ค่าเงินบาทแข็งต่อเนื่อง กรณ์มองด้านดีลดภาระนำเข้าน้ำมัน

"ค่าเงินบาท"ยังคงแข็งต่อเนื่อง "กรณ์"มองด้านดี ช่วยลดภาระการนำเข้าน้ำมันช่วงราคาตลาดโลกอยู่ในระดับสูง ผู้บริหารทีมเศรษฐกิจโลกสายนโยบายการเงิน ธปท.ฝันใช้อุปสงค์ภายในปท.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แทนการพึ่งพาภาคการส่งออก

ภายหลังนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาระบุ

ธปท.จะผ่อนคลายกฎเกณฑ์เงื่อนไขการอนุญาตออกไปลงทุนในต่างประเทศ หรือระเบียบควบคุมเงินทุนขาออก เพื่อลดแรงกดดันเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น การส่งสัญญาณดังกล่าวไม่ส่งผลต่อค่าเงินบาทแต่อย่างใด โดยการซื้อขายวันที่ 4 สิงหาคมยังคงแข็งค่า ทั้งนี้ นักค้าเงินจากธนาคารพาณิชย์เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 33.98-33.99 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 33.97-33.98 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากวันก่อนที่ปิดตลาดที่ 34.00-34.04 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ตามค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงจากตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ดีเกินคาด ดังนั้น มาตรการหนุนให้นำเงินทุนออกไปลงทุนในต่างประเทศของ ธปท.ยังไม่มีผลต่อตลาด เนื่องจากนักลงทุนยังมองว่าเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น  หากสามารถสร้างความชัดเจนในเรื่องนโยบายมากขึ้นกว่านี้มาตรการดังกล่าวจะมีผลช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้


นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้ว่า ยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก

แต่อีกแง่หนึ่งถือว่าเป็นการช่วยลดภาระการนำเข้าน้ำมันในช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับสูงขึ้นมาก จึงยังไม่ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชนมากนัก ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับขึ้น อย่างไรก็ตาม เรื่องการดูแลค่าเงินบาท เป็นหน้าที่ของ ธปท.


ขณะที่นายชัยพัฒน์ พูนพัฒน์พิบูลย์ ผู้บริหารทีม ทีมเศรษฐกิจโลกสายนโยบายการเงิน ธปท. เปิดเผยถึงการศึกษาแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย : การส่งออกและทางเลือกว่า

เบื้องต้นได้ศึกษาความเป็นไปได้ที่จะลดบทบาทภาคส่งออก โดยให้อุปสงค์ภายในประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของไทยในระยะกลางและระยะยาว ทั้งนี้ ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งประเทศเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และยูเครน ทำสำเร็จมาแล้ว แต่ประเทศที่มีโครงสร้างของประเทศใกล้เคียงกับไทยยังไม่มีประเทศใดทำได้สำเร็จต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม คงต้องพิจารณาข้อจำกัดของไทย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องภาระหนี้สาธารณะที่มีผลต่อการลงทุนภาครัฐ ในขณะที่การลงทุนจากเอกชนยังชะลอตัว


"2-3 ปีที่ผ่านมา ปัจจัยการเมืองส่งผลให้อุปสงค์ภายในประเทศไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร คาดว่าในระยะต่อไปอุปสงค์ในประเทศน่าจะเป็นตัวสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ แต่จะให้ดีมานด์มีมากเหมือนก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 คงเป็นไปได้ยาก โดยในระยะกลางประเมินว่าอุปสงค์ในประเทศยังมีความสัมพันธ์กับการส่งออก โดยการนำเข้าส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ามาผลิตสินค้าเพื่อส่งออก จึงอาจจะยังไม่สามารถสรุปได้ว่า ไทยจะสามารถพึ่งพาอุปสงค์ในประเทศเป็นหลักของเศรษฐกิจแทนการส่งออกได้ระยะสั้น-ระยะกลาง เพราะไทยมีข้อจำกัดในเรื่องของขนาดประชากรในประเทศ รายได้ต่อหัวของประชากร และที่ผ่านมาปัจจัยในประเทศของไทยไม่เอื้อให้อุปสงค์ในประเทศมีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากนัก โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอลงเพราะได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองในประเทศ" นายชัยพัฒน์กล่าว


นายชัยพัฒน์ กล่าวว่า ในระยะต่อไปมองว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐยังเป็นช่องทางที่จะทำให้อุปสงค์ในประเทศขึ้นมามีบทบาทมากขึ้น

โดยต้องศึกษาด้วยว่าจะทำอย่างไรให้การส่งออกและอุปสงค์ในประเทศเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวอย่างยังยืน นายชัยพัฒน์กล่าวด้วยว่า จะระบุรายละเอียดถึงแนวทางและความเป็นไปได้ของประเด็นดังกล่าวที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2552 ของ ธปท. ในหัวข้อ รับมือวิกฤตเศรษฐกิจโลก มองอนาคตเศรษฐกิจไทย ในวันที่ 15-16 กันยายนนี้ เพื่อเสนอแนวคิดที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของประเทศในระยะต่อไป


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์