สิ่งที่น่าเห็นใจนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ท่านมีความจำเป็นไม่น้อย ต้องเข้าไปจัดทัพใหม่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ความทรงจำเลวร้ายอาจตามมาหลอกหลอน ตอนช่วงม็อบเสื้อแดงอาละวาดหนัก
ดูเหมือนตำรวจ จะไม่ค่อยภักดีกับนายกฯใหม่และรัฐบาลใหม่
มีระดับตำรวจผู้น้อยใส่เสื้อแดงผสมโรงม็อบ ก็ไม่มีผู้ใหญ่คนไหนไปจัดการให้เหมาะสมเด็ดขาด
ในสายตาของคนเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น
อย่างน้อย ก็ต้องสามารถเลือกแม่ทัพของตำรวจที่ตัวเองต้องการได้
ในเมื่อโอกาสเปิดให้ เพราะผบ.ตร.คนปัจจุบันกำลังจะเกษียณอายุราชการพอดี
ซึ่งว่าไปแล้วก็ดีกว่าการใช้อำนาจ แบบเตะผบ.ตร.ไปที่อื่นดื้อๆ
แบบที่นายกรัฐมนตรีหลายคนทำ และผบ.ตร.หลายคนโดน
ความพยายามจะจัดทัพใหม่ตั้งแต่หัวขบวนลงมา ทำเอานายอภิสิทธิ์โดนฉีกหน้า
ถึงจะมีอำนาจ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้
มีการวิเคราะห์ฉายภาพขบวนการต่อต้านนายกฯ
ตั้งแต่ข้าราชการใหญ่ พรรคภูมิใจไทยที่อยู่ร่วมรัฐบาล
และรวมถึงคนในพรรคประชาธิปัตย์เอง
จริงเท็จมากน้อยแค่ไหน ไม่มีใครกล้ายืนยัน 100%
ความพยายามยืนยันในภาวะผู้นำของตัว คงเป็นเรื่องถูกต้องชอบธรรมสำหรับคนเป็นนายกฯ
แต่เรื่องนี้ มีคำถามง่ายๆ
พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ มีความเหมาะสมที่สุดจริงหรือ?
เหนือกว่าพล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย กับพล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ที่ถือเป็นแคนดิเดตตรงไหน?
หรือแม้แต่อาวุโสอันดับ 1 อย่างพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ที่กำลังร้องขอความเห็นใจ?
ข่าวเลอะเทอะเปรอะเปื้อน ก็เจอกันคนละเล็กละน้อยเหมือนๆ กันทั้งนั้น
หากว่านายกฯคิดว่าการตั้งพล.ต.อ.ปทีป จะเป็นการแก้ปัญหาการซื้อขายตำแหน่งตำรวจได้
ก็มีคนในแวดวงตำรวจมองว่า พล.ต.อ.ปทีปก็แก้ไขไม่ได้อยู่ดี?
ประเด็นความเหมาะสมของตัวบุคคล นับว่าน่าสนใจ
นายอภิสิทธิ์ได้ข้อมูลมาจากไหน? เชื่อถือได้แค่ไหน?
อย่างไรก็ดี จากนี้ไป คาดเดาได้ว่านายกฯจะต้องเดินหน้าต่อแน่
หัวเด็ดตีนขาดยังไงก็ต้องผลักดัน"ปทีป"
เพราะนายอภิสิทธิ์เชื่อมั่นแน่นอนแล้ว ว่าฝ่ายตรงข้ามของตัวไม่ดีพอ
และเกมนี้ คนเป็นนายกฯจำเป็นต้องชนะ
การต้องปะทะกันกับภูมิใจไทย ก็ไม่ใช่ว่านายอภิสิทธิ์ไม่เคยทำ
อย่างโครงการรถเมล์ 4 พันคัน ก็เป็นนายอภิสิทธิ์นี่แหละ ที่ออกโรงเตะถ่วงเอง
จนบัดนี้โครงการไปซุกอยู่ที่ไหน สังคมก็ชักลืมๆ ไปแล้ว
โดยประเมินว่าภูมิใจไทยเอง ก็คงอยากเป็นรัฐบาลนานๆ
ไม่จำเป็นไม่อยากไปลงเลือกตั้งแข่งกับ"นายเก่า"
แต่การสะสมศัตรูแบบนี้ ระยะยาวอาจมีปัญหา