พท.แฉโครงการพอเพียงเปิดคลิปภาพ-เสียง เด็กปชป.พูดชักจูกให้เลือก โชว์สำเนาบัญชีแบงก์โอนเงินก่อนอนุมัติ

พท.แฉโครงการพอเพียง เปิดคลิปภาพ-เสียง "คนปชป." เจรจาโน้มน้าวใจชุมชนเลือก โชว์สำเนาบัญชีธนาคาร ระบุโอนเงินให้ก่อนอนุมัติงาน ผอ.สพช.สั่งชะลองานในตจว. กทม.ระงับ 100 โครงการ

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ทำการพรรคเพื่อไทย คณะกรรมการประสานงานภาค กทม. พรรคเพื่อไทย นำโดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย และนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการทุจริตโครงการชุมชนพอเพียง โดย น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า จากการที่มีข่าวในหนังสือพิมพ์ "มติชน" ว่าสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) บางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ผลักดันให้ชุมชนในเขตบางกะปิ ขอโครงการระบุแบบฟอร์มที่สำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (สพช.) ส่งมามีให้เลือกแค่ตู้น้ำกับเครื่องผลิตปุ๋ยนั้น แต่ภายหลังนายพงษ์ศักดิ์ วุฒิวัย ส.ข.บางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาโต้แย้งในหนังสือพิมพ์ "มติชน"ในวันต่อมาลักษณะว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำเช่นนั้น แต่พรรคเพื่อไทยมีหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอที่มีทั้งภาพและเสียงในการประชุมร่วมกันระหว่างประธานชุมชนในเขตบางกะปิ (บางส่วน) กับ พล.อ.ชัชวาล ทัตตานนท์ รองผู้อำนวยการ สพช. ที่สำนักงานชุมชนสามัคคีพัฒนา เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2552 มีนายพงษศักดิ์ร่วมประชุมด้วย และกล่าวในที่ประชุมในทำนองสนับสนุนชุมชนให้เลือกโครงการพลังงานทดแทน และจะผลักดันให้อีก 27 ชุมชนเสนอโครงการเช่นกัน

จากนั้น น.อ.อนุดิษฐ์ได้มอบคลิปภาพและเสียงให้สื่อมวลชนที่นั่งฟังแถลงข่าว ก่อนจะกล่าวถึงสิ่งผิดปกติในการอนุมัติงบประมาณโครงการชุมชนพอเพียงอีกว่า พบการโอนเงิน 500,000 บาท ก่อนหน้าโครงการได้รับการอนุมัติ 4 วัน ซึ่งเป็นเรื่องแปลกและมหัศจรรย์มาก ขอตั้งข้อสังเกตว่า การโอนเงินหรือจ่ายเงินงบฯก่อนที่โครงการจะได้รับการอนุมัตินั้นเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เพราะขัดต่อระเบียบอย่างแน่นอน เหตุการณ์ในลักษณะนี้ได้เกิดขึ้นมาหลายชุมชน เรื่องนี้มีเจ้าหน้าธนาคารบางคนร่วมมือด้วย จึงเป็นสิ่งที่น่าสังเกตว่าทุกอย่างนั้นได้จัดวาง หรือเรียกว่า "Set up" ไว้เป็นอย่างดี โดยเงินงบฯไม่ได้ผ่านมือของชาวบ้านเลย แค่เข้าบัญชีแล้วก็ออกไปเข้ากระเป๋าพ่อค้าบางคนทันที

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยจะกำหนดเป็นนโยบายเกาะติดทุกโครงการชุมชนพอเพียง และจะนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อซักฟอกรัฐบาลให้ชี้แจงเพื่อนำคนผิดมาลงโทษให้ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายการุณยังได้แสดงสำเนาสมุดบัญชีธนาคารออมสินของชุมชนสามัคคีพัฒนา เขตบางกะปิ ยืนยันว่ามีเงินเข้าจำนวน 500,000 บาท ในวันที่ 30 เมษายน 2552 และมีการถอนออกจากบัญชีในวันเดียวกันจำนวน 500,000 บาท แต่ที่น่าสนใจคือ ใบอนุมัติโครงการลงวันที่ 4 พฤษภาคม ทั้งที่มีเงินเข้าตั้งแต่วันที่ 30 เมษายนแล้ว แสดงว่ามีการโอนเงินก่อนอนุมัติโครงการ

แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยยังตั้งข้อสังเกตถึงความสัมพันธ์ระหว่างนายสุมิท แช่มประสิทธิ์ ผู้อำนวยการ สพช. กับบริษัท บีเอ็นบี อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ผู้จัดจำหน่ายตู้น้ำหยอดเหรียญจำนวนมากให้ชุมชนใน กทม.ว่า ราวกลางปี 2549 คณะกรรมการบริหารบริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือไออีซี ซึ่งมีนายสุมิท แช่มประสิทธิ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนบริษัท มีมติเข้าไปซื้อหุ้นบีเอ็นบีฯ (ขณะยังไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์) จำนวน 2.50 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 23.81% ของทุนจดทะเบียน รวมทั้งสิ้น 105 ล้านบาท ต่อมาปลายปี 2551 นายสุมิทลาออกจากตำแหน่งในไออีซี จากนั้นไม่นานจึงมารับตำแหน่งผู้อำนวยการ สพช.

ทางด้านนายสุมิทชี้แจงว่า ในช่วงเป็นผู้บริหารไออีซีได้ซื้อหุ้นจากบริษัทบีเอ็นบีจริง เพราะไออีซีมีแผนขยายธุรกิจ 2 ด้าน คือ 1.พลังงานทดแทน 2.ไอที เมื่อ 2 ปีที่แล้ว และได้ลาออกจากตำแหน่งในปี 2550 ช่วงที่ลาออกก็ได้ขายหุ้นของตัวเองไปหมดแล้วด้วย และไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับไออีซีอีก คนในครอบครัวก็ไม่ได้เกี่ยวข้อง เพราะถือหุ้นไออีซีเพียงคนเดียวเท่านั้น เท่าที่ทราบหลังจากที่ลาออกมาแล้ว ไออีซีก็มีขายหุ้นของบริษัทเหล่านี้ออกไปหมดแล้ว

"เรื่องนี้ไม่น่าจะมาโยงอะไรกับผมได้ เพราะการซื้อขายหุ้นดังกล่าวเกิดขึ้นมานานกว่า 2 ปีแล้ว หลังจากลาออกผมก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับไออีซีอีก คนในครอบครัวก็ไม่ได้เกี่ยวข้อง เพราะผมถือหุ้นไออีซีเพียงคนเดียวเท่านั้น"

ผู้สื่อข่าวถามว่า ส่วนตัวรู้จักกับบริษัทบีเอ็นบีหรือไม่ นายสุมิทกล่าวว่า "ในบรรดาบริษัทเอกชนที่เข้ามาจำหน่ายสินค้าในโครงการชุมชนพอเพียง เท่าที่ทราบมีมากกว่า 1,000 แห่ง ผมยอมรับว่าในจำนวนนี้ มีมากกว่า 50 บริษัทที่ผมรู้จัก แต่การรู้จักไม่ได้หมายความว่าจะเอื้อประโยชน์ให้ใครได้ เพราะหน้าที่ของ สพช.จะดูเพียงแค่ว่า โครงการที่ชุมชนเสนอมาเข้าหลักเกณฑ์ที่อนุมัติได้หรือไม่ ส่วนชุมชนไหนจะซื้อสินค้าจากใคร เราไม่ทราบ"นายสุมิทกล่าว

นายสุมิทกล่าวต่อไปว่า สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในโครงการชุมชนพอเพียง ในส่วนของ กทม. ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีปัญหาอยู่ในขณะนี้ เบื้องต้นทางสำนักงานได้สั่งระงับการอนุมัติโครงการที่เหลืออยู่จำนวนกว่า 100 โครงการ จากโครงการที่เสนอมาทั้งหมด 200 โครงการ จากจำนวนชุมชนทั้งหมด 1,900 แห่ง เพื่อเข้าไปตรวจสอบว่ามีรายละเอียดเป็นอย่างไรด้วย นอกเหนือจากชุมชนในเขต กทม.แล้ว ในส่วนของชุมชนต่างจังหวัดก็จะชะลอการอนุมัติโครงการเพื่อเข้าไปตรวจสอบข้อมูลเช่นกัน เนื่องจากพบว่ามีหลายโครงการที่ชุมชนในต่างจังหวัดเสนอเข้ามา แต่เอกสารที่จัดทำกลับมีความเหมือนกันแบบผิดสังเกต

นอกจากนี้ นายสุมิทยังได้ติดต่อ "มติชน" ขอรูปถ่ายของกลุ่มบุคคลที่เข้าไปชี้นำให้ชุมชนใน กทม.ซื้อสินค้าพลังงานแสงอาทิตย์ในโครงการชุมชนพอเพียงเพื่อนำไปตรวจสอบว่าเป็นคนของ สพช.หรือไม่ หากพบว่าใช่จะลงโทษทันทีไม่เอาไว้ อย่างไรก็ตาม ได้สอบถามเจ้าหน้าที่ สพช. 2-3 คนที่เคยได้รับการติดต่อจากเขตให้ไปแนะนำโครงการกับชุมชน ได้รับคำยืนยันว่าไม่เคยเข้าไปชี้นำแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าว "มติชน" รายงานจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า กกต.ได้รายงานรายชื่อผู้บริจาคเงินให้พรรคการเมืองประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ มียอดบริจาคทั้งสิ้น 9,345,100 บาท โดยมีบริษัท คาร์เทล เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายตู้น้ำหยอดเหรียญพลังงานแสงอาทิตย์ตามโครงการเศรษฐกิจพอเพียงให้ชุมชนต่างๆ ใน กทม. ปรากฏอยู่ในลำดับที่ 156 จำนวนเงินบริจาค 500,000 บาท จากนั้นไม่กี่สัปดาห์ บริษัทได้เข้าไปขายสินค้าด้านพลังงานทดแทนจำนวนมากให้ชุมชนใน กทม.และปริมณฑล หลังจาก สพช.โอนเงินให้ชุมชนรอบแรกในวันที่ 26 มีนาคม 2552

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์