คมชัดลึก : ป.ป.ช.สรุปผลงาน ชี้ตั้งแต่เข้ารับหน้าที่ สางคดีได้กว่า 1.29 หมื่นคดี เหลือคดีค้าง 6,400 ชี้แจงความคืบหน้าคดีทุจริตสมัยรัฐบาล"ทักษิณ"พร้อมอนุมัติเผยแพร่การอายัดเงิน 7หมื่นล้านบาทเศษ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สาธารณชนทราบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีร้องขอ
(31ก.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายกล้า นรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษก ป.ป.ช. แถลงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.สรุปผลงานจากการเข้ารับหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค. 49 ถึง 30 มิ.ย. 52 ที่ได้ดำเนินการกรณีกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กระทำความผิดต่อหน้าที่ในการยุติธรรม และกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2552 และกรณีร่ำรวยผิดปกติ โดยในปีงบประมาณ 2550 จากทั้งหมด 11,578 คดี ดำเนินการไปได้ 8,756 คดี ปี 2551 จากทั้งหมด 5,651 คดี ดำเนินการไปได้ 3,089 คดี และปี 2552 จากทั้งหมด 5,591 คดี ดำเนินการไปได้ 1,207 คดี ดังนั้นคงเหลือคดีค้างการพิจารณาอีก 6,400 คดี
โฆษก ป.ป.ช. กล่าวว่า สำหรับเรื่องที่ดำเนินการแล้วเสร็จ โดยทางคณะกรรมการป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูลความผิดทางวินัย ทางอาญา และร่ำรวยผิดปกติ จำนวน 182 เรื่อง โดยแบ่งเป็นผิดวินัย 18 เรื่อง ผิดอาญา 68 เรื่อง ผิดวินัยและอาญา 95 เรื่อง ร่ำรวยผิดปกติอีก 1 เรื่อง
นายกล้านรงค์ แถลงข่าวด้วยว่า จากการที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีหนังสือลงวันที่ 25 พ.ค. 52 แจ้งว่า ประธานรัฐสภาส่งหนังสือเรียนนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือมติที่ประชุมสมาชิกรัฐสภา วันที่ 27 เม.ย. 52 เรื่องขอให้ข้อมูลแก่ประชาชนเกี่ยวกับการอายัดเงินจำนวน 7 หมื่นล้านบาทเศษ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และความคืบหน้าของคดีความต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการของป.ป.ช. ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา จึงมีมติ ให้รายงานข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณชนทราบ
นายกล้านรงค์ กล่าวว่า 1. ในส่วนคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.รับมอบมาจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) คือ ในส่วนการอายัดเงิน จำนวน 7 หมื่นล้านบาทเศษของพ.ต.ท.ทักษิณ จากการกระทำที่เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของตนเอง และพวกพ้องทำให้มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมา หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งหลังจากที่ คตส. ได้ดำเนินการไต่สวนเสร็จจึงได้มีมติส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินจำนวนดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 80 และได้ส่งรายละเอียดรายการทรัพย์สินที่คตส.ได้มีคำสั่งอายัดไว้ไปให้อัยการสูงสุดเพื่อยื่นต่อศาลด้วย ซึ่งศาลได้รับฟ้องไว้พิจารณา และตรวจสอบพยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้ว โดยนัดสืบพยานตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมาเป็นต้นไป โดยจะสืบพยานของฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านก่อน ดังนั้นคดีดังกล่าวจึงอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
นายกล้านรงค์ กล่าวอีกว่า ส่วนคดีที่กล่าวหาพ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร กรณีซื้อที่ดินของบกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินโดยมิชอบ(คดีที่ดินรัชดา) นั้น เรื่องนี้ศาลได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 ( 1 ) วรรคสาม และ มาตรา 122 วรรคหนึ่งให้ลงโทษจำคุก 2 ปี ส่วนความผิดฐานอื่นนั้น ให้ยกไปรวมถึงยกฟ้องคุณหญิงพจมานด้วย แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้หลบหนีศาลจึงได้ออกหมายจับและขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามตัวให้มารับโทษ
นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ส่วนคดีที่กล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ กับพวกรวม 47 คน กระทำความผิดเกี่ยวกับโครงการออกสลากพิเศษ แบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งคดีนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะจำเลยที่ 1 ไม่มาศาล ศาลจึงสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวและออกหมายจับเฉพาะ พ.ต.ท.ทักษิณ ส่วนจำเลยที่เหลือจำนวน 46 คนที่มาศาล ก็ได้มีการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีและขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล สำหรับคดีที่กล่าวหาพ.ต.ท.ทักษิณทุจริตการอนุมัติให้เงินกู้แก่รัฐบาลสหภาพพม่าจำนวน 4 พันล้านบาท เนื่องจากพ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มาศาล ๆ จึงสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวและออกหมายจับแล้ว
นายกล้านรงค์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับคดีที่กล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐและปฏิบัติหน้าที่เอื้อประโยชน์แก่บริษัทที่ตนถือหุ้นโดยแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ศาลได้สั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวเนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณไม่มาศาลและได้มีการออกหมายจับแล้วเช่นกัน
นายกล้านรงค์ กล่าวว่า 2. ในส่วนคดีที่กล่าวหา ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.และอยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. 9 เรื่องคือ การกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา สนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เพื่อประโยชน์ในการทำธุรกิจของตนเองในประเทศกัมพูชานั้น ขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการสรุปสำนวนเพื่อวินิจฉัยชี้มูลต่อไป
ส่วนเรื่องกล่าวหาพ.ต.ท.ทักษิณ ทุจริตต่อหน้าที่โดยกำหนดนโยบายอนุมัติมอบหมายการจัดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์รัฐบาลแก่เอกชนจากโครงการพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง มูลค่า 3 หมื่นล้านบาทในลักษณะการเอื้อประโยชน์แก่เอกชน และเป็นการผูกขาดตัดตอนเพียงรายเดียว เพื่อรองรับเงินของตนเองและพวกพ้อง โดยเฉพาะเงินที่ได้จากการขายธุรกิจสัมปทานแก่ต่างชาติและร่ำรวยผิดปกติ คดีนี้ คณะกรรมการป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว พบว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูลจึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป
นายกล้านรงค์ ยังกล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ กับพวกทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการประมูลงานจ้างเหมา บริการรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยวิธีพิเศษ คณะกรรมการป.ป.ช. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง ส่วนเรื่องกล่าหา พ.ต.ท.ทักษิณ กับพวกกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ กรณีการบอกเลิกสัญญาจ้างงานก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 115 ฯ ขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วเช่นกัน และอยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะอนุกรรมการ