ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 15.45 น. วันที่ 7 สิงหาคม ที่ห้องพิจารณาคดี 13 ศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ศาลมีคำสั่งยกคำร้องคดีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยื่นคำขอไต่สวนฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองชั่วคราว ให้ศาลสั่ง ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ระงับการจ่ายเงินค่างวดที่ 6- 9 ตามสัญญาซื้อขายรถ-เรือดับเพลิง และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย มูลค่า 6,687 ล้านบาท ให้กับบริษัทสไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาย์ ซอย์ จำกัด ประเทศออสเตรีย คู่สัญญาซื้อขาย ซึ่งค่างวดที่ 6 จะต้องชำระในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ จำนวน 780 ล้านบาท รวมทั้งให้ระงับที่ ธนาคารกรุงไทยจะหักบัญชีเงินของกรุงเทพมหานคร โจทก์ ทุกบัญชีเพื่อชำระค่างวดสัญญา
ศาลทรัพย์สินฯ สั่ง"ยกคำร้อง" กทม.ขอคุ้มครองชั่วคราวระงับแบงก์กรุงไทย"จ่ายค่างวด"สไตเออร์ฯ งวดที่ 6-9 เหตุหลักฐานยังฟังไม่ได้ว่าฉ้อฉล ส่วนคดีอาญาทุจริตรถเรือ"ดับเพลิง"ยังไม่ยุติ ยันมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ได้ แต่ไม่ทันเวลาต้องจ่ายค่างวดวันที่ 10 ส.ค. กว่า 780 ล้าน
โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่โจทก์เป็นผู้ขอให้ธนาคารออก เลตเตอร์ ออฟ เครดิตนั้น โจทก์และธนาคารต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย และประเพณีปฏิบัติเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งธนาคารในฐานะผู้ออก เลตเตอร์ ออฟ เครดิต ให้จำเลยซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ย่อมต้องผูกพันกับจำเลยในอันที่จะชำระเงินด้วยเงื่อนไขในเลตเตอร์ ออฟ เครดิต เมื่อจำเลยได้ส่งสินค้าแก่โจทก์และยื่นเอกสารต่อธนาคาร ครบถ้วนตามเงื่อนไขที่ระบุในเลตเตอร์ ออฟ เครดิต ธนาคารจึงมีหน้าที่ในการตรวจสอบเอกสารให้ถูกต้องครบถ้วนตามเงื่อนไขในเลตเตอร์ ออฟ เครดิตเท่านั้น
เมื่อปรากฏว่า มีการเสนอเอกสารถูกต้องครบถ้วน ธนาคารมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามเลตเตอร์ ออฟเครดิตนั้น หากธนาคารไม่ชำระเงินโดยปราศจากเหตุผลมีน้ำหนักเป็นที่ยอมรับได้ ย่อมเกิดผลกระทบต่อภาพรวมและมีผลกระทบร้ายแรงต่อกิจการในการออกเลตเตอร์ ออฟ เครดิต ของธนาคารและลูกค้าของธนาคารที่ธนาคารออกเลตเตอร์ ออฟ เครดิตให้ เพื่อชำระเงินค่าสินค้าแก่ผู้ขายในต่างประเทศในภายภาคหน้า ซึ่งการที่ศาลจะมีคำสั่งระงับการจ่ายเงินตามเลตเตอร์ ออฟ เครดิตดังกล่าว จึงต้องพิจารณาระมัดระวังอย่างยิ่ง
ส่วนที่โจทก์นำสืบว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า จำเลยกระทำการอันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่เจ้าพนักงานกระทำผิด จำเลยจึงมีความผิดในฐานะเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมาย อาญา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ. 2542 การลงนามในข้อตกลงซื้อขายรถดับเพลิง และอุปกรณ์ จึงไม่ถูกต้องสมบูรณ์ มีการกระทำโดยไม่สุจริตอันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ เห็นว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเพียงมูลเหตุที่ทำให้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ และยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว แต่ยังไม่ถือว่าข้อเท็จจริงมีความชัดเจนเพียงพอ หรือถือว่าเป็นที่สิ้นสุด ทั้งโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าเป็นการฉ้อฉล เกี่ยวกับระบบการออกการปฏิบัติตามเงื่อนไขในเลตเตอร์ ออฟ เครดิตและการชำระเงินอย่างไร
พยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบในชั้นไต่สวน จึงยังไม่เพียงพอที่จะให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินในงวดที่ 6-9 ตามเลตเตอร์ ออฟ เครดิต และห้ามไม่ให้ธนาคารหักเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ทุกบัญชีที่เปิดไว้กับธนาคารดังกล่าวตามที่โจทก์ร้องขอ หากข้อเท็จจริงในที่สุดจะได้ความว่า จำเลยได้ฉ้อฉลโจทก์และข้อตกลงไม่ถูกต้องสมบูรณ์ ก็เป็นเรื่องที่โจทก์สามารถใช้สิทธิเรียกร้อง เพื่อเรียกเงินค่าสินค้าที่มีการชำระแล้วคืน และอาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้อีกตามกระบวนการของกฎหมาย จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝ่าย กทม. มีนายนิคม บุญพิทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นตัวแทนและคณะทำงาน รวมทั้งอัยการ มาฟังคำสั่ง ขณะที่ฝ่ายบริษัทสไตเออร์ฯ มีนายชนะ ตาดทอง ผู้ช่วยทนายความ มาร่วมฟังคำสั่งด้วย โดยนายนิคม กล่าวว่า ตามกฎหมายยังสามรถใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องเป็นการตัดสินใจของผู้บริหาร กทม. ซึ่งมีอำนาจจะพิจารณา ด้านอัยการ ซึ่งรับมอบอำนาจจาก กทม. ยื่นฟ้องคดี กล่าวว่า ตามกฎหมาย กทม.ยังมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ แต่เนื่องจากค่างวดที่ 6 จะต้องชำระตามกำหนดวันที่ 10 สิงหาคม นี้ ดังนั้น การอุทธรณ์จึงอาจไม่ทันเวลา เพราะหากยื่นอุทธรณ์ ต้องใช้เวลาพอสมควรในการพิจารณาและมีคำสั่ง ส่วน กทม.จะให้ยื่นอุทธรณ์คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวระงับการจ่ายค่างวดที่ 7-9 อีกหรือไม่ ต้องสอบถามจาก กทม.
ด้านนายชนะ ผู้ช่วยทนายความ บริษัทสไตเออร์ฯ กล่าวว่า จะรายงานให้ทนายความผู้รับผิดชอบทราบ และรอดำเนินการต่อไปตามขั้นตอนการพิจารณาคดีที่ กทม.ฟ้องเรียกเงินคืนจากบริษัทสไตเออร์ฯ และให้สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะโดยคดีที่ฟ้องดังกล่าวบริษัทสไตเออร์ฯ ยังไม่ได้รับสำเนาคำฟ้อง หากได้รับคำฟ้องแล้วจะทำคำให้การยื่นศาลต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ศาลจะมีคำสั่งยกคำขอคุ้มครองชั่วคราว แต่ในทางคดีที่ กทม.ยื่นฟ้องเรียกเงินค่างวดที่ชำระบริษัทสไตเออร์ฯไปแล้วจำนวน 3,905 ล้านบาทเศษ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนั้น คดียังคงดำเนินต่อไปซึ่งศาลทรัพย์สินฯรับคดีไว้พิจารณาและนัดพร้อมคู่ความในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 09.00 น.
ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขอดูคำวินิจฉัยของศาลก่อนว่าเหตุใดศาลจึงไม่คุ้มครองชั่วคราว แต่ยอมรับว่ารู้สึกเสียใจ และต้องปล่อยให้ตัดบัญชีในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะไม่ยอมแพ้ จะพยายามยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในการระงับการจ่ายเงินรถดับเพลิงในงวดต่อไป
ด้าน พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าฯกทม. ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการจัดซื้อรถ เรือดับเพลิงและอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของ กทม. กล่าวว่า พร้อมรับในคำตัดสินของศาล แต่มีช่องทางที่จะเดินหน้าฟ้องสัญญาเป็นโมฆะต่อไปได้ เชื่อว่าในอนาคตจะมีผู้ส่งหลักฐานชิ้นสำคัญมาให้ กทม.ในการต่อสู้คดี ซึ่งเบื้องต้นเป็นหลักฐานเกี่ยวกับการโอนเงินสินบนว่าได้โอนให้กับใครไปแล้วบ้าง
นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะกำกับดูแลงานด้านการคลัง กล่าวว่า ได้ทำจดหมายถึงผู้บริหารธนาคารกรุงไทยฯเพื่อระงับการจ่ายเงินรถดับเพลิง งวดที่ 6 การทำจดหมายครั้งนี้ถือว่าเป็นไปตามขั้นตอนเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเรียกเงินคืนภายหลัง กรณีที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าโครงการจัดซื้อรถดับเพลิงมีการทุจริต
ศาลยกคำร้องกทม.ขอระงับจ่ายค่างวดสไตเออร์ฯ อัยการยันอุทธรณ์ต่อได้ แต่ไม่ทันรอบ 10 ส.ค. 780 ล้าน
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง ศาลยกคำร้องกทม.ขอระงับจ่ายค่างวดสไตเออร์ฯ อัยการยันอุทธรณ์ต่อได้ แต่ไม่ทันรอบ 10 ส.ค. 780 ล้าน