสังกัด เพื่อเปิดทางให้การสืบสวนข้อเท็จจริงเดินหน้าได้อย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะในกรณีที่บุคคลที่ถูกตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงาน เพราะหากไม่มีการย้ายออกจากตำแหน่งอาจจะทำให้การสืบสวนข้อเท็จจริงถูก แทรกแซงได้ และคณะกรรมการก็จะไม่สามารถแสวงหาข้อเท็จจริงได้ 

สำหรับกรณีนี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้กล่าวหาว่า พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพานิชย์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง

ในกรณีการดำเนินการจัดจ้างโฆษณาและเผยแพร่รายการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นเงิน 18,697,500 บาท จากงบประมาณปี 2548 โดยมีเจตนาเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท เอ็น เอส มีเดีย แอสโซซิเอทส์ จำกัด และเป็นการกระทำที่กีดกันผู้เสนอราคารายอื่น ไม่ให้สามารถเข้ามาเสนอราคา หรือแข่งขันราคาได้อย่างเป็นธรรม ทำให้นายสมชาย นายกรัฐมนตรีขณะนั้นมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.พัชรวาทไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และตั้ง พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการ ผบ.ตร.

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์