ไทยรัฐ
วันนี้ (27 ส.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารพรรค ทีมงานด้านกรุงเทพมหานคร (กทม.) และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) อาทิ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค นายกรณ์ จาติกวณิช รองเลขาธิการพรรค รวมทั้งนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกันเปิดตัวนโยบายด้านขนส่งมวลชนในคอนเซ็ปต์ รถไฟฟ้าประชาธิปัตย์
ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ และคณะได้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส จากสถานีหมอชิต ไปยังสถานีพญาไท โดยขบวนรถไฟฟ้าที่โดยสารนั้น ได้ตกแต่งสกรีนนโยบายวาระประชาชนทั่วทั้งภายนอกและภายในรถไฟฟ้าทั้งขบวน ทำให้เป็นที่สนใจของประชาชนตลอดเส้นทาง จากนั้น คณะทั้งหมดได้เดินเท้าต่อจากสถานีรถไฟฟ้าพญาไท มาแถลงเปิดนโยบายที่ดีดาบาร์ ถ.ศรีอยุธยา
นายอภิสิทธิ์ แถลงว่า หลังจากมีนโยบายวาระประชาชนเฉพาะด้านออกมาแล้ว พรรคยังมีวาระประชาชนในมิติของพื้นที่ด้วย คือ นโยบายสำหรับคน กทม. และแยกตามภาคต่างๆ โดยในส่วนของ กทม. มีปัญหาสำคัญคือ ด้านการจราจร ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศ โดยปริมาณยานพาหนะที่กระจุกตัวอย่างแน่นหนาใน กทม. เฉพาะรถสี่ล้อมีประมาณ 2.5 ล้านคันต่อวัน ทำให้มีการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นทั้งเบนซิน ดีเซล ถึงร้อยละ 40-50 ประกอบกับมีปัญหาการจราจรติดขัด ทำให้ยิ่งสิ้นเปลืองพลังงาน ซึ่งพรรคได้รวบรวมข้อมูลนำมาปรับเป็นนโยบายขนส่งมวลชน ขอยืนยันไม่ใช่เรื่องโต้แย้งที่จะกลายเป็นประเด็นการเมือง หรือนำมาใช้เป็นประโยชน์ทางการเมือง หรือผลประโยชน์ธุรกิจเชิงพาณิชย์แอบแฝง
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า วาระประชาชนด้านขนส่งมวลชนของพรรคอยู่บนหลักคิดที่ต้องครอบคลุมทั่วพื้นที่เป็นโครงข่าย มีระบบหลัก ระบบรอง ที่จะป้อนผู้โดยสารเชื่อมโยงกันเป็นโครงข่าย เพื่อให้เข้าถึงระบบได้สะดวก ที่สำคัญค่าโดยสารต้องเป็นไปตามระยะทาง และเป็นอัตราที่คนส่วนใหญ่ยอมรับได้ ทั้งนี้ 4 ปีที่ผ่านมา ระบบขนส่งมวลชนยังไม่มีการพัฒนาเป็นรูปธรรม ที่ทำได้มีเพียงส่วนต่อขยาย 2.2 กิโลเมตร สะพานตากสิน-ฝั่งธนบุรี เท่านั้น โดยตลอดเวลา 5 ปี ของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่มีการดำเนินการด้านขนส่งมวลชนเลย มีเพียงช่วงใกล้เลือกตั้งเมื่อปี 2548 ได้โฆษณาโครงการรถไฟฟ้า 10 สาย ในโครงการเมกะโปรเจกต์ และมาถึงขณะนี้เหลือเพียง 3 สาย แต่วันนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ มีเพียงระบบขนส่งมวลชนที่เชื่อมไปยังสนามบินสุวรรณภูมิเท่านั้น ส่วนการขนส่งมวลชนทั้งระบบยังไม่มีความชัดเจน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งแรกที่จะดำเนินการทันทีตามนโยบายด้านขนส่งมวลชน คือ จัดเก็บค่าโดยสารอย่างเป็นธรรม ยกเลิกการจัดเก็บที่ซ้ำซ้อน และจะเก็บเพียงครั้งเดียว เพราะขณะนี้ผู้โดยสารต้องจ่ายค่าโดยสารสองต่อเมื่อเปลี่ยนจากโครงการหนึ่งไปอีกโครงการหนึ่ง เช่น จากรถไฟฟ้าบนดินไปขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดิน เท่ากับเสียค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน ส่วนเรื่องเร่งด่วนที่จะดำเนินการนั้น เป็นการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเส้นทางขนส่งมวลชน 7 สาย จำนวน 139 กิโลเมตร ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 265,150 ล้านบาท หรือคิดเป็นงบฯลงทุน 1,908 ล้านบาทต่อกิโลเมตร ซึ่งทั้ง 7 สาย มีรายละเอียดเงินลงทุน ระยะเวลาเริ่มต้นการก่อสร้างและเสร็จสิ้น รวมทั้งมีหน่วยงานใดรับผิดชอบชัดเจน