นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี 2552 กว่า 500 นาย
ก่อนนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว เมื่อช่วงคำวันที่ 18 สิงหาคม อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าการจัดทำบัญชีโยกย้ายนายทหารเสร็จสิ้นเร็วกว่าทุกครั้ง เหตุผลเนื่องมาจากไม่มีผู้บัญชาการ (ผบ.) เหล่าทัพคนใดเกษียณอายุราชการ โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สิทธิ ผบ.แต่ละเหล่าทัพจัดทำบัญชีโยกย้ายด้วยตัวเอง อีกทั้งยังเป็นการป้องกันฝ่ายการเมืองเข้ามาล้วงลูกในกองทัพ
สำหรับการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารครั้งนี้ น่าจับตาที่การจัดวางตัวผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)
ต่อจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ที่จะเกษียณอายุราชการในปี 2553 โดย พล.อ.อนุพงษ์วางตัวให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนาธิการทหารบก เตรียมทหารรุ่น 12 (ตท.12) ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง ผบ.ทบ.คนต่อไป ทำให้การจัดวางนายทหารระดับ 5 เสือกองทัพบก ต้องวางตัวให้ พล.อ.ประยุทธ์มีความอาวุโส เมื่อถึงการปรับย้ายประจำปี 2553
ส่วนตำแหน่งที่น่าสนใจใน กองทัพบก (ทบ.) พล.อ.อนุพงษ์ได้ให้ พล.อ.ธีระวัฒน์ บุณยประดับ ผู้ช่วย ผบ.ทบ.เพื่อนร่วมรุ่น ตท.10 ที่มีความสนิทขยับมานั่งเก้าอี้ รอง ผบ.ทบ. แทน พล.อ.จิรเดช คชรัตน์ (ตท.9) ที่เกษียณอายุราชการ และให้ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา (ตท.11) เป็นหัวหน้าสำนักงาน ผบ.ทบ. แทน พล.อ.ธีระวัฒน์ ขณะที่ พล.ท.พิรุณ แผ้วพลสง (ตท.10) รอง เสธ.ทบ. เพื่อนร่วมรุ่น พล.อ.อนุพงษ์ ขยับเข้า 5 เสือ ทบ. เป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ. แทน พล.อ.วิโรจน์ บัวจรูญ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ที่ย้ายข้ามฝากไปนั่งตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด (รอง ผบ.สส.) ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ขยับนั่งตำแหน่งเสนาธิการทหารบกตามเดิม
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าตำแหน่งคุมกำลังหลักสำคัญใน ทบ. ที่ปรับย้ายมีการวางตัวบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับ พล.อ.อนุพงษ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ มานั่งตำแหน่งสำคัญจำนวนมาก
อาทิ พล.ต.โปฎก บุนนาค (ตท.12) รอง ผบ.หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (รอง ผบ.นสศ.) เพื่อนร่วมรุ่น พล.อ.ประยุทธ์ ขยับขึ้นเป็น ผบ.นสศ. แทน พล.ท.ภุชงค์ รัตนวรรณ (ตท.10) ผบ.นสศ. เพื่อนร่วมรุ่น พล.อ.อนุพงษ์ ที่ถือเป็นทหารนักรบที่ผ่านตำแหน่งสำคัญมากมาย แต่ต้องหลบทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในการเข้าช่วงชิงตำแหน่ง ผบ.ทบ. โดยให้ พล.ท.ภุชงค์มานั่งตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาพิเศษ ทบ. (อัตรา พล.อ.)
พล.ท.วีร์วลิต จรสัมฤทธิ์ (ตท.10) แม่ทัพน้อยที่ 2 เพื่อนร่วมรุ่น พล.อ.อนุพงษ์ ถูกดันขึ้นมาเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 แทน พล.ท.วิบูลย์ศักดิ์ หนีพาล ที่เกษียณราชการ ขณะที่ พล.ต.ปรีชา จันทร์โอชา (ตท.15) เสนาธิการกองทัพน้อยที่ 3 (เสธ.ทภ.3) น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นมาเป็น เสธ.ทภ. 3 ส่วน พล.ต.ธนดล เผ่าจินดา (ตท.11) รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (รอง ผบ.นรด.) น้องชาย พล.อ.อนุพงษ์ ขยับขึ้นมาเป็น ผบ.นรด.
ขณะที่ตำแหน่งคุมกำลังสำคัญใน กทม.ที่มีส่วนสำคัญในการปฏิวัติรัฐประหารมาตลอดต่างมีการปรับย้าย
อาทิ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.ม.2 รอ.) และผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 (ผบ.พล.ร.9) โดยให้ พล.ต.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผบ.พล.1 รอ. ขยับเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 พล.ต.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.พล.ร.9 ขยับเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 พล.ต.กัปนาท รุดดิษฐ์ ผบ.มทบ.15 อดีตรอง ผบ.พล.1 รอ. กลับเข้าไลน์นั่งตำแหน่ง ผบ.พล.1 รอ. พล.ต.อุทิศ สุนทร ผบ.มทบ.11 เป็น ผบ.พล.ร.9 และ พ.อ.สุรศักดิ์ บุญศิริ รอง ผบ.พล.ม.2 ขยับเป็น ผบ.พล.ม.2 รอ.
ทางด้านขณะที่ กองทัพเรือ พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ปรับย้ายนายทหารระดับสูงในส่วนของ 5 เสือ ทร.
เนื่องจากมีผู้เกษียณอายุราชการหลายตำแหน่ง โดยให้ พล.ร.อ.นิพนธ์ จักษุดุลย์ (ตท.10) ผู้ช่วย ผบ.ทร. เพื่อนร่วมรุ่น พล.ร.อ.กำธร ขยับเป็นรอง ผบ.ทร. พล.ร.อ.ศุภกร บูรณดิลก (ตท.9) ผบ.กองเรือยุทธการ ขยับเป็นประธานที่ปรึกษา ทร. (อัตราจอมพล) พล.ร.อ.รพล คำคล้าย (ตท.10) เสธ.ทร. เพื่อนร่วมรุ่น พล.ร.อ.กำธร ขยับเป็นผู้ช่วย ผบ.ทร. และให้ พล.ร.ท.เถกิงศักดิ์ วังแก้ว (ตท.11) ปลัดบัญชีกองทัพเรือ (ปช.ทร.) ขยับเป็น เสธ.ทร. พล.ร.ท.ชัยวัฒน์ พุกกะรัตน์ ผบ.ทัพเรือภาค 1 เป็น ผบ.กองเรือยุทธการ ตามความอาวุโส
กองทัพอากาศ พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ปรับย้ายนายทหารระดับสูงใน 5 เสือ ทอ.เช่นกัน
โดย พล.อ.อ.ดิลก ทรงกัลยาณวัตร ผู้ช่วยผบ.ทอ. เป็นรอง ผบ.ทอ. พล.อ.อ.วัฒนา ลับไพรี ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ. เป็นประธานที่ปรึกษา ทอ. (อัตราจอมพล) พล.อ.อ.มานิต ช้างเผือก หน.ฝสธ.ผบ.ทอ. เป็นผู้ช่วย ผบ.ทอ. พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ (ผบ.คปอ.) เป็นผู้ช่วย ผบ.ทอ. พล.อ.ท.ประจิณ จั่นตอง รอง เสธ.ทอ. เป็น ผบ.คปอ. พล.อ.ท.บุญยฤทธิ์ เกิดสุข รองเสธ.ทอ. เป็น เสธ.ทอ.
นอกจากนี้ พล.อ.อ.อิทธพรยังปรับเปลี่ยนตำแหน่งคุมกำลังสำคัญ คือ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน (ผบ.อย.) ซึ่งเป็นหน่วยรบสำคัญที่มีส่วนในการปฏิวัติรัฐประหาร
โดยให้ พล.อ.ต.วุฒิชัย คชาชีวะ (ตท.11) จก.สวัสดิการ ทอ. เพื่อนร่วมรุ่น พล.อ.อ.อิทธพร ข้ามมาเป็น ผบ.อย. คุมกำลังหลัก ทอ. เพื่อให้มีความมั่นใจในการสั่งใช้กำลัง แทน พล.อ.ท.ระพีพัฒน์ หลาบเลิศบุญ ซึ่งเป็นนายทหารคนใกล้ชิดกับ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข อดีต ผบ.ทอ. เช่นเดียวกัน ส่วนการปรับย้ายในตำแหน่งที่สำคัญอื่นๆ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (สป.) พล.อ.จงศักดิ์ พานิชกุล เจ้ากรมเสมียนตรา เป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ร.อ.เกียรติศักดิ์ อักษรศรีสกุล ประธานที่ปรึกษา ทร. เป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.พหล สง่าเนตร ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกลาโหม (ปษ.สป.) เป็นประธานที่ปรึกษากระทรวงกลาโหม (อัตราจอมพล) พล.ท.อภิชัย ทรงศิลป์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สป. เป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กลาโหม พล.ท.ศิริชัย ดิษฐกุล ผช.เสธ.ทบ.ฝขว. เป็นหัวหน้าฝ่ายเสนาธิการประจำ รมว.กลาโหม พล.ท.ปิยะพล วัฒนกุล รองเจ้ากรมพระธรรมนูญ เป็นเจ้ากรมพระธรรมนูญ พล.ท.ธรรมรัตน์ เจริญกุล เจ้ากรมสรรพกำลังกลาโหม เป็นเจ้ากรมเสมียนตรา
---------------------------------------------