เจ๊หน่อยร้องจัดโซนนิ่งคุมหวัด

สธ.ยังไม่ขึ้นทะเบียนผู้ป่วยหวัด09มีเชื้อดื้อยาโอเซลทามิเวียร์-ไม่แจ้งให้องค์การอนามัยโลกรับทราบ อ้างหายแล้วไม่มีการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น องค์การเภสัชกรรมเตรียมจะสำรองยาซานามิเวียร์ไว้ 7หมื่นชุด "เจ๊หน่อย"ออกโรงพยาบาล ร้องรัฐบาลจัดโซนนิ่งคุมหวัด09


เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม มีการประชุมคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการและยุทธศาสตด้านการแพทย์และสาธารณสุข

พิจารณากรณีพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี ดื้อยารายแรกของประเทศไทย 
ทั้งนี้ ศ.นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข แถลงว่า จากข้อมูลที่ รพ.รามาฯ รายงานให้ทราบว่าได้เก็บตัวอย่างเชื้อไวรัสของผู้ป่วยรายดังกล่าว เพื่อทดสอบการดื้อยาด้วยวิธีดูตำแหน่งลำดับของสารพันธุกรรม ตรวจสอบว่า กรดอะมิโนของไวรัสต่อตัวอย่างไร ถ้าฮิสทิดีน (Histidine) ของกรมอมิโน เปลี่ยนเป็นไธโรซีน (Tyrosion) ในตำแหน่งที่ 274 หมายถึงเชื้อไวรัสมักจะดื้อยา ซึ่งในประเทศไทยมีห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจสอบการดื้อยาวิธีนี้ได้เพียง 5 แห่ง คือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รพ.ศิริราช รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.รามาฯ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร
 

ศ.นพ.ประเสริฐ แถลงว่า จากนั้น จะต้องนำเชื้อดังกล่าวมาตรวจสอบซ้ำด้วยวิธีดูคุณลักษณะของสารพันธุกรรม

โดยทดสอบกับยาต้านไวรัสชนิดนั้นๆ โดยตรง ซึ่งต้องประสานกับบริษัทผู้ผลิตยาชนิดนั้นโดยตรง เพื่อให้จัดส่งยาต้านไวรัสชนิดบริสุทธิ์มาตรวจสอบเท่านั้น ซึ่งในประเทศไทยมีห้องปฏิบัติการที่ทดสอบได้เพียง 2 แห่ง คือ กรมวิทยาศาสตร์ฯ และ รพ.ศิริราช เท่านั้น ซึ่งต่อไปหากมีห้องปฏิบัติการใดตรวจพบเชื้อไวรัสดื้อยาจะต้องส่งตัวอย่างเชื้อมาให้ห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์ และ รพ.ศิริราช ทดสอบทันที
 

“แต่กรณีผู้ป่วยที่ รพ.รามาฯ ที่ทดสอบพบเชื้อไวรัสดื้อยาโอเซลทามิเวียร์นั้น ได้ตรวจสอบดูตำแหน่งสารพันธุกรรมเท่านั้น คือกรดอะมิโนเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่ง 274 จริง แต่ไม่ได้ทำการตรวจคุณลักษณะของสารพันธุกรรมซ้ำ เพราะตัวอย่างเชื้อไวรัสหมด และจากการซักประวัติ ทราบว่า ผู้ป่วยรายนี้ไม่เคยได้รับยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียนมาก่อน ดังนั้น จึงถือว่าเป็นเพียงผู้ป่วยต้องสงสัยพบเชื้อไวรัสดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ตามธรรมชาติ โดยไม่ได้รับยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์มาก่อนเท่านั้น” ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าวและว่า คณะอนุกรรมการฯ ไม่จำเป็นต้องรายงานการพบเชื้อไวรัสดื้อยาดังกล่าวให้องค์การอนามัยโลกรับทราบ เพราะในที่ประชุมมีผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรมการฯ แล้ว และล่าสุด ผู้ป่วยรายดังกล่าวรักษาหายเป็นปกติ และไม่มีการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นอีก
 

ศ.นพ.ประเสริฐ แถลงอีกว่า เชื้อไวรัสดื้อยาเกิดได้ 2 ลักษณะ คือ

1.เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ทั้งที่ผู้ป่วยไม่เคยกินยามาก่อน ซึ่งกรณีนี้นักวิจัยก็ยังหาสาเหตุไม่ได้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งเมื่อปี 2551 ที่ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 ตัวเก่า เกิดการดื้อยาขึ้นเองตามธรรมชาติ ทั้งที่ไม่ได้กินยามาก่อน และ
2.เกิดจากผลกระทบจากการกินยา ซึ่งพบเห็นได้บ่อยในประเทศที่ใช้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์จำนวนมาก เฉพาะผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 พบการดื้อยาแล้ว 4 ราย ใน 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น 2 ราย แคนาดา เดนมาร์ก ประเทศละ 1 ราย
 

ศ.นพ.ประเสริฐ แถลงว่า ประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังเชื้อไวรัสดื้อยาโอเซลทามิเวียร์และเป็นไปอย่างเข้มงวด

คือห้องปฏิบัตรการของกรมวิทยาศาสตร์ฯ รพ.จุฬาฯ และ รพ.ศิริราช เช่น กรมวิทยาศาสตร์ มีการสุ่มเก็บตัวอย่างเชื้อไวรัสจากผู้ป่วย ผู้เสียชีวิต ทุกสัปดาห์ๆ ละ 10 ตัวอย่าง รวมเดือนละ 400 ตัวอย่าง และจากการตรวจสอบล่าสุด ทุกห้องปฏิบัติการยังไม่พบการดื้อยาโอเซลทามิเวียร์
 


ด้านนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ซึ่งดูแลห้องด้านห้องปฏิบัติตรวจหาเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ประสานกับ รพ.รามาฯ ในการส่งข้อมูลรายละเอียดของตัวอย่างเชื้อดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ รวมทั้งสั่งการให้ นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัด สธ.เสนอขอคำแนะนำจากคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุขด้วย เพื่อหาข้อสรุปว่า สธ.ควรดำเนินมาตรการอย่างไรต่อไป โดยขณะนี้ สธ.ตั้งเป้าที่จะต้องสำรองยาซานามิเวียร์ให้ครบ 1 แสนชุด กรณีเกิดการดื้อยาโอเซลทามิเวียร์
 

นายวิทยา กล่าวว่า ขอให้ฝ่ายการเมืองยุติการนำเรื่องการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ไปเป็นประเด็นทางการเมือง

เพราะอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดและยากต่อการแก้ไขปัญหานี้ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่มีปัญหา แต่คนทั่วโลกต่างมีโอกาสติดโรคนี้เท่ากันและยังไม่มีทางใดที่จะตัดวงจรการระบาดได้ แต่ถึงกระนั้น ไทยยังไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการควบคุมเข้มข้น หลังจากที่เม็กซิโกพบการระบาดรอบที่ 2 และใช้มาตรการควบคุมเข้มไปแล้ว
 

ขณะที่ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ได้เตรียมแผนรองรับการดื้อยา

โดยสำรองยาซานามิเวียร์ไว้ โดยในวันที่ 11 สิงหาคมนี้ เวลา 13.30 น.อภ.จะลงนามความร่วมมือกับบริษัท แกล็กโซสมิธไคลน์ (GlaxoSmithKline หรือ GSK) ผู้ผลิตยาซานามิเวียร์ แบบชนิดพ่น ในการเป็นตัวแทนจำหน่าย ซึ่งในช่วงวิกฤตบริษัทจะจำหน่ายยาในราคาพิเศษชุดละ 450 บาท จากราคาเดิมชุดละ 900 บาท ซึ่ง อภ.เตรียมจะสั่งซื้อยาซานามิเวียร์ จำนวน 3 หมื่นชุด แต่ต้องนำเข้าหารือในคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) ในวันที่ 14 สิงหาคมนี้ เพื่อพิจารณาอนุมัติการสั่งซื้อยา ทั้งนี้เบื้องต้นกรมควบคุมโรคได้สำรองยาซานามิเวียร์ 2 หมื่นชุด รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณจัดซื้ออีก 2 หมื่นชุด รวมแล้วไทยจะมียาซานามิเวียร์สำรอง 7 หมื่นชุด
 

นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม (ประธานบอร์ด อภ.) กล่าวว่า การลงนามในสัญญาความร่วมมือการเพิ่มการเข้าถึงยาซานามิเวียร์กับบริษัทยา

เพื่อเป็นการประกันการส่งยาขั้นต่ำว่าจะส่งให้ อภ.จำนวน 5 หมื่นชุด พร้อมมอบหมายให้ อภ. เป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว ในราคา 450 บาทต่อชุด
นอกจากนี้ นพ.วิชัย กล่าวว่า ได้รับอีเมลผลการทดลองวัคซีนในสัตว์จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ยืนยันมีความปลอดภัย เตรียมนำเสนอคณะกรรมการจริยธรรมทดลองวิจัยวัคซีนต่อไป ส่วนการรับอาสาสมัครทดลองวัคซีนชนิดฉีดพ่นเข้าทางจมูก มีผู้สมัครกว่า 400 คน โดยในการวิจัยต้องการอาสาสมัคร 422 คน คาดจะเริ่มทดลองในมนุษย์ได้ในวันที่ 6 กันยายนนี้ ทั้งนี้ อาสาสมัครต้องมีอายุระหว่าง 18-49 ปี ร่างกายแข็งแรง ต้องผ่านการตรวจร่างกาย ซักประวัติ ไม่มีประวัติป่วยด้วยโรครุนแรง และไม่เคยรับเลือดภายใน 3 เดือน ไม่เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 มาก่อน
 

ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัส วิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเทศไทยไม่ถือเป็นรายแรกที่พบเชื้อไวรัสดื้อยาตามธรรมาชาติ

เพราะก่อนหน้านี้มีรายงานที่ประเทศฮ่องกง 1 ราย มีเชื้อดื้อยาโอเซลทามิเวียร์โดยไม่มีประวัติการรับยาโอเซลทามิเวียร์มาก่อนหน้านี้ และจากการติดตามอาการผู้ป่วยพบว่าไม่มีรายใดที่แพร่เชื้อโรคดื้อยาไปสู่ผู้อื่น ส่วนการตรวจเชื้อดื้อยาทางห้องปฏิบัติการ จุฬาฯ 200 ราย  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 50 ราย และ รพ.ศิริราชก็ยังไม่พบการดื้อยาเช่นกัน
 

ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หลังจากนอนพักรักษาตัวที่ รพ.บำรุงราษฎร์ นานกว่า 6 วัน ล่าสุดแพทย์อนุญาตให้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านแล้ว


คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลสอบตกในเรื่องการจัดการโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และรู้สึกน้อยใจแทนประชาชนชาวไทยที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับโรคนี้น้อยกว่าโผโยกย้ายตำรวจ อย่างไรก็ตาม เสนอแนะว่ารัฐบาลควรจัดโซนนิ่งควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ตามพื้นที่ต่างๆ เนื่องจากเห็นว่าการระบาดรอบ 2 จะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์